ผู้ว่าฯอยุธยา แจ้งเตือนรับมือสถานการณ์น้ำ หลังกรมชลฯสั่งระบายเพิ่ม

อยุธยาน้ำท่วม เตรียมรับมือกรมชลฯปล่อยน้ำเพิ่ม

ผู้ว่าฯอยุธยา ออกหนังสือด่วนที่สุด ให้ทุกอำเภอเตือนผู้ประกอบการ-ร้านค้า-ประชาชน ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำน้อย เตรียมรับมือ ทำเขื่อนป้องกัน หลังกรมชลฯ แจ้งระบายน้ำท้ายเขื่อนเป็น 1,500-1,800 ลบ.ม./วินาที ช่วงวันที่ 9-15 ต.ค.

วันที่ 8 ตุลาคม 2566 นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ตามประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำล้นตสิ่ง ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ทำให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น

โดยคาดการณ์ในช่วงวันที่ 8-11 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้น้ำลันตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ในช่วงวันที่ 9-15 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั้น

กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,800-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง และลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 200-300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 2,000-2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งประมาณ 350-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีความจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.20-0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงขอให้นายอำเภอทุกอำเภอ นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา และนายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง ประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด