“ซาลัส” ทุ่ม 900 ล้าน ที่เชียงใหม่ สกัด “กัญชา-กัญชง” ผลิตยาส่งอาเซียน

ซาลัส ไบโอซูติคอล

ซาลัส ไบโอซูติคอล ทุ่ม 900 ล้านบาท ยึดฐานเชียงใหม่ ผุดโรงงานผลิตยาจากกัญชา-กัญชงเกรดพรีเมี่ยม ตั้งเป้าผลิตยา เม.ย. 2566 พร้อมผลิตสารสกัด ป้อนอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-อาหาร-เวชสำอาง คาดมูลค่าตลาดปีแรก 500-1,000 ล้านบาท

นายธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงทุนระหว่างนักลงทุนไทย และบริษัท MPX International Corporation

ซึ่งมีกิจการอุตสาหกรรมกัญชาที่ดำเนินงานอยู่ใน 5 ทวีปทั่วโลกทั้งแคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ มอลตา ออสเตรเลีย และไทย ธุรกิจหลักให้ความสำคัญเรื่องการเพาะปลูก การสกัด การผลิต การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และการทำการตลาดผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชง ไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ยา โดยเริ่มต้นศึกษาวิจัยมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว

ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2564 บริษัทได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตยาสารสกัดจากกัญชาและกัญชงมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท บนพื้นที่ราว 10 ไร่ ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการรับรองสถานที่ผลิตจากคณะกรรมการอาหารและยาตามมาตรฐาน GMP/PICs และมีห้องปฏิบัติที่ทันสมัยและครบวงจร

บริษัทนำเข้าเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน EU-GMP ถือเป็น 1 ใน 3 ของโลก รองจากแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเครื่องสกัดมีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ทำให้สามารถผลิตสารสกัดกัญชาและกัญชงออกมาได้หลายรูปแบบ อาทิ สารสกัด CBD เข้มข้น, น้ำมัน CBD, สารสกัด CBD บริสุทธิ์ สารสกัด CBD รูปแบบผงที่ละลายน้ำได้ และสารสกัด CBD รูปแบบละลายน้ำ

ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกชนิดของสารสกัดที่ต้องการตามสูตรการผลิตของทางซาลัสฯ สำหรับโรงงานแห่งนี้ มีกำลังการสกัดอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน หรือราว 365,000 กิโลกรัมต่อปี เพื่อผลิตน้ำมัน CBD ผลิต isolate powder และ CBD isolate water soluble ได้ในปริมาณมากพอที่จะรองรับตลาดทุกกลุ่มธุรกิจ

โดยบริษัทมีพื้นที่การเพาะปลูกกัญชา-กัญชงเอง ในระบบปิด ขนาด 800 ตร.ม. และพื้นที่ปลูกระบบเปิด ราว 25 ไร่ ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สามารถปลูกกัญชาให้ช่อดอกที่ให้ผลผลิตคุณภาพสูงและมีปริมาณที่มากเพียงพอกว่า 4,700 กิโลกรัมต่อปี

เพื่อให้สามารถผลิตสารสกัดกัญชาได้สูงถึง 391 กิโลกรัมต่อปี มีห้องปฏิบัติการระดับการแพทย์เพื่อวิเคราะห์กัญชงและกัญชา ทำให้มีกระบวนการการกลั่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นอกจากนี้ ได้ทำระบบเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรจำนวน 14 ราย ในการปลูกกัญชงและกัญชาแบบออร์แกนิกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และภาคอื่นคือ จ.เลย รวมถึงจ.ราชบุรี มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 275 ไร่

เพื่อรองรับกำลังการผลิตในอนาคต โดยบริษัทมีเป้าหมายสำคัญ 2 ส่วนคือ เป็นผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน และผลิตสารสกัดจากกัญชงและกัญชารายแรกในประเทศไทย ในระดับเกรดพรีเมี่ยมที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตยากำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง อาทิ มะเร็งเต้านม ลูคีเมีย ยาลดปวด ยาช่วยในการนอนหลับ ยาลดอาการติดแอลกอฮอลล์ เป็นต้น คาดว่าอย่างช้าไม่เกินเดือนเมษายน 2566

การผลิตยาจะแล้วเสร็จ แต่ต้องใช้เวลาในการขึ้นทะเบียนยาราว 3-5 ปี โดยมีทั้งการผลิตยาเม็ด แคปซูล ยาเหน็บ น้ำมันหยดแผ่นยาชนิดติดผิวหนัง ครีมทาภายนอก และยาชนิดรับประทานที่มีคุณภาพทางการแพทย์ ซึ่งมีส่วนประกอบของสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ภายใต้การอนุมัติของรัฐบาล

โดยใช้เทคโนโลยีการผลิต และการออกแบบขั้นตอนการทำงานทั้งภายในและภายนอกอาคารถูกออกแบบโดยทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มีระบบการจัดการที่ดี สอดคล้องในทุกกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ด้วยราคายาที่เหมาะสมไม่แพงและคนไทยสามารถเข้าถึงได้ และเป็นเกรดทางการแพทย์

นอกจากนี้ ซาลัสฯยังมีเป้าหมายเป็นผู้ผลิตสารสกัด CBD และ THC จากกัญชาและกัญชง ป้อนให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ อาทิ กลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สปา และอาหารสัตว์ เป็นต้น โดยคาดว่าลูกค้าของบริษัทจะเริ่มผลิตสินค้าออกมาตั้งแต่ราวเดือนตุลาคม 2565 นี้ คาดการณ์รายได้ของบริษัทในการดำเนินงานปีแรก คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 500-1,000 ล้านบาท

และในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไปจะมีอีกหลายประเทศทั่วโลก ราว 50 ประเทศที่จะปลดล็อกกัญชา ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายจะส่งออกสารสกัดเกรดพรีเมี่ยมไปหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สหรัฐอเมริกา รวมถึงอาเซียน ทั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทเป็นฐานการผลิตแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน คาดว่ามูลค่าตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 10,000 ล้านบาท