เปิดตู้ หมูเถื่อน ท่าเรือแหลมฉบัง คนเลี้ยงพบพิรุธ

หมูเถื่อน

ผู้เลี้ยงหมู พบข้อพิรุธในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุ “หมูเถื่อน” แช่แข็ง 4 ตู้ ใน 161 ตู้ ที่ตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง ทันทีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ร่วมกับกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และให้เจ้าหน้าที่เปิด 4 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เห็นเนื้อหมู และชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ด้านใน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายมานะพันธ์ ชัยเมธสิทธิ์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันตก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดตู้คอนเทนเนอร์บรรจุหมูเถื่อนครั้งนี้ ตนตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ เพราะปกติการส่งสินค้ามาจากต่างประเทศจะบรรจุมาเต็มตู้คอนเทนเนอร์ ยิ่งเดินทางมาไกลจากประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา เพื่อให้คุ้มค่าขนส่ง แต่ตู้ที่เปิดให้ดูบางตู้มีหมูเถื่อนและชิ้นส่วนใส่กล่องกระดาษมาไม่เต็มตู้ ปริมาณหายไปจำนวนมาก การบรรจุไม่เต็มตู้

นอกจากนี้ มีข้อน่าสังเกตอีกประการ ปกติการส่งออกสินค้าเป็นกล่องขนาดเล็กลักษณะนี้ ต้องมีการพันพลาสติกพันรวมกันเป็นก้อนใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการยกวางบนแผ่นพาลเลต ก่อนจะใช้รถยกแผ่นพาลเลตมาวางบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ แต่กล่องหมูเถื่อนเหล่านี้ไม่มีพลาสติกพัน และเมื่อทำการยกเคลื่อนย้ายกล่องน่าจะล้มทับกันได้

“ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ตั้งเรียงรายในท่าเรือแหลมฉบังอีก 157 ตู้ ที่ยังไม่ได้เปิดให้ดู หมูเถื่อนยังอยู่ครบ หรือมีการขนย้ายกันออกไปบ้างแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ข้อซักถามผมในประเด็นนี้”

นายมานะพันธ์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เท่าที่ทราบมีข่าวว่า หมูเถื่อนไม่ได้ขนมาขึ้นเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง แต่กระจายไปขึ้นยังท่าเรืออื่น ๆ และกระจายไปฝากแช่เย็นแช่แข็งในห้องเย็นต่าง ๆ หลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร รวมถึงการขนส่งขึ้นมาจากจังหวัดในภาคใต้ หลังจากนั้นถูกนำมากระจายไปวางขายให้ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารทั่วไป โรงงานแปรรูป รวมถึงตลาดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นตลาดขายส่ง

โดยมีการนำมาแกะกล่อง ตัดแต่ง เช่น ทำเป็นหมูสไลซ์ ส่งขายต่อ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ทำงานเชิงรุกกระจายกันเข้าไปตรวจสอบตามห้องเย็นต่าง ๆ

“พอบอกให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจ เจ้าหน้าที่บอกว่า ให้คนเลี้ยงหมูแจ้งเบาะแสมา เราคนทำมาหากินไม่มีเวลาจะไปสืบเสาะ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเชิงรุก อย่างท่าเรือคลองเตยยังไม่เคยไปตรวจสอบจะมีหมูเถื่อนเข้ามาบ้างหรือไม่

ตอนนี้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขายกัน 60 กว่าบาท/กก. โดยราคาลงมา 3 สัปดาห์ต่อเนื่องแล้ว ขณะที่ต้นทุนผู้เลี้ยงรายย่อยอยที่ 95-96 บาท/กก. และมีแนวโน้มลงต่อเนื่องหากยังมีหมูเถื่อนออกมาเต็มท้องตลาดอย่างนี้ ผู้เลี้ยงรายย่อยคงค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป และหมูเถื่อนที่เข้ามาต่างประเทศเลี้ยงกันใส่สารเร่งเนื้อแดง และอาจมีโรคติดต่ออื่น ๆ ติดมาด้วย ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายต่อผู้บริโภคด้วย”

หมูเถื่อน

สงวนชื่อ 11 บริษัทผู้ต้องสงสัย

พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตอนนี้ทางกรมต้องดำเนินกระบวนการกับพนักงานสอบสวน ตามข้อมูลตอนนี้มีรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวกับข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ รวม 11 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบการกิจการโลจิสติกส์และการขนส่ง แบบถูกกฎหมาย ขอสงวนรายชื่อไว้ก่อน

“ทางเจ้าหน้าที่สอบสวนจะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ว่ามีการว่าจ้างจากกลุ่มใด ในกรณีที่มีสินค้าประเภทใดบ้าง เข้ามาในลักษณะใด ถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย ทางพนักงานสอบสวนจะสืบย้อนกลับไปทั้งหมดของการประกอบกิจการ”

กรณีการดำเนินการคดีผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษ ทางพนักงานสอบสวน DSI พยายามทำเต็มที่จะเห็นว่า DSI รับเรื่องจากสมาคมยังไม่ถึง 1 เดือน  ก็มีการเร่งให้เป็นคดีพิเศษ สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดจำคุก 10 ปี หรือปรับ 4% ของราคาสินค้าบวกอากร หรือทั้งจำคุก ทั้งปรับ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 161 ตู้ ได้มีการขอความร่วมกับสายเรือ หรือเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ จะต้องภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟและค่าพื้นที่

เปลี่ยนท่าเรือลักลอบนำเข้า

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันตกเปิดเผยว่า ตอนนี้เกษตรกรเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ต้องขายหมูที่ไม่มีน้ำหนัก ราคาเหลือ 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งโดยปกติถ้าหมูที่มีน้ำหนัก ราคา 60-65 ต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ทราบมาว่าที่ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างกว่า 1,000 ตู้ ที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ ซึ่งทางผู้เลี้ยงสุกรก็มีความกังวลว่าจะเป็นเนื้อหมูแช่แข่ง และยังมีข้อสัยว่าที่มีการอายัดตู้คอนเทนเนอร์ไว้ทั้งหมด 161 ตู้ หากสินค้ายังอยู่ครบ แต่ราคาหมูในท้องตลาดยังราคาต่ำ

ขณะเดียวกันยังทราบมาอีกว่าตอนนี้ไม่ได้มีการลักลอบนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่นำขึ้นที่ท่าเรืออื่น ๆ โดยเฉพาะโซนมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม และจากการตรวจสอบก่อนหน้านี้พบว่าห้องเย็นจังหวัดนครปฐมพบหมูเถื่อน เป็นแหล่งกระจายสินค้าที่ดีที่สุด เพราะมีพ่อค้าขายส่งเป็นจำนวนมาก รวมถึงโรงเชือด ที่นำหมูเถื่อนมาแปลงเป็นหมูในประเทศ

“เกษตรกรเกิดข้อสงสัยในส่วนของราชการที่ทำงานล่าช้า หมูเถื่อนจะกระจายไปทั่วประเทศไม่ได้ ถ้าหากไม่มีกลุ่มนายทุนใหญ่และพรรคการเมืองร่วมด้วย และถ้าหากเกษตรกรยังขาดทุนต่อเชื่อว่าเกษตรกรรายย่อยจะล้มหายตายจากไป”

หมูเถื่อน

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒน์ชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ ที่ทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้มีการตรวจยึดไว้ มีการอนุมัติให้ทำลายแล้ว 159 ตู้ เหลืออีก 2 ตู้ที่อยู่ในกระบวนการ ตอนนี้เรากำลังตามหาผู้ที่กระทำผิด มูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

และทราบมาว่าไม่มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาที่แหลมฉบัง แต่ไปขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือปากน้ำระนอง และท่าเรือสตูล โดยเฉพาะภาคใต้ มีการขนใส่รถตู้เย็นแล้ววิ่งขึ้นมาที่ภาคกลาง เปลี่ยนแพ็กเกจเป็นหมูไทย ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศไม่ขยับขึ้น เพราะหมูกล่องซื้อง่าย หาง่าย

ครั้งที่แล้วมีการจัดกุมได้ 10 ตัน หลังตรวจสอบพบว่าวิ่งมาจากภาคใต้ มีการออกเอกสารเท็จ เพราะสำแดงเป็นเมล็ดพลาสติก

เร่งรัฐแก้ปัญหาราคาต้นทุน

นายอานัน ไตรเดชาพงศ์ ที่ปรึกษาวิชาการ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 96 บาทต่อกิโลกรัม ที่ผ่านได้มีการประชุมหารือกับทางกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยจะใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เป็นประกาศของคณะกรรมการกลางด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่สามารถประกาศให้ผู้ซื้อ ซื้อสินค้าในราคาต้นทุน ประเด็นที่ต้นทุนสูง จึงเป็นเหตุจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าหมูกล่อง

ในภูมิภาคเอเชีย จีน มีต้นทุนการเลี้ยงหมู อยู่ที่ 75 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนาม 75 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนต่างอยู่ที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มี่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์มีส่วนต่าง 4 บาท ซึ่งราคาที่หน้าโรงอาหารสัตว์ราคา 13 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ 8.5 บาทต่อกิโลกรัม กับกากถั่วเหลือง จะมีการนำเข้าเพื่อมาผลิตเป็นน้ำมันซึ่งราคาจะอิงราคานำเข้า ซึ่งราคาอยู่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันขายอยู่ 21 บาทต่อกิโลกรัม

“ถ้าหากเราไม่มีการเรียกร้องก็คงต้องแบกต้นทุนเพิ่ม 7-8 บาทต่อกิโลกรัม ก็อยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง นี้คือปฐมบทของปัญหาหมูกล่องเพราะเห็นช่องว่างของราคา และก็ติดตามข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดความเสียหายให้กับเกษตรกร”

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ปัญหาหมูเถื่อนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค กระทบต่อผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายกลางและรายย่อย  กรณีราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ สำหรับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่มีการเสนอให้มีการประกาศควบคุมหรือกำหนดราคาขั้นต่ำ คงจะมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องอีกรอบ

ทั้งนี้ เรื่องต้นทุนวัตถุดิบในการเลี้ยงสุกร 40-50% มาจากอาหารสัตว์ ซึ่งกรมเป็นคนดูแลตั้งแต่ต้นทาง ทั้งราคาวัตถุดิบ ตลอดมาจนราคาอาหารสัตว์สำเร็จ ซึ่งราคาวัตถุดิบในปี 2566 สินค้าเกษตรมีราคาที่ดีเกือบทุกรายการ

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 4 ตู้ หลังจากมีการเปิดตู้พบว่าสินค้าที่อยู่ไม่เต็มตู้ กล่องสินค้าวางกระจายไม่เป็นระเบียบ และไม่มีการซีลกล่อง ซึ่งปกติการขนส่งสินค้าจะเต็มตู้คอนเทนเนอร์ และมีการซีลกล่องอย่างดี

ซึ่งการเปิดทั้ง 4 ตู้คอนเทนเนอร์ พบว่าตู้ที่ 1 เป็นชิ้นส่วนเครื่องในหมู (ตับ) ประเทศต้นทางคืออาร์เจนตินา  ตู้ที่ 2 เป็นชิ้นส่วนขาหมู ประเทศต้นทางคือเยอรมนี ประเทศปลายทางคือ จีน ตู้ที่ 3 เป็นหมูสามชั้น  ประเทศต้นทางคือบราซิล และตู้ที่ 4 เป็นสะโพกเนื้อหมู ประเทศต้นทางคือเยอรมนี

หมูเถื่อน

นายภมร ภุมรินทร์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากทางผู้ประกอบเรียกร้องมานาน ตอนนี้หน่วยงานของภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกร และความเสียหายที่ส่งผลต่อประเทศ ก็หวังว่าหน่วยของทางภาครัฐจะให้ความสำคัญตลอดไป

ส่วนเรื่องการทำงานของรัฐก็ยังไม่ชัดเจน เกษตรกรยังไม่ไว้ใจหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้ กรณีตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ ยังมีการโยนกันไปมาระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด 3 หน่วยงาน เพราะว่าการทำลายสินค้าทั้งหมดต้องใช้งบประมาณสูง

“เรื่องหมูเถื่อนน่าจะเข้ามาได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว หลังจากที่การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) เริ่มดีขึ้น แต่สถานการณ์ราคาหมูกลับดิ่งลงเรื่อย ๆ เหลืออยู่กิโลกรัมละ 50 บาท จากต้นทุนการเลี้ยงประมาณ 80-90 บาท”

อนึ่ง สถิติการจับกุมเนื้อสุกรแช่แข็งจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 13 คดี น้ำหนัก 4,655,442 กิโลกรัม มูลค่า 240,549,640 บาท

โดยช่วงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 กรมศุลกากรโดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจค้นห้องเย็นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบเนื้อสุกรแช่แข็ง และไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากรเอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรมาแสดง จำนวน 83,400 กิโลกรัม มูลค่า  5,838,000 บาท

และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรสะเดาร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 ได้ทำการตรวจค้นบริเวณลานขนถ่ายสินค้า จังหวัดสงขลา พบรถต้องสงสัยกำลังมีการขนถ่ายสินค้าจึงขอตรวจค้น พบเนื้อสุกรแช่แข็งมีถิ่นกำเนิดประเทศบราซิล โดยไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากรเอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรมาแสดง  น้ำหนัก 30,000 กิโลกรัม มูลค่า 4,290,000 บาท

รวมถึงการเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งกรมศุลกากรได้ทำการทยอยเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างเรื่อยมา จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2566 ได้ทำการตรวจตู้คอนเทนเนอร์ไปทั้งสิ้น จำนวน 220 ตู้

เมื่อเปิดตรวจพบว่าเป็นสินค้าประเภทสุกรจำนวน 161 ตู้ น้ำหนัก 4.50 ล้านกิโลกรัม และสินค้าประเภทเนื้อสัตว์อื่น ๆ จำนวน 59 ตู้ น้ำหนัก 1,650,000 กิโลกรัม และส่งมอบบางส่วนให้กรมปศุสัตว์นำไปทำลายแล้วจำนวน 13 ตู้ ทั้งนี้ คิดเป็นเนื้อสุกรแช่แข็ง น้ำหนัก 4,500,000 กิโลกรัม มูลค่า 225,000,000 บาท

 

หมูเถื่อน

หมูเถื่อน

หมูเถื่อน

หมูเถื่อน

หมูเถื่อน

หมูเถื่อน

หมูเถื่อน