จับทุเรียนเวียดนามสวมสิทธิไทย “ล้ง“ แสบสบช่องผลผลิตใต้ขาด-ราคาพุ่ง

ทุเรียน

ขบวนการขนทุเรียนเวียดนามมาสวมสิทธิทุเรียนไทยอาละวาด หลังทุเรียนใต้ขาดช่วง ราคาพุ่งเฉียด 300 บาท/กก. ขณะที่ผลผลิตทุเรียนเวียดนามกำลังออก ราคาถูกกว่า 3-4 เท่า หรือประมาณ 60-80 บาท/กก. เผยด่านมุกดาหารระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ล้งที่ จ.ชุมพรพบราดำ และเพลี้ยแป้ง บรรจุไม่เต็มตู้ส่อแววขบวนการสวมสิทธิทุเรียน

แหล่งข่าวในวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงเดือนกันยายนทุเรียนในฤดูของพื้นที่ภาคใต้ใกล้หมด ทำให้ทุเรียนขาดช่วงมีจำนวนน้อยมากไม่เพียงพอที่ผู้ส่งออกจะซื้อเพื่อบรรจุให้เต็มตู้ส่งไปประเทศจีน โดยทุเรียนใต้จะออกผลผลิตอีกทีช่วงดือนตุลาคม ถึงเดือนมีนาคมปีหน้าจะเป็นทุเรียนพันธุ์ทวายและทุเรียนนอกฤดูจะให้ผลผลิตอีกประมาณ 200,000 ตัน ส่งผลให้ราคาทุเรียนใต้ช่วงนี้พุ่งขึ้นไป 260-305 บาท/กก. และหาสินค้าไม่ได้

ขณะที่ผลผลิตทุเรียนเวียดนามกำลังทยอยออกสู่ตลาดและราคาถูกกว่าถึง 3-4 เท่า หรือประมาณ 60-80 บาท/กก. ทำให้เกิดขบวนการนำทุเรียนเวียดนามมาสวมสิทธิทุเรียนไทย โดยใช้การขนส่งทุเรียนเวียดนามมาทางเรือและส่งมาจุดรวบรวมบรรจุแพ็กที่ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช และโรงคัดบรรจุที่ จ.ชุมพร เป็นผู้ส่งออก

“ปีนี้ผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ไม่ดีนัก เนื่องจากมีปัญหาโรคพืชและแมลงเพราะฝนตกหนัก ผลผลิตเสียหายมากและมีโรค ซึ่งทุเรียนภาคใต้ผลผลิตในฤดูกาลมีน้อยมาก ประมาณ 20% หรือ 200,000 ตัน จากคาดการณ์ไว้ปริมาณ 1 ล้านตัน

ทำให้เกิดกระบวนการส่งออกทุเรียนไม่มีคุณภาพไปประเทศจีน เป็นลักษณะการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิทุเรียนไทยมีมานาน และปีนี้มีการตรวจพบและสั่งระงับโรงคัดบรรจุภาคตะวันออกมาแล้ว โดยวิธีการจะซื้อทุเรียนที่ตกไซซ์ไม่มีคุณภาพ ราดำ เพลี้ยแป้งในราคาที่ถูก กก.ละ 70-80 บาท และไม่ซื้อให้เต็มตู้ เพื่อนำไปทิ้งที่ชายแดนแล้วนำทุเรียนเวียดนามที่คุณภาพดีมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยส่งต่อไปจีน ซึ่งกระบวนการนี้ผู้ที่รับจ้างบรรจุจะมีรายได้ตู้ละ 100,000-200,000 บาท แต่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่เป็นชาวจีนจะมีรายได้จากนำทุเรียนเวียดนามที่ราคา กก.ละ 60-80 บาท มาสวมสิทธิทุเรียนไทยที่ต้องซื้อในราคาสูง

ทั้งนี้ ทางออกในการแก้ปัญหาการสวมสิทธิ น่าจะทำใน 2 แนวทางที่ควบคู่กัน คือ กฎหมายระดับกระทรวง กรม มีบทลงโทษผู้สวมสิทธิใช้เหมือนกันทั่วประเทศ มีบทลงโทษที่ชัดเจน เด็ดขาด เพื่อใช้ปกป้องทุเรียนไทย และในแนวทางเชิงเศรษฐกิจที่อนุญาตให้ทุเรียนเข้ามาในไทยอย่างถูกต้อง มีมาตรการควบคุมมาตรฐานและให้ไทยเป็นผู้ส่งออก มีรายได้จากมูลค่าส่วนต่าง” แหล่งข่าวกล่าว

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2565 ด่านมุกดาหารได้ระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช โรงคัดบรรจุแห่งหนึ่งที่ จ.ชุมพร เนื่องจากตรวจสอบพบทุเรียนไม่ได้คุณภาพ และบรรจุไม่เต็มตู้ตามจำนวนและปริมาณที่แจ้งไว้ในเอกสาร และทุเรียนมีสภาพผลแตก ผิวเหลือง ราดำ และเพลี้ยแป้ง เจ้าหน้าที่จึงให้ตีกลับไปที่โรงคัดบรรจุต้นทาง จ.ชุมพร

และที่ด่านนครพนมได้ระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช โรงคัดบรรจุที่ จ.ชุมพร ด้วยเช่นกัน เนื่องจากด่านตรวจสอบพบว่า ทุเรียนในตู้เป็นทุเรียนราดำและเพลี้ยแป้ง จึงให้ตีกลับไปโรงคัดบรรจุต้นทาง จ.ชุมพร ทั้ง 2 ตู้ ซึ่งส่อแววบางอย่างกับขบวนการสวมสิทธิทุเรียนไทยหรือไม่

ก่อนหน้านี้ นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผยถึงกรณีที่ภาคตะวันออกพบว่ามีทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดยสำแดงเอกสารที่อาจอันเป็นเท็จ ผ่านด่านตรวจพืชมุกดาหารไปจีน และถูกตีกลับมาที่ล้งต้นทาง ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ทุเรียนบรรจุไม่เต็มตู้/ทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างรุนแรง ทุเรียน 2 ตู้ แจ้งน้ำหนักรวม 34,560 กิโลกรัม 950 กล่อง มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท

แต่ภายหลังการสุ่มตรวจ บรรจุทุเรียน ตู้ละ 471 กล่อง และ 472 กล่อง น้อยกว่าที่แจ้ง ที่สำคัญยังพบทุเรียนที่มีเพลี้ยแป้งและราดำ มีข้อความสำแดงไม่ตรงตามเอกสารที่แจ้ง ด่านมุกดาหารจึงไม่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และแจ้งตัวแทนผู้ส่งออกคืนตู้สินค้ากลับไปยังโรงคัดบรรจุต้นทาง

แต่ทุกวันนี้ไม่พบตู้ทุเรียนที่ให้ย้อนกลับมา ทุเรียนนี้หากหลุดออกไปจะเกิดผลเสียหายอย่างหนักกับทุเรียนไทย และอาจจะเกี่ยวเนื่องกับขบวนการสวมสิทธิทุเรียนต่างด้าว เพราะการบรรทุกทุเรียนไม่เต็มตู้คล้ายกับการเว้นพื้นที่ไว้รอขึ้นทุเรียนระหว่างทางที่ประเทศเวียดนาม ด้วยการตัดฝาตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนทุเรียนขึ้นบรรจุ จากนั้นจึงเชื่อมใหม่ โดยที่ไม่ต้องตัดสายรัดฝาตู้ของเจ้าหน้าที่ออก