กรมอุตุฯอัพเดตพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” เตือนไทยยังมีฝนเพิ่มช่วง 6-12 ต.ค.

เส้นทางพายุไต้ฝุ่น
เส้นทางพายุไต้ฝุ่น"โคอินุ (KOINU)" ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุฯอัพเดตสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ (KOINU)” คาดมุ่งหน้าทางตอนใต้เกาะไต้หวัน 5 ต.ค. ก่อนไปต่อที่จีนและฮ่องกง ส่วนไทยยังมีฝนเพิ่มขึ้นบ้าง ช่วง 6-12 ต.ค. จากอิทธิพลของร่องมรสุม เผยเริ่มเข้าใกล้ช่วงปลายฝนต้นหนาว ภาคเหนือ อีสานตอนบน เริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุมบ้าง

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาอัพเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกเช้าวันนี้ (3/10/66) ว่า พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ (KOINU)” กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ มุ่งไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ช่วงวันที่  5 กันยายน 2566

จากนั้นจะเคลื่อนตัวต่อไปยังด้านตะวันออกของประเทศจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง และฮ่องกง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีก จะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพอากาศของประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ทำให้พายุอ่อนกำลังลงในช่วงดังกล่าว

เส้นทาง พายุไต้ฝุ่น "โคอินุ (KOINU)"

ส่วนฝนที่จะเกิดขึ้นมาจากร่องมรสุมที่ยังพาดผ่านประเทศไทย หย่อมความกดอากาศต่ำ และลมพัดเข้าสู่พายุ ยังต้องติดตามเป็นระยะ ไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

 เส้นทางพายุไต้ฝุ่น "โคอินุ (KOINU)"
เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ (KOINU)”

สำหรับการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 3-12 ตุลาคม 2566 อัพเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ว่า ในช่วงวันที่ 3-5 ตุลาคม 2566 ทิศทางลมยังแปรปรวน หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ

อากาศผิวพื้น
อธิบายภาพ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนล่าง และกัมพูชา

โดยต้องระวังฝนหนักบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง (กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออกและภาคใต้ ในช่วง 1-2 วันนี้ คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลางโดยเฉพาะทะเลอันดามัน คลื่นสูง 1-2 เมตร

ส่วนวันที่ 6-12 ตุลาคม 2566 ร่องมรสุมจะสะวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นบ้าง และตกหนักบางแห่ง ระยะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความแปรปรวนสูง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุมแล้ว

มวลอากาศเย็น
ภาพ : ORAPIN WACHANGNGOEN