EVER Health Wallet คืนอำนาจสู่เจ้าของข้อมูล จิ๊กซอว์ใหม่ “เมดิคัลฮับ”

ภาณุสิทธิ์ ชมะนันทน์
ภาณุสิทธิ์ ชมะนันทน์

เอเวอร์ เมดิคอลเปิดตัว “EVER Health Wallet” เก็บข้อมูลสุขภาพบนบล็อกเชนชูแนวคิดเจ้าของข้อมูลเป็นศูนย์กลางให้อำนาจผู้ใช้เชื่อมต่อแพลตฟอร์มบริการสาธารณสุขข้ามประเทศ หวังต่อจิ๊กซอว์เมดิคัล ฮับ

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 นายภาณุสิทธิ์ ชมะนันทน์ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น EVER Health Care เปิดเผยว่า ตนก่อตั้งบริษัทในปี 2017 และได้พัฒนา EVER Health Wallet บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพ

มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาล โดยให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของข้อมูล (Ownnership) ของผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไป เนื่องจากข้อมูลเป็นสิ่งมีค่า

บริษัท เอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด เปิดตัววอลเล็ตด้านสุขภาพ EVER
ภาณุสิทธิ์ ชมะนันทน์ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด

ขณะที่ฝั่งเทคโนโลยีสุขภาพ รวมถึงแพทย์ต่างต้องการรวบรวมข้อมูลบิ๊กดาต้าที่จะนำไปพัฒนาเอไอเพื่อให้ช่วยวินิจฉัย เช่น ใช้ข้อมูลประชากร และผู้ป่วยมะเร็งในสหรัฐอเมริกา ถอดรหัสจีโนมให้เอไอวิเคราะห์หายา และวิธีการรักษาที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล เป็นต้น

โดยแอปพลิเคชั่นจะเก็บข้อมูลต่าง เช่น กิจกรรมในชีวิตประจำวัน, ไบโอเมตริกส์, การติดตามการรักษา, ข้อมูลอาการเจ็บป่วย, ผลการวินิจฉัยรักษา และข้อมูล Muti-Omics ที่มีการบูรณาการข้อมูลที่ได้จากการวิจัยแบบโอมิกส์ นำไปสู่การประมวลผลทางการแพทย์ที่แม่นยำ ด้วยการนำข้อมูลไปประมวลผลด้วย เอไอจากเครื่องของผู้ใช้ และมีการวางแผนสุขภาพให้

“EVER health wallet เป็นตัวเข้าถึงข้อมูลเรา ซึ่งอยู่บนบล็อกเชน Ethereum เป็นระบบ P2P จึงสร้างความสะดวกใจให้กับผู้ใช้ที่ตระหนักเรื่องความเป็นส่วนตัวโดยให้เจ้าของข้อมูลมีอำนาจสูงสุดในการอนุญาตใช้ข้อมูล (Consent) สอดคล้องกับกฎหมาย PDPA ที่เพิ่งประกาศใช้ รวมถึง GDPR ของยุโรป จึงเป็นมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามโลกได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ของใครหรือประเทศใด

นายภาณุสิทธิ์กล่าวต่อว่าผู้ให้บริการทางสาธารณสุขในชุมชนที่อยู่รอบ ผู้ใช้งานก็สามารถเข้าร่วมได้ หรือขอพบแพทย์จากต่างประเทศก็ได้ทำให้เกิดเป็นMedical Tourism สอดคล้องกับนโยบาย Medical Hub ของภาครัฐ ซึ่งการจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวทางการแพทย์ได้ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ที่ดี

ยกตัวกรณีมีชาวต่างชาติอยากผ่าตัดแปลงเพศก็สามารถใช้แพลตฟอร์มค้นหาได้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันต่าง มากกว่าหมื่นแห่ง มีแพทย์เข้าร่วมกว่า 50,000 คนทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเก่ง และมีชำนาญด้านนี้อยู่แล้ว

เมื่อเขาเดินทางมาไทยก็จะถือรหัสที่เข้าถึง เฮลท์ วอลเลท มาด้วย แพทย์ไทยเองก็จะขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยได้โดยตรง เมื่อผ่าตัดรักษาเสร็จข้อมูลทางสุขภาพต่าง ก็จะมีการบันทึกส่งขึ้นไปอยู่บนบล็อกเชน เมื่อผู้ป่วยกลับไปพักรักษาที่ประเทศตน ก็ให้แพทย์ที่นั่นเข้าถึงข้อมูลจากเฮลท์ วอลเลทเพื่อดำเนินการรักษาต่อไป

นายภาณุสิทธิ์ย้ำว่าข้อมูลสุขภาพมีความสำคัญ และมีค่ามาก เช่น ข้อมูลจีโนมโปรไฟล์ เป็นสิ่งที่ควรเก็บไว้กับตนหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ตามที่ตนเองสะดวก

ที่ผ่านมาพบว่าการวิจัยทางการแพทย์มาทำที่ประเทศไทยจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีการนำข้อมูลอะไรมาใช้เลยจึงอยากให้การทำวิจัยทางการแพทย์เกิด ด้วยการอนุญาตของเจ้าของข้อมูลที่อยากให้หน่วยวิจัยจึงได้สร้างระบบ EVER health wallet เป็นตัวเชื่อมระหว่างเจ้าของข้อมูลกับข้อมูล ว่าจะอนุญาตให้ฝ่ายวิจัยทางการแพทย์หรือทางการศึกษานำไปใช้หรือไม่

นายแพทย์โฮเซ่ มอเร่ย์ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัทเดียวกันเสริมว่าโจทย์ของเอเวอร์ คือ ต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุม จึงได้เริ่มพัฒนานวัตกรรมทางการเเพทย์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยเพราะข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ได้ช่วยแค่การรักษา แต่นำไปสู่การพยากรณ์การเจ็บป่วย จากสภาพเเวดล้อมและสภาพร่างกายที่ตรวจวัดได้

สามารถระบุลงไปลึกถึงระดับตัวตนของจีโนม บ่งชี้อาการที่เกิด และหาทางป้องกันล่วงหน้าได้ด้วย แต่การจะใช้ข้อมูลผู้ป่วยที่เก็บไว้ และที่เชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก ต้องขออนุญาตผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลไปประมวล

ในอดีตการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์มองว่าศูนย์กลางคือโรงพยาบาล แต่วันนี้แนวคิดของเราคือการคืนความเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพสู่มือผู้ป่วย เราเริ่มทำเป็นที่เเรกในโลก และจะเริ่มที่ประเทศไทย

การคืนความเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพ เป็นแนวคิดที่มาพร้อมกับ Web 3.0 และDecentralized Application (Dapp) กล่าวคือ มีการใช้การเข้ารหัสหรือคริปโตกราฟิกเพื่อระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลบนบล็อกเชน ดังนั้นผู้เดียวที่ถือรหัสเข้าถึงข้อมูลคือเจ้าของข้อมูล การอนุญาต อนุมัติ จะเกิดโดยเจ้าของข้อมูลเอง

“EVER health wallet นำระบบโรงพยาบาลทั้งหมดมาสู่มือผู้ป่วย ทั้งข้อมูลการรักษาการสั่งยา การพบแพทย์ ฯลฯ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยที่ใช้วิธีระบุตัวตนด้วย Health wallet ทำให้เกิดมาตรฐานการเเลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลด้วยความปลอดภัยสูงสุด ร้องขอเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านแอป EVER ที่ผ่านมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ของไทยแล้ว

ปัจจุบันแพล็ตฟอร์ม EVER มีผู้ใช้แล้ว 3.6 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มี 10ล้านคนในระยะอันใกล้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารูปปบบบริการของบริษัท คือการนำเสนอโมเดลการเข้าถึงอนุญาต อนุมัติ ยินยอมให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยการเข้ารหัสคริปโตกราฟฟิกบนบล็อกเชน Ethereum ในเลเยอร์ที่หนึ่ง เพื่อยืนยันความปลอดภัยของตัวตน และในเลเยอร์ที่สอง ข้อมูลทางสุขภาพที่เก็บไว้ในโรงพยาบาลต่างๆ จะมีการนำมาแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงกันได้ เมื่อมีการระบุตัวตนเข้ารหัสจากเลเยอร์ที่หนึ่งแล้ว

โดยสรุปคือ Health wallet เป็นโมเดลที่ล้อไปกับ Crypto Wallet ที่ระบุตัวตนหรือที่อยู่ของเหรียญคริปโตบนบล็อกเชน โดยนำมาดัดแปลงใช้เพื่อระบุตัวตนในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพจากแหล่งต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นกลางที่คอยเเสดงผลให้ผู้ใช้เห็น (Interface) ซึ่งผู้บริหารของเอเวอร์ เทคโนโลยีมองว่าเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ ตามหลักของกฎหมาย PDPA และ GDPR