จตุพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธาน YEC ตราด ภารกิจแจ้งเกิด “เช็กอินตราด ฟาร์มเอาต์เลต”

คอลัมน์ New Gen 4.0

จะเรียกว่าเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ก็คงไม่ผิดนักสำหรับ “จตุพัฒน์ ฤกษ์สหกุล” ประธานคณะกรรมการผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้าจังหวัดตราด (Young Entrepreneurs Chamber : YEC) และประธานกรรมการบริหารบริษัท แบล็คแซนด์ ครีเอทีฟ เฮาส์ จำกัด ที่หลังจากก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย จบปริญญาตรี สาขาวิศวโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีความฝันว่าอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มีธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างเป็นทุนเดิมรออยู่แล้ว

นั่นอาจจะเพราะชอบความอิสระ จึงก้าวเดินตามฝันด้วยการทำธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลและผลไม้ ส่งตลาดทั้งในและต่างประเทศต่อมาก้าวเข้ามาในหอการค้าจังหวัดตราด เป็นกรรมการในชุดของ YEC มา 2 สมัย เมื่อต้นปี 2560 นั่งตำแหน่งประธาน YEC จังหวัดตราด

ล่าสุด นักธุรกิจยังบลัด วัย 30 ปีคนนี้ได้นำเสนอไอเดียใหม่ ๆ พัฒนาการค้า การลงทุน ด้วยศักยภาพของจังหวัดตราดในเรื่องของเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว “แชมป์-จตุพัฒน์” ได้เริ่มโครงการเพื่อผลักดัน “ร้านค้าชุมชน” ให้เป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ด้านการค้า การบริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน และเป็นที่มาของร้าน “เช็กอินตราด ฟาร์มเอาต์เลต (Check in Trat Farm Outlet) ที่กลุ่ม YEC ร่วมกับชุมชนเพื่อปลุกปั้น

ประธาน YEC ตราด เล่าถึงที่มาของ “เช็กอินตราด ฟาร์มเอาต์เลต” ว่า จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่ม YEC จำนวน 17 ราย จากสมาชิกทั้งหมดกว่า 40 คน ผู้ประกอบการและนักธุรกิจกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ของจังหวัดตราด รวมทั้งหมดจำนวน 52 ราย โดยการระดมทุน ใช้วิธีขายหุ้นให้สมาชิกถือหุ้น หุ้นละ 25,000 บาท เพื่อตั้งร้านเช็กอินตราด ฟาร์มเอาต์เลต ให้เป็นจุดรวบรวมสินค้าและจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกชุมชนจังหวัดตราด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้นำสินค้าบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน GMP GAP HARAL มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาวางจำหน่าย และยังเปิดกว้างโดยร่วมมือกันทั้งภาคเอกชนและองค์กรภาครัฐ นำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายในร้านด้วย เช่น มีสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

Advertisment

“วงเงินลงทุนครั้งแรก 3 ล้านบาท และเพิ่มทุนเป็น 4.5 ล้านบาท น่าจะคืนทุนได้ในระยะ 3 ปี การลงทุนหลัก ๆ คือ ต้องการให้มีการระดมหุ้นกระจายให้คนในจังหวัดตราดถือหุ้นมากที่สุด และตั้งใจให้คนตราดได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน และมีเงินปันผล 10% ของทุนเงินลงทุน เราเพิ่งเปิดร้านเป็นเดือนแรก และในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวตราดมากขึ้น”


พร้อมกันนี้ เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ร้านเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง เป็นการเช่า และลงทุนออกแบบตกแต่งให้โล่ง โปร่ง สไตล์โมเดิร์น มีที่จอดรถสะดวกสบาย คอนเซ็ปต์เป็นศูนย์รวมสินค้าคุณภาพมาตรฐานของชุมชนในจังหวัดตราด ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทขาออก ที่บ้านแสนตุ้ง อ.เขาสมิง รอยต่อจังหวัดตราด-จันทบุรี ก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเวฬุ

ภายในร้านจะแบ่งเป็น 3 โซน โดยโซนแรกร้านอาหาร “ข้าวแกงแสนตุ้ง” ที่ขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์จังหวัดตราด โซนที่ 2 ร้านกาแฟแบรนด์ของคนตราด 8788 เบเกอรี่แบบโฮมเมด และโซนที่ 3 จำหน่ายสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน และสินค้าทั่วไปของจังหวัดตราด โดยมีของจันทบุรีบ้างประมาณ 300 ผลิตภัณฑ์ เร็ว ๆ นี้เตรียมเปิดห้องคัดเลือกรังนกให้ลูกค้านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ได้มาดูการคัดเลือกรังนกและเลือกชิม ซื้อผลิตภัณฑ์รังนก

Advertisment

ลูกค้าเป้าหมายหลักจึงเป็นนักท่องเที่ยว เพราะแต่ละปีตราดมีนักท่องเที่ยวมาเยือนประมาณ 2 ล้านคน ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับต้องแวะซื้อสินค้าของจังหวัดตราดที่ร้านเช็กอินตราด ฟาร์มเอาต์เลต ซึ่งเปิดบริการตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และมี Wi-Fi บริการ

นอกจากนี้ ยังร่วมกับองค์กร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ในจังหวัดตราด เร่งประชาสัมพันธ์ “เช็กอินตราด ฟาร์มเอาต์เลต” ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดตราดได้มาแวะร้านเพื่อเลือกซื้อสินค้าของฝากของจังหวัดตราด