ทีโอที-CAT ปี 2561 พัฒนาบริการ-ปั้น New S-curve

สัมภาษณ์

 

มนต์ชัย หนูสง

ผลประกอบการ 11 เดือน ปี 2560 บมจ.ทีโอที มีรายได้ 32,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 2,000 ล้านบาท รายจ่าย 26,000 ล้านบาท แม้จะมีกำไรขั้นต้น 8,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าเสื่อม หักภาระภาษีสรรพสามิต 2,500 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายตามคำสั่งศาลก็น่าจะขาดทุนไม่น้อย แต่ “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เชื่อมั่นว่าปี 2561 จะมีกำไร 2,000 ล้านบาท อะไรทำให้เขาเชื่อมั่นเช่นนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” มีคำตอบ

Q : ทำไมมั่นใจว่าจะกำไร

เพราะจะมีรายได้จากพันธมิตรเข้ามาเสริม ทั้ง 2300 MHz กับดีแทค และ 2100 MHz กับเอไอเอส เป็นเป้าหมายบนพื้นฐานที่จะได้เซ็นสัญญาตั้งแต่ต้นปี ก็ต้องรอดูกันว่าจะทันหรือไม่ เราจะห่อเหี่ยวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องตั้งความหวัง ปี 2560 น่าจะขาดทุนน้อยกว่าปีก่อน ที่ขาดทุนราว 6,000 ล้านบาท รายได้ปี 2561 จะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท อีบิตด้าแตะ 10,000 ล้านกำไรสุทธิ 2,000 ล้าน หวังว่าจะเป็นรายได้จากพันธมิตรคลื่น 2300 MHz เกือบ 9,000 ล้านหักเบ็ดเสร็จรายได้รายจ่ายเหลือ 4,000 กว่าล้าน ส่วน 2100 MHz กว่า 10,000 ล้านบาท เป็นรายได้ทีโอทีเอง

Q : ขาดทุนลดลง

เราประหยัดค่าใช้จ่าย ควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ทั้งเรื่องโครงข่ายและวงจรต่างประเทศที่หาได้ในราคาที่ต่ำลง ค่าเช่ารถ ภายใต้แผนเทิร์นอะราวนด์ที่วางไว้ ปีཹจะประหยัดได้อีก 5-10% เน้นทั้งการหารายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่าย โดยมองไปที่รายได้เพิ่มที่จะเสริมบนบรอดแบนด์ที่มี อาทิ ซีซีทีวีออนคลาวด์ ซีเคียวริตี้ (100 ล้านบาท) ที่จะเปิดตัวบริการท่อร้อยสายใต้ดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพย์สิน ลูกค้าบรอดแบนด์ มี 1.3 ล้านราย เพิ่มจากปีก่อน 5-6 หมื่นราย ปีཹ คาดหวังที่ 1.5 ล้านราย รายได้ขยับจาก 9,000 ล้านบาท เป็นหมื่นกว่าล้าน โต 7% ส่วนลูกค้าโมบายน้อยมาก ถ้าทำสัญญาพันธมิตรได้ จะเพิ่มเป็นล้านรายเฉพาะในส่วนที่ทีโอทีทำเอง จากเดิมมี 1 แสนราย สร้างรายได้ราว 700 ล้านบาท

บรอดแบนด์เห็นดีมานด์ลูกค้า แต่ยังขยายโครงข่ายไม่ทัน และลูกค้าไหลออกเยอะมากจึงต้องเข้มงวดเรื่องคุณภาพเพิ่มขึ้น และสร้างโครงข่ายใหม่ทดแทนสายที่เก่าแล้ว ปีཹ จะลงทุน 3-5 พันล้านบาท

Q : เน็ตประชารัฐติดตั้งเสร็จแล้ว

ครบแล้ว 24,700 หมู่บ้าน เมื่อ 19 ธ.ค. 2560 ส่วนรายได้ในอนาคตทีโอทีจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงข่ายได้แค่ไหน ต้องรอการประกาศราคาค่าบริการจากกระทรวงก่อน

Q : คืบหน้าตั้งบริษัทลูก

NBN co เริ่มทำงานแล้ว เป็นส่วนของงานบำรุงรักษาให้ทีโอที จะเริ่มรับรู้รายได้ ม.ค. 2561 จากการซ่อมบำรุงที่ทำให้ทีโอที พนักงานโอนย้ายไป 60-70 คน จากตามแผนธุรกิจ 1,200 คน มีทั้งคนแคท คนทีโอที และคนนอก

Q : ปัญหาอุปสรรค

สัญญาพันธมิตรที่ล่าช้า ถ้าแก้ตรงนี้ได้ ปัญหาหลักจะไปอยู่ที่การทำให้บริการของเราควบคุมหรือจัดการต้นทุนให้ดี และทำให้ทำงานได้ทันกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจำเป็นต้องมีเซอร์วิสโค แยกเป็นบริษัทลูกเพื่อไปสู้กับตลาดที่แข็งแรงให้คล่องตัวขึ้น ต้องเจาะตลาดองค์กร เป็นไฟติ้งแบรนด์ ซึ่งจะมีเอกชนเข้ามาถือหุ้นร่วม คณะทำงานน่าจะสรุปสเป็กเสร็จในไตรมาส 1 เพราะเป็นส่วนหนึ่งของมติ ครม.ที่ให้ตั้ง NBN และ NGDC

Q : แยกบริษัทลูกให้เอกชนมาบริหารร่วมจะมีปัญหาขายสมบัติชาติ

เซอร์วิสโค ไม่ได้มีทรัพย์สินเยอะ แค่เป็นออปติกปลายทางสำหรับลากไปให้บริการลูกค้า ขณะที่การสร้างโครงข่ายต่าง ๆ ของทีโอที ไม่เหมือนกรณี ปตท.ที่มาจากการใช้อำนาจรัฐเวนคืนที่ หรือรอนสิทธิ์ประชาชน แต่โครงข่ายไม่ได้รอนสิทธิ์ใคร และใช้เงินทีโอทีสร้าง

Q : พนักงานมีเยอะมาก

อายุเฉลี่ยพนักงานราว 46-47 ปี คนทีโอทีอีกสิบปีจะหายไป 50% แต่ก็จะมีการใช้แรงจูงใจอื่น เพียงแต่จะไม่ใช่เออร์ลี่เหมือนเดิมที่หว่านไปหมด มองเป็นกลุ่มคนมากขึ้น เพราะเมื่อทรัพย์สินถูกโอน ก็ต้องหาภาระงานใหม่ให้

Q : เป้าหมายปี 2561

เป็นปีที่ต้องดูแลคุณภาพบริการและการปรับโครงสร้างต้นทุน ลูกค้าหนีเยอะด้วยเหตุนี้ เชื่อว่ายังไงฟื้นแน่ แต่ถ้าสัญญาพันธมิตรไม่ได้ตามแผนก็เหนื่อย

Q : ทางเลือกสำรอง

ก็ต้องหามุมอื่นในการใช้คลื่น 2300 ที่ทำได้แน่ คือ ฟิกซ์ไวร์เลสบรอดแบนด์ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันก็ลงเฉพาะจุดที่ลูกค้าต้องการ ลดภาระบำรุงรักษาและเก็บลูกค้าเข้าพอร์ตได้มากขึ้น ความเสี่ยงน้อยกว่าแต่รายได้ก็น้อยกว่า

Q : บริษัทลูกช่วยทีโอทีรอดได้จริง

NBN co ตามมติ ครม. ไม่แก้ปัญหาเรื่องรัฐวิสาหกิจ แต่จะช่วยในการดูแล อาทิ เน็ตประชารัฐ บทบาท NBN คือกระจายบรอดแบนด์ ตามนโยบายรัฐบาลได้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการลดความซ้ำซ้อน ทีโอที-แคท รวมเน็ตเวิร์ก 2 ที่แล้วน่าจะครอบคลุมสัก 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์

10 เดือนแรกของปี 2560 บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) มีรายได้ 41,194 ล้านบาท รายจ่าย 41,218 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 24 ล้านบาท แถมมีภาระภาษีตามคำสั่งศาลอีก 2,378 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนกว่า 2,400 ล้านบาท ปีใหม่นี้ซีอีโอ “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” จะพาองค์กรไปต่ออย่างไร

Q : ปี 2561

ตั้งเป้ากำไรไว้หมื่นล้านบาท จากการแก้ปัญหาเก่า สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินที่มี ก้อนใหญ่สุดมาจากธุรกิจโมบาย 25,000 ล้านบาทอย่างต่ำ ๆ พวกข้อพิพาทเดิมก็เคลียร์กันหมดแล้ว รับรู้รายได้ระหว่างแคทกับทรูได้หมดครบในไตรมาส1/2561 แน่นอน

ความหวังอยู่ที่ my และบรอดแบนด์ แต่ว่า New S-curve ในอนาคตที่จะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป คือ IOT LoRa ดิจิทัลทรังก์โมบาย ทรังก์โมบายเดิมให้บริการเฉพาะพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกและส่วนกลาง ตอนนี้ร่วมกับพาร์ตเนอร์สร้างเสา ขยายเครือข่ายดิจิทัลทรังก์โมบาย

ตลาดโมบายแข่งขันสูงมาก โอกาสเพิ่มฐานลูกค้ามีน้อยลงเรื่อย ๆ การสร้างโปรดักต์ใหม่จึงสำคัญ LoRa IOT เป็นโอกาส มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีการเชื่อมต่อในกลุ่มนี้จะเพิ่มสูงกว่าโมบายถึง 3 เท่า ไม่เกิน 5 ปีจะมีกว่า 200 ล้านดีไวซ์สำหรับ IOT ถ้าเร่งทำตอนนี้ก็จะดึงแชร์ได้สัก 25%

ขณะที่การลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ใช้เงินไม่มากแค่หลักร้อยล้านก็ครอบคลุมทั่วประเทศ หลัก ๆ คือการหาพาร์ตเนอร์ในการสร้างโปรดักต์ในอนาคตที่จะเข้าไปเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้า ซึ่งในส่วนของเซ็นเซอร์เองก็มีการเก็บข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้ แคทกำลังสร้างเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ขึ้นมาเพื่อสร้างนักพัฒนา เรามี LoRa IOT lab แล้วจะเปิดโชว์รูมโชว์เคสโซลูชั่นต่าง ๆ เป็นโอกาสของแคทที่จะเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมให้ โดยเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม LoRa สำหรับ IOT

Q : จุดอ่อนแคทคือการบริการลูกค้า

เราจะโฟกัสเป็นพื้นที่ สร้างคุณภาพบริการให้ดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีมาเสริมให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้นอาทิ การใช้ tool เสริมจุดบอดโครงข่าย เสริมจุดบอดการใช้งานในบ้าน ในองค์กร และเพิ่มช่างเอาต์ซอร์ซเข้ามาให้บริการมากขึ้น เพื่อให้บริการลูกค้าได้เร็วที่สุดอุปสรรคสำคัญคือ การตั้งงบประมาณซึ่งตามระเบียบราชการจะต้องทำเรื่องขอตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้า 2 ปี แต่ถามว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วเทคโนโลยี LoRa ยังไม่เป็นที่รู้จัก แล้วเราจะตั้งในส่วนนี้ไว้ได้อย่างไร กระบวนการลงทุนจะต้องของบประมาณ ขอบอร์ด กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็ยังหาทางออกไม่ได้

Q : EEC ดิจิทัลปาร์กแคทได้อะไรบ้าง

พื้นที่ในศรีราชาปล่อยว่างไว้เฉย ๆ 600 ไร่ ค่าเช่าปีละ 23 ล้านบาทให้ราชพัสดุ ถ้าทำเป็นดิจิทัลปาร์ก จะทำให้ขายโซลูชั่นต่าง ๆ ให้คนที่มาลงทุนในพื้นที่ได้

Q : ยังจะร่วมทุนกับดีแทค

การร่วมทุนกับดีแทคเพื่อบริการจัดการโครงข่ายสัมปทาน ยังหวังว่าปี 2561 จะดำเนินการได้ เพราะปีที่ผ่านมากระทรวงมีข้อกังวลและมีการตีความว่า พวกนี้คือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ รัฐต้องถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องส่งไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า พวกเสาตามสัมปทานนี่เข้าข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ ก็จบเลย ต้องไปคุยกับดีแทคใหม่

ตอนนี้มีแต่ไปรอลุ้นว่า ดีแทคจะได้คลื่น 2300 MHz ไหม ส่วนการจะไปประมูลคลื่นใหม่จาก กสทช. คงยาก เพราะแค่ 850 MHz ที่เรามี ในส่วนที่ใช้เอง 20% ใช้ไปจริง แค่ 5% เท่านั้น

Q : คืบหน้าตั้ง 2 บริษัทลูก

ปัญหาคือ เมื่อมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ต้องมีการเลือกว่าจะใช้การตีมูลค่าของใคร รูปแบบโมเดลของใครต้องให้คนกลางมาชี้คือกระทรวง ในส่วน NGDC co เชื่อว่าเป็นธุรกิจของอนาคต 2 ปีแรกคงยังไม่กำไร แต่ต่อไปจะอยู่ได้ ปัญหาจริง ๆ น่าจะอยู่ที่ตัวแคทใหญ่เองมากกว่าจะเดินไปอย่างไร เพราะพนักงานมีตั้ง 5,000 คน แม้จะบอกว่าทีโอทีมีมากกว่าอีก

แต่ทรัพย์สินเก่า ๆ ก็เยอะกว่าแคท ทั้งคลื่น ทั้งที่ดิน แคทมีแค่คลื่น 850 MHz 15 MHz หลังปี 2568 จะได้ใช้ต่อไหมก็ยังไม่รู้ ยังดีที่มีเกตเวย์ มีซับมารีน 7 เส้น ไม่รวมเส้นใหม่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรได้มหาศาล มาร์จิ้นบางมาก

Q : ทางรอด

พยายามทำแคทให้เล็กลง พนักงานเรามี 5,000 คน อายุเฉลี่ย 50 ปี อีก 3 ปี คนจะหายไป 40-50% ถ้าวางโมเดลที่จำกัดคนเข้าใหม่ แล้วปล่อยคนเกษียณออกไปก็จะเหลือ 2,500-3,000 คน พยายามสร้างฐานลูกค้าบรอดแบนด์ให้มีถึงล้านราย จากปัจจุบันมีแสนกว่าราย ด้วยรายได้ที่เข้ามาก็เพียงพอให้แคทอยู่ได้ ต่อให้สิทธิ์คลื่นจะหมดปี 2568 ก็ตาม

แต่อุปสรรคในการเพิ่มลูกค้าคือ พอจะซื้ออุปกรณ์ลงทุน งบประมาณก็ต้องขอล่วงหน้า 2 ปี มีกระบวนการของบฯนาน ถ้าจะให้พลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว โครงการที่รออยู่ อย่างการร่วมทุนกับดีแทค ถ้าทำได้ในปีนี้ก็จะมีรายได้กว่าหมื่นล้านบาท ดาวเทียมที่กระทรวงได้รับมอบจากสัมปทานไทยคมให้แคทดูแลก็จะมีรายได้อีก 700 กว่าล้านบาท

Q : นิยาม ปี 2561 ไว้อย่างไร

Leave it เราต้องการจะยกระดับให้แคทกลับมาอยู่รอดได้ เลี้ยงตัวเองได้ดีด้วย New S-curve