กรมอุตุฯ จับตาหย่อมความกดอากาศ 2 ลูกใหม่ คาดทวีกำลังขึ้นเป็น”พายุ”

กรมอุตุฯจับตาหย่อมความกดอากาศ 2 ลุกใหม่
ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุฯจับตาหย่อมความกดอากาศ 2 ลูกใหม่ คาดทวีกำลังแรงขึ้นเป็น “พายุ” และจะเคลื่อนผ่านฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ 12-15 ต.ค. เผยยังอยู่ห่างจากไทย อย่าตื่นตระหนก แต่ต้องติดตามเป็นระยะ เตือน 24 ชั่วโมงข้างหน้าไทยยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือและภาคอีสานเฉลี่ย 80% ของพื้นที่ ส่วนภาคกลางและกทม.ฝนฝนเฉลี่ย 70%ของพื้นที่

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานการติดตามสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน เช้าวันนี้ (7/10/66) ว่า พายุไต้ฝุ่น”โคอินุ (KOINU)” ล่าสุดศูนย์กลางพายุยังอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ยังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ตามแนวชายฝั่งของประเทศจีน เนื่องจากพายุยังอยู่ในทะเลจึงยังไม่สลายตัว แต่วงรอบหรือขอบเขตของพายุเริ่มเล็กลง

พายุนี้มีโอกาสเคลื่อนตัวมายังเกาะไหหลำและจะอ่อนกำลังลง เมื่อมาปะทะกับมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมา คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย

และขณะนี้ยังต้องติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุและเคลื่อนตัวผ่านฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ช่วงวันที่ 12 – 15 ต.ค.66 ยังอยู่ห่างจากประเทศไทยมาก ติดตามเป็นระยะๆ อย่าได้ตื่นตระหนก ประเมินเบื้องต้นยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมากีดขวาง ทำให้พายุเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า

สำหรับ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ลักษณะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้

สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค. 66 ซึ่งจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปสชันตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางไว้ด้วย

พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 7-8 ตุลาคม 2566

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 00:00 น. วันนี้ ถึง 00:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. (ออกประกาศ 08 ตุลาคม 2566)

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของประเทศ กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก 2 ลูก(ด้านขวาสุด)
อธิบายภาพ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของประเทศ กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก 2 ลูก(ด้านขวาสุด)