ม.หาดใหญ่ชี้ ดัชนีเชื่อมั่นใต้ หนี้ครัวเรือน-ค่าครองชีพพุ่ง

ค่าครองชีพ

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานข้อมูลว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมเดือนตุลาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.10

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนและเดือนสิงหาคม โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ

ปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะว่านักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มเดินทางในประเทศมากขึ้น โดยการใช้ส่วนลดจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันของภาครัฐ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มทยอยเดินทางเข้ามา

นอกจากนี้ กิจกรรมการจัดงานอีเวนต์ การจัดประชุมสัมมนาก็เริ่มมีการจัดงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ยังต้องเผชิญกับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้การฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

แต่ยังมีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่ การที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน รวมถึงครัวเรือน จัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้จนถึงการชำระหนี้ค้าง

จากการสำรวจประชาชนภาคใต้เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขและความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1.ภาวะน้ำท่วมในหลายภูมิภาคของไทย สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างมากมาย ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งขาดรายได้ และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

2.ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้เกิดผู้เสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากยาเสพติดและอาวุธปืน ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดให้เด็ดขาด

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.60 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 38.60 ตามลำดับ

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.40 30.10 และ 34.20 ตามลำดับ

ในส่วนของปัญหาที่ประชาชนต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ อันดับแรกคือการช่วยลดและบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน รองลงมาคือ การช่วยเหลือภาระหนี้สินของประชาชน การเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย