เกษตรกรจี้ทบทวน เก็บภาษีที่ดิน “ไม้ยืนต้น”

สวนยาง

เกษตรกรฝุ่นตลบ ปมจัดเก็บภาษีที่ดินต้องปลูกต้นไม้ตามประกาศกระทรวงการคลัง-มหาดไทย ชี้ที่ดินสวนยางหลายแห่งตั้งในเขตเมือง ราคาที่ดินแพง ทั้งระยอง-กระบี่-พังงา หวั่นเสียภาษีมหาศาล ด้านเกษตรกรไร่นาสวนผสมกระอัก ไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ตามข้อกำหนด เล็งทำหนังสือร้องผู้ว่าฯจันทบุรีชงรัฐทบทวน

นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.จันทบุรีและอดีตประธานสภาเกษตร จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ วุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.จันทบุรี จะเสนอเรื่องไปยัง ผวจ.จันทบุรี และเสนอาสาธนาคารสมอง ภาคตะวันออก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และไม่เห็นด้วยที่เกษตรกรรายเล็กถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นความเหลื่อมล้ำ

นายธีระยังแสดงความเห็นด้วยว่า แนวความคิดจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อไม่ให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ภาครัฐยังใช้แนวคิดแบบเดิม ๆ ที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้การช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัย เมื่อพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิง เพื่อจัดเงินช่วยเหลือให้ ตัวอย่างจากกำหนดอัตราขั้นต่ำการปลูกทุเรียน 20 ต้น/ไร่ ยางพารา 80 ต้น/ไร่

ซึ่งต้องเป็นความเสียหายทั้งหมดจึงจะได้เงินชดเชย เมื่อนำมาใช้กับการจัดเก็บภาษีที่ดินขั้นต่ำ กลับมีความขัดแย้งกันเองของนโยบายรัฐ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำโคก หนอง นา เกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่นาสวนผสม เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรยั่งยืน ซึ่งการทำการเกษตรต้องแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน มีแหล่งน้ำ และพื้นที่ที่ต้องปลูกพืชแบบผสมผสาน มีทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ เพื่อลดความเสี่ยง

การจัดเก็บภาษีตามกำหนดใน จ.จันทบุรี ชนิดพืช/ไร่ แปลงใหญ่ เป็นพืชเชิงเดี่ยวกับเกษตรกรรายย่อย ที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน มีอัตรา 50 : 50 หากให้ยุติธรรมต้องแยกการจัดเก็บภาษี 2 ประเภท คือ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าของนายทุน ที่ปลูกโดยไม่ดูแล ไม่หวังผลทางเศรษฐกิจ ควรจัดเก็บในอัตราภาษีก้าวหน้า และประเภทเกษตรกรรายย่อย ที่ปลูกพืชผสมผสาน เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจเป็นอาชีพ

และพื้นที่โคกหนองนาโมเดล ไม่สามารถปลูกพืชตามกำหนดที่จะเสียภาษีขั้นต่ำได้ ตัวอย่างที่ดิน 16 ไร่ จะปลูกทุเรียนได้เพียง 50 ต้นเท่านั้น (ที่กำหนด 20 ต้น/ไร่ ต้องปลูก 360 ต้น) ซึ่งต้องเสียเพิ่มอีกอัตราหนึ่ง เกษตรกรจริง ๆ จะไม่ได้รับความเป็นธรรม

“จริง ๆ ภาครัฐต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ก่อนออกประกาศใช้กฎหมายนี้ และมอบอำนาจให้ท้องถิ่นรวบรวมข้อมูลที่สำรวจและจัดเก็บตามสภาพความเป็นจริง เพราะอยู่ในพื้นที่จัดเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน ที่ดินที่เป็นที่รกร้างของนายทุน ทำการเกษตรแบบหวังลดภาษีไม่สามารถแจ้งเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้ ควรมีการจัดทำรายได้เพื่อป้องกันการทำการเกษตรแบบแอบแฝง และที่ดินของเกษตรกรที่รับสืบทอดมรดกเพื่อทำการเกษตรแบบพออยู่พอกินทำเกษตรจริง ๆ ตอนนี้แม้แต่การประชาสัมพันธ์ภาครัฐสื่อสารไม่ทั่วถึง องค์กรภาคเกษตร ภาคเอกชน ท้องถิ่น เกษตรกรทั่วไป ทราบข่าวน้อยมาก” นายธีระกล่าว

เช่นเดียวกับนายเรือง ศรีนาราง ประธานสภาเกษตร จ.ตราด กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการกำหนดชนิด จำนวนพืชที่ปลูกเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราขั้นต่ำ จากอาชีพทำสวนทุเรียน ผลผลิตบางปีมีมาก บางปีเจอภัยธรรมชาติผลผลิตมีน้อย และกรณีทุเรียนเป็นพืชยืนต้นอายุยืน 20-60 ปี การเว้นระยะห่างจะช่วยให้ต้นแบกรับน้ำหนักได้ดีกว่า เกษตรกรที่มีที่ดินมากจะเว้นระยะห่างมาก และการเสียภาษี ปกติเกษตรกรจะเสียภาษีที่ดินที่ อบต.อยู่แล้ว

แต่ระยะหลังมีการเรียกเก็บจากสรรพากรแบบเหมาจ่ายเพิ่มขึ้น โดยที่หลักเกณฑ์ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกร 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด จะมีการปรึกษาหารือในประกาศฉบับนี้ให้มีความชัดเจนก่อน

นายณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะได้ไม่เต็ม 100% เช่น ทุเรียน 1 ไร่ ปลูก 20-25 ต้น ทุกวันนี้เหลือไม่กี่ต้น บางรายปลูก 10 ไร่ เหลือ 5 ไร่ และราคาพืชผลแต่ละชนิดไม่เท่ากัน การเก็บภาษีแบบเหมารวมเป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ในเรื่องนี้จะนำเสนอหารือในสภาเกษตรกร จ.จันทบุรี เดือนธันวาคม และจะผลักดันเป็นมติที่ประชุมสภาเกษตรกร 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด เพื่อเสนอสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไป

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีต้นยาง 80 ต้น/ไร่ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) ทำให้ชาวสวนยางมีการตื่นตัวไปทั่วประเทศ และได้ตอบรับมายังตนถึง 40,000-50,000 ราย เพราะสวนยางส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกครบ 80 ต้นต่อไร่ ที่สำคัญตอนนี้ที่ดินสวนยางส่วนใหญ่ทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกอยู่ในเขตเมืองราคาจะสูงมาก

โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น จ.ระยอง ราคาประเมินเฉลี่ย 1 ล้านบาท/ไร่ และถึง 2 ล้านบาท/ไร่ และราคาซื้อขาย 3-4 ล้านบาท/ไร่ รวมถึง จ.กระบี่และพังงา ราคาที่ดินราคาสูงมากเช่นกัน การเสียภาษีต้นยาง 80 ต้น/ไร่ ร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี และถ้าไม่ครบ 80 ต้น/ไร่ ก็ต้องเสียภาษีร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี จะเสียภาษีสูงมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย และ พ.ต.ท.สังวาลย์ ยังดี ดร.วัฒนา บันเทิงสุข ได้ยื่นศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ในคดี 1.คดีการไต่สวนฉุกเฉินในการปลูกยาง 80 ต้น/ไร่ ขัด พ.ร.บ.กยท.มาตรา 4 ซึ่ง 25 ต้น/ไร่ และ 2.คดีการยางแห่งประเทศไทย ออกระเบียบขัดสิทธิประโยชน์ของสมาคมตาม พ.ร.บ.กยท.มาตรา 4 ประเด็นคำฟ้องคดีปกครองขอให้เพิกถอน ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลปกครองระยองได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กรณีระหว่างสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย ที่ 1 และนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ที่ 2 ผู้ฟ้องคดี และกระทรวงการคลัง ที่ 1 และกระทรวงมหาดไทย ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรสวนยางและพืชอื่น เกี่ยวกับการเก็บภาษีที่ดินแล้ว ขณะนี้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลและแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด