28 จังหวัดยังจมบาดาล จี้รัฐหาทางป้องกันมากกว่าแก้ไข

น้ำท่วม
แฟ้มภาพ

แม้กรมชลประทานจะลดระดับการระบายน้ำลง แต่หลายพื้นที่น้ำยังท่วมสูงต่อเนื่องมากว่า 3 เดือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่รวม 28 จังหวัด 137 อำเภอ 868 ตำบล 5,866 หมู่บ้าน

ประชาชนได้รับผลกระทบรวม 437,461 ครัวเรือน ความทุกข์ยากของประชาชนหลากหลายอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบทั้งบ้านอยู่อาศัย พื้นที่เกษตรจมน้ำ ต่างต้องการความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน

มท.เร่งสำรวจฟื้นฟู-เยียวยา

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือทุกพื้นที่ต้องเร่งสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมให้ชัดเจน ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ส่วนการฟื้นฟูต้องเร่งทำความสะอาดคืนสู่สภาพหลังน้ำลดภายใน 7 วัน

รวมถึงปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานส่วนที่เสียหาย หลังจากนั้นเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะพิจารณาร่วมกับหัวหน้าส่วนต่าง ๆ

สำหรับการฟื้นฟูแก้ปัญหาเชิงระบบในระยะยาว เบื้องต้นทางกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมผู้บริหารระดับกระทรวง สำรวจลุ่มน้ำ ผังน้ำชุมชน ตลอดจนห้วย หนอง คลอง บึง เพื่อนำฐานข้อมูลมาสรุปหาแผนพัฒนาในเชิงระบบ บริหารจัดการป้องกันอุทกภัย

และจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ

จี้รัฐป้องกันมากกว่าแก้ไข

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่น้ำท่วมหนักหลายจังหวัด “สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคอีสานประสบภัยน้ำท่วมหลายจังหวัด ตอนนี้กำลังให้ประธานหอการค้าทุกกลุ่มจังหวัดสำรวจความเสียหายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเสนอความคิดเห็นไปถึงรัฐบาล

เบื้องต้น 1.อยากให้รัฐปลดล็อกการใช้งบประมาณของท้องถิ่น สามารถดึงเงินออกมาใช้ให้เร็วขึ้น 2.พยุงผู้ประกอบการฟื้นเศรษฐกิจ เช่น ลดการจ่ายเงินประกันสังคม ยกเว้นภาษี หรือขยายกรอบวงเงินกู้ เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เลย

3.ช่วยเยียวยาภาคการเกษตรให้เร็วที่สุด เพราะจะทำให้เงินกลับมาสะพัดในระบบเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนแผนฟื้นฟูระยะยาวต้องแก้ปัญหาไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ภาครัฐควรให้ความสำคัญป้องกันมากกว่าแก้ไข เพราะน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี และไม่มีระบบป้องกัน เมื่อเกิดเหตุมักจะแก้ปัญหาโดยประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศพื้นที่อุทกภัยเท่านั้น

“ที่จริงแผนสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานถูกพูดถึงมาตลอด แต่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อยากให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเท่าที่จะทำได้ก่อนเพื่อช่วยฟื้นจากสถานการณ์ได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จากที่คาดการณ์ไว้หลังโควิด-19

เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี และเติบโตขึ้น 2-3% คงถดถอยลง แต่ต้องรอดูความรวดเร็วในการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาของภาครัฐ ว่าจะติดระเบียบราชการมากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้ภาครัฐเร่งรัดให้เร็วที่สุด”

อุบลฯน้ำแห้งกลาง พ.ย.

“มงคล จุลทัศน์” ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ระดับน้ำในจังหวัดอุบลฯเริ่มลดลงเกือบทุกพื้นที่ หลังน้ำท่วมขังนานเกินกว่า 20 วัน แต่หลายจุดยังท่วมสูง โดยเฉพาะรอยต่อของอำเภอเมืองกับอำเภอวารินชำราบ

ขณะที่มูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ ทั้งภาคเกษตร ประมง และภาคธุรกิจ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ แม้กำลังเข้าสู่โหมดฟื้นฟูแล้ว ประเมินว่าภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 สถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ และสิ้นเดือนพฤศจิกายนจะมีข้อมูลระบุความเสียหายที่ชัดเจน ผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้จะได้รับการเยียวยาตามระเบียบของภาครัฐต่อไป

ด้าน “สมเพชร สร้อยสระคู” รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า หลังน้ำลดต้องทำความสะอาดพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม ดูแลให้บริการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก เช่น เรื่องน้ำ เรื่องไฟฟ้า และพูดคุยประชุมกันในที่ประชุม กรอ.จังหวัด เพื่อเสนอโครงการต่าง ๆ ถึงส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

เงินเยียวยาไม่พอฟื้นที่ทำกิน

“ไกรสร กองฉลาด” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่นเริ่มลดระดับลง คาดว่าไม่เกินวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 จะกลับสู่ภาวะปกติ และการฟื้นฟูเบื้องต้นต้องบริหารจัดการเรื่องสาธารณูปโภค ซ่อมแซมถนนและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

ถัดมาคือการเยียวยาตามระเบียบราชการ โดยพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักอยู่บริเวณริมแม่น้ำชีและลำน้ำพอง ไปจนถึงเขตรอยต่อของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรไม่กระทบถึงตัวเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ

“เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในจังหวัดกาฬสินธุ์น้ำท่วมหนักสุดอยู่ที่อำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลาไสย ส่วนใหญ่น้ำหลากท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือนประชาชนบริเวณใกล้ลำน้ำ การเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นคือการแจกถุงยังชีพจากหน่วยงานต่าง ๆ สูบน้ำออก และรอให้น้ำลดเพื่อกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 เดือน

ส่วนการเยียวยาของภาครัฐยังไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรที่เฉลี่ยหลักพันบาทต่อไร่ ไม่พอจ่ายค่าปุ๋ยและค่าแรงงานด้วยซ้ำ รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการฟื้นตัวของแต่ละพื้นที่ให้เร็วที่สุด

เร่งสำรวจความเสียหาย

ขณะที่ “จุมพฏ วรรณฉัตรสิริ” รองผู้ว่าราชการนครสวรรค์ เปิดเผยว่า นครสวรรค์ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกมูลค่าเงินเยียวยาได้ เพราะอยู่ในช่วงของการสำรวจความเสียหาย แต่ปีที่ผ่าน ๆ มาใช้งบประมาณเยียวยากว่า 300-400 ล้านบาท ส่วนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดแล้ว และไม่ใช่เพียงเรื่องแก้น้ำท่วมอย่างเดียว ต้องบริหารจัดการนำน้ำไปใช้ในพื้นที่เกษตรช่วงฤดูแล้งด้วย

“คาดการณ์ว่าจะเข้าภาวะปกติน้ำลดทุกพื้นที่ในจังหวัดภายในสิ้นเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน นอกจากเยียวยาแล้วจะมีการสร้างอาชีพให้ผู้ที่ประสบอุทกภัย เช่น การทำประมง เลี้ยงแมลงต่าง ๆ เพื่อให้มีรายได้เสริม โดยทางจังหวัดได้การวางแผนยุทธศาตร์เป็นเมืองเกษตรมูลค่าสูง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว”

“ไพรัตน์ เพชรยวน” รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตามระเบียบราชการ ส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตร โดยเงินชดเชยพื้นที่นา 1 ไร่ 1,370 บาท หากเป็นพื้นที่สวนจะได้เงินชดเชย 1,700 บาทต่อไร่ ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวบข้อมูลความเสียหาย คาดการณ์ไว้ว่างบประมาณที่จะต้องชดเชยเกษตรกรไม่น่าจะต่ำกว่า 100 ล้านบาท