มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดตัว “builds” ปั้นสตาร์ตอัพนักศึกษา 4,200 ราย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดตัว โปรแกรม builds

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดตัวโปรแกรม builds (CMU Startup & Entrepreneurial Platform) ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) ปั้นสตาร์ตอัพนักศึกษา 4,200 ราย แห่งแรกในประเทศ

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม หนึ่งในเป้าหมายของมหาวิทยาลัย คือการสร้างผลกระทบทางเศษฐกิจของประเทศไทย 60,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยก้าวสำคัญในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ คือ ความมุ่งมั่นในการผลักดันสตาร์ตอัพ ที่มีรากฐานจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัย โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำงานวิจัยหรือเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยมาสร้างเป็นธุรกิจผ่านการ Spin-off ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือของประเทศไทย

เหตุผลสำคัญ 4 ประการ ในการผลักดันให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.ช่วยสร้างทักษะของผู้ประกอบการที่จำเป็นในอนาคต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะมีทักษะความรู้เชิงลึกในด้านความเป็นผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนในด้านต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือการบริหารจัดการ 2.เพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Tech Spin-off จาก มช. โดยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและงานวิจัย ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยมาสร้างธุรกิจในรูปแบบของสตาร์ตอัพ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและสามารถที่จะสร้างมูลค่าสูงได้

3.เกิดการจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงาน เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม โปรแกรมเมอร์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะสร้างโอกาสโดยการเพิ่มศักยภาพและทักษะแล้ว ยังช่วยให้มีงานรองรับในภูมิภาค ทำให้มีโอกาสทำงานในภูมิลำเนา โดยไม่ต้องจากครอบครัวไปทำงานที่ส่วนกลางหรือในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว

4.เป็นเครื่องมือช่วยเร่งการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น การผลักดันธุรกิจสตาร์ตอัพ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเร่งการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ทำให้เกิดธุรกิจ การจ้างงาน การสร้างรายได้ ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การผลักดันมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการนั้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่มหาวิทยาลัย สร้างทักษะและองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาในด้านการเป็นผู้ประกอบการ ยังเป็นการสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมอย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดตัว โปรแกรม builds

ทั้งนี้ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายและความท้าทายว่า ภายในปี 2569 โปรแกรม builds จะสามารถสร้างนักศึกษาที่สนใจการสร้างสตาร์ตอัพ และความเป็นผู้ประกอบการได้มากกว่า 4,200 คน เกิดทีมนักศึกษาที่เริ่มสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจไม่น้อยกว่า 600 ทีม นำไปสู่การตั้งธุรกิจสตาร์ตอัพไม่น้อยกว่า 240 บริษัท เกิดการจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่มากกว่า 3,600 ตำแหน่ง สร้างรายได้มากกว่า 4,500 ล้านบาท และทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือเติบโตขึ้นอีกราว 8,100 ล้านบาท

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านการบริหารนวัตกรรม กล่าวว่า การเปิดตัวโปรแกรม builds ซึ่งเป็นโปรแกรมการสร้างสตาร์ตอัพและความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนี้ มุ่งหวังที่จะสร้างกลไกการสนับสนุนและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพและความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษาอย่างครบวงจร

โดยโปรแกรม builds จะมีการทำงานผ่าน 5 องค์ประกอบ อันได้แก่ 1.Entrepreneurial Course Plug in การจัดทำหลักสูตรผู้ประกอบการ ที่เป็นวิชาสำหรับนักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 2.Education Sandbox การสร้างธุรกิจและสามารถแลกเป็นหน่วยกิตสำหรับการจบการศึกษาได้ 3.Incubation Program โปรแกรมการบ่มเพาะและการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ 4.Startup Club คอมมิวนิตี้ของการสร้างสตาร์ตอัพจากนักศึกษาในหลากหลายคณะ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ และเฟ้นหาเพื่อนร่วมทีมในการจัดตั้งบริษัท

5.Financial Support Mechanism กลไกการสนับสนุนเงินลงทุนในการสร้างธุรกิจ โดยองค์ประกอบทั้ง 5 จะเป็นกลไกสำคัญที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาทุกชั้นปี สามารถจัดตั้งและดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัพควบคู่ไปกับการเรียนแบบปกติอย่างราบรื่น

อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของโปรแกรม builds คือ ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการนำหลักสูตรออนไลน์ของ LiVE Platform มาใช้ให้ความรู้กับนักศึกษา และเมื่อนักศึกษาเรียนหลักสูตรที่ถูกคัดเลือกมาจนจบ จะสามารถนำไปนับเป็นหน่วยกิตได้ ซึ่ง มช. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยที่นำเอาหลักสูตรออนไลน์ของ LiVE Platform มาผนวกร่วมกับวิชาในมหาวิทยาลัยจนได้หน่วยกิตในการสำเร็จการศึกษา

นอกจากนั้น ในปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป จะมีการกำหนดให้ความรู้ด้านผู้ประกอบการ เป็นความรู้พื้นฐานทั่วไปที่นักศึกษา มช.ทุกคนต้องเรียนรู้ อีกทั้งจะมีการผลักดันให้เกิดวิชาโท (Minor) ด้านความเป็นผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบ