“จันท์ค้านเลิกมติ ครม.” 7 เม.ย. 52 ผันน้ำอุ้ม EEC-เมินสวนทุเรียนแสนล้าน

ผันน้ำ

ตั้งแต่ช่วงต้นปีหลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรมชลประทานจึงวางแผนผันน้ำจากจ.จันทบุรี มาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำในอีอีซี

แต่ติดปัญหาความขัดแย้งระหว่างอีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ทำให้ผันน้ำไม่ได้ตามแผน

ขณะเดียวกันการผันน้ำจากจันทบุรี มาอีอีซี กรมชลประทานไม่สามารถทำได้ทันที เพราะมีมติ ครม. 7 เมษายน 2552 บังคับต้องสร้างอ่างเก็บน้ำในจันทบุรี ให้เสร็จ 4 อ่าง ถึงจะผันน้ำไปได้ แต่วันนี้สร้างเสร็จเพียง 3 อ่าง ดังนั้นรายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข้อสรุปให้ “ปลดล็อก” มติ ครม. 7 เมษายน 2552 ซึ่งได้เกิดเสียงคัดค้านจากคนในจังหวัดจันทบุรี เพราะเกรงจะไม่ได้สร้าง “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด”

ผศ.เจริญ ปิยารมย์ รองประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เครือข่ายลุ่มน้ำวังโตนด องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาเกษตรกร จ.จันทบุรี สมาชิกสภา จ.จันทบุรี สมาคมทุเรียนไทย

ได้เตรียมยื่นหนังสือยืนยันเจตนารมณ์ คัดค้านการยกเลิกมติ ครม. 7 เมษายน 2552 ต่อนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นี้

รวมถึงเตรียมส่งถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดค้านการยกเลิกมติ ครม.วันที่ 7 เม.ย. 2552 ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี

โดยมองข้ามความสำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วยชาวบ้านที่ต้องอาศัยประโยชน์จากน้ำ ภาคเกษตรกรรมที่ทำรายได้ปีละกว่า 100,000 ล้านบาท จากการส่งออกผลไม้

โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด แทนที่รัฐบาลจะเร่งรัดการก่อสร้างอ่างคลองวังโตนดให้แล้วเสร็จ จะทำให้มีปริมาณน้ำ 4 อ่าง รวมกันถึง 310 ล้าน ลบ.ม. จะช่วยได้ทั้งในจังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ EECเป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำที่ชัดเจน

มติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2552 เกิดขึ้นจากแม่น้ำวังโตนดประสบปัญหาขาดน้ำในฤดูแล้งทุกปี เกษตรกรสวนผลไม้เดือดร้อน กรมชลประทานได้ศึกษาพบว่า ต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำวังโตนดสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำได้ 4 อ่าง จะเก็บกักน้ำได้ถึง 310 ล้าน ลบ.ม.

ผันน้ำ

ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 อนุมัติให้สร้าง 3 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และมีข้อต่อรองให้สร้างอีก 1 อ่างก่อน คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด รวมเป็น 4 อ่าง

ปัจจุบัน 3 อ่างก่อสร้างไปแล้ว โดยอ่างเก็บน้ำคลองประแกต สร้างเสร็จไป 1แห่ง , อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว จะแล้วเสร็จปี 2567 แต่ตอนนี้เริ่มกักน้ำได้แล้ว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่กำลังก่อสร้าง เหลือเพียง “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” ที่ยังไม่ได้สร้าง ต้องรอการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยหลักการ 4 ข้อ ในการผันน้ำจากแม่น้ำวังโตนดไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ ดังนี้ 1) เป็นไปตามมติ ครม. 7 เมษายน 2552 คือ ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำครบ 3 แห่ง พร้อมทั้งระบบฝายทดน้ำ 2) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำการผันน้ำจากแม่น้ำวังโตนดไปอ่างเก็บน้ำประแสร์

3) การผันน้ำต้องไม่กระทบกับการใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำวังโตนด และการกระจายน้ำไปช่วยเหลือลุ่มน้ำอื่นในจังหวัดจันทบุรี และ 4) การผันน้ำต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561

“โดยข้อเท็จจริงการผันน้ำลุ่มน้ำวังโตนดไปอ่างประแสร์ แม้ว่ายังไม่ได้สร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดให้ครบ ตามมติ ครม. แต่เมื่อเกิดวิกฤตภัยแล้งปี 2563 ปริมาณน้ำในอีอีซีไม่เพียงพอได้ผันน้ำไปช่วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ 10 ล้าน ลบ.ม.

โดยคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางแบ่งปันน้ำลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC เมื่อวันที่ 26 ก.ย.-10 ต.ค. 66 ได้ผันน้ำไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จำนวน 5.657 ล้าน ลบ. ม. และ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ระบุว่า ถึงภาวะวิกฤตจะมีการปันน้ำได้ แต่อยู่บนพื้นฐานความชอบธรรมของพื้นที่ การตกลงปันน้ำที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ

แต่เจ้าหน้าที่อาจเห็นว่าเสียเวลาจึงกล่าวอ้างว่า อาจจะมีการฟ้องร้องว่าขัดมติ ครม. จึงให้ยกเลิกมติ ครม. โดยไม่มองผลกระทบต่อกลุ่มภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ หรือต้องการยกเลิกการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” ผศ.เจริญกล่าว

นายไวกูณฐ์ เทียนทอง เลขาธิการกลุ่มวังโตนด คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออกและเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จันทบุรีมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องสร้างระบบกระจายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำก่อน

โดยเฉพาะการใช้น้ำในฤดูแล้งอย่างไม่ขาดแคลน เพื่อสร้างความชอบธรรมในพื้นที่ก่อนที่จะผันน้ำไป จ.ระยอง ทุกวันนี้การส่งน้ำระบบเส้นท่อยังไม่ครอบคลุม อ.แก่งหางแมวน่าจะไม่ถึง 10%

เนื่องจากติดขัดปัญหาที่ดินที่ไม่มีโฉนด กรมชลประทานไม่สามารถของบประมาณเส้นท่อส่งน้ำได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุน คนจันทบุรีบางคนไม่เข้าใจคิดว่าสูบปันน้ำไประยอง คนจันทบุรีไม่ได้ใช้น้ำ

“ภาคเกษตรจันทบุรีมีความสำคัญเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ EEC ที่จะสำรองน้ำไว้ หากการจัดทำระบบน้ำเส้นท่อ เครือข่ายภาคเกษตรกรรมสมบูรณ์ขึ้น ปริมาณความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก บางพื้นที่เพิ่มขึ้น 100% รวมทั้งน้ำอุปโภค บริโภค การผลักดันให้อ่างเก็บน้ำวังโตนดได้ก่อสร้างต้องรีบทำ ก่อนที่ผลการศึกษา EHIA จะหมดอายุ ที่ดินที่สร้างอ่างบริเวณป่าสงวนฯราคาพุ่งขึ้นไร่ละไม่ถึง 100,000 บาท เป็น 400,000-500,000 บาท ทำให้มีการเจรจาต่อรองกับชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยยากขึ้น”