กรมศุลฯ ตั้งกรรมการสอบหมูเถื่อน ผู้เลี้ยงหวั่นรีเอ็กซ์ปอร์ตย้อนกลับไทย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติส่งหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมศุลกากรขอให้ทำลาย “หมูเถื่อน” ตกค้าง 161 ตู้ จี้เปิดรายชื่อผู้กระทำความผิด ด้านอธิบดีกรมศุลกากรสั่งตั้งกรรมการสอบปัญหาตู้ตกค้างท่าเรือแหลมฉบังนาน 8 เดือน ผู้เลี้ยงเผยการ reexport เท่ากับให้หมูลักลอบย้อนจากชายแดนกัมพูชาเข้าไทยอีกรอบ

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ทำหนังสือถึงนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และสำเนาถึงนายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยสมาคมขอให้ทำลายสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรในตู้ที่ตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ เป็นเวลา 7-8 เดือน

และให้เปิดเผยรายชื่อผู้กระทำความผิด โดยขอให้กรมศุลกากรเร่งชี้แจงกลับมายังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯภายในวันที่ 30 เมษายน 2566 เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ กับหน่วยงานราชการ ที่จะสร้างปัญหาการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายจากการปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำความผิด

สมาคมผู้เลี้ยงสกุรฯต้องการขอความชัดเจนต่อการจัดการตู้สินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเนื่อง ใน 3 ประการ

ได้แก่ 1.ขอให้ส่งทำลายสินค้าเนื้อสุกรในตู้ที่ตกค้างทั้งหมดจำนวน 161 ตู้

2.ขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิด ซึ่งนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่ตกค้าง ทั้งหมด 161 ตู้ และขอรายชื่อผู้ประกอบการนำเข้า ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการไว้ทั้งหมด จำนวน 27 ราย หรืออาจจะมีมากกว่าจำนวนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

3.ขอตัวเลขจำนวนการส่งตู้สินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรผิดกฎหมายที่ตกเป็นของแผ่นดิน และส่งให้กรมปศุสัตว์เพื่อทำลาย ปีงบประมาณ 2565-2566

รวมถึงขอให้อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดวันเวลาประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากร และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ เพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จ

“สำหรับการทำลายหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามา ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้เคยขอความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวน 1 ล้านบาทจากสมาคมผู้เลี้ยงฯในการทำลายหมู แต่ปัจจุบันภาคเอกชนไม่มีเงินจะช่วยได้แล้ว” นายสุรชัยกล่าวและว่า

ตั้งแต่ต้นปี 2565 หมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามามีต้นทุนต่ำกว่าหมูที่เลี้ยงภายในประเทศ จึงเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับตลาดการค้าสุกรมีชีวิต ซึ่งเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย สร้างแรงกดดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องขายหมูขาดทุนตัวละ 2,000-3,000 บาท หากพิจารณาภาพรวมความเสียหายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100-150 ล้านบาทต่อวัน คิดจากจำนวนหมูที่เข้าโรงฆ่าเฉลี่ย 50,000 ตัวต่อวันในปัจจุบัน

นายสุรชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่มีผู้บริหารระดับสูงของบางหน่วยงานแนะนำให้มีการนำตู้คอนเทนเนอร์บรรจุชิ้นส่วนสุกรที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังตีกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (reexport) ไม่ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการเฝ้าสังเกตการณ์ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯมาระยะหนึ่งพบว่า เรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตีกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศกัมพูชา หลังจากนั้นมีการทยอยลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรกลับเข้ามายังประเทศไทยทางด้านหลายจังหวัดในภาคตะวันออก

นายภักดี ชูขาว เจ้าของภักดีฟาร์ม และกรรมการสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า การนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามาส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงจะล้มหายไป และจะเหลือแต่ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ของประเทศ เพราะแนวโน้มสุกรจะเหลือราคา 60 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตสุกรเกือบ 100 บาท/กก. ดังนั้น ผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้พร้อมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปพบกรมศุลกากร และรัฐบาล เพื่อรับทราบคำตอบว่าผู้ใดนำเข้าหมูกล่องจากต่างประเทศ

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร/โฆษกกรมศุลกากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางอธิบดีกรมศุลกากรให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเนื้อสุกรแช่แข็งที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ส่วนกรณีที่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อผู้นำเข้าให้กับสมาคมผู้เลี้ยงฯได้ เพราะขั้นตอนตามกฎหมาย อำนาจกรมศุลกากรทำได้เพียงยึดของกลาง และให้หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจเข้ามาดำเนินการต่อ เช่น ตำรวจ ถึงเวลาพนักงานสอบสวนขอเอกสารมา กรมศุลกากรต้องรวบรวมเอกสารส่งให้ รายชื่อผู้นำเข้าจะเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชน

“ส่วนที่มีการถามกันว่า การนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรที่ท่าเรือแหลมฉบังถ้ามีการเอกซเรย์ตู้สินค้าจะมองเห็นเป็นชิ้นส่วนสุกรนั้น ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้เอกซเรย์ตู้เหล่านั้น เพราะผู้นำเข้ายังไม่ได้มาทำใบขนสินค้า”