นบข. ไม่ขัด 4 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เห็นชอบชะลอขายข้าว

เกษตรกร

นบข. เผยไม่ขัดข้องข้อเสนอ 4 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมเห็นชอบมาตรการชะลอการข้าวเปลือก โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่ง มอบหมายกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ให้สินเชื่อ การช่วยเหลือในการเก็บสต็อกข้าว และการใช้จ่ายงบประมาณ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า และการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าว ผลผลิตต่อไร่ ราคาข้าว การช่วยเหลือเกษตรกร

ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการใช้งบประมาณไปอุดหนุนก็จะต้องระมัดระวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ 4 มาตรการ ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ปีการผลิต 2566/2567 วงเงิน 69,043.03 ล้านบาท เข้าที่ประชุม นบข. พิจารณา ได้แก่

4 มาตรการเสนอ นบข.

1) มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท อยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณ ภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 56,321 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้ เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือนช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ช่วงเวลาการจ่าย 1 พ.ย.66 – 30 ก.ย. 2567

ทั้งนี้ การจ่ายเงินนั้นจะเริ่มดำเนินการหลังจากที่ประชุมครม. และคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมติเห็นชอบ และให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการฯ ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567 ต่อไป

2) โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67วงเงิน 10,120 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและได้ราคาต่ำกว่าตลาด โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1 – 5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 2,120 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตไว้เป็นระยะเวลา 2 – 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2 – 6 เดือน

4) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 481 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา 4 มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ในการพยุงราคาข้าวที่ผลผลิตกำลังจะออก แต่ด้วยสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่ประชุมให้มีการปรับมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ พร้อมทั้ง มอบหมายให้มีการประชุม นบข.ทุกเดือน

โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เฝ้าติดตาม สถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดแม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้น

โดยในส่วนที่ เคยมีมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบโรงสีข้าวช่วยซื้อข้าวเก็บสต๊อก ในช่วงเวลา 5 เดือน โดยเปลี่ยนเป็นให้สหกรณ์การเกษตร 4,000 แห่ง เป็นผู้ดำเนินการแทน ในการซื้อข้าวจากเกษตรกร มาเก็บในสต็อก

แต่จากการตรวจสอบมีสหกรณ์การเกษตร 600 ที่แอคทีฟและแข็งแรง ที่พร้อมจะดำเนินการแทน
และที่ประชุม ได้ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปหารือกับธนาคารกรุงไทย ช่วยขยายวงเงินสินเชื่อ ให้กับโรงสีข้าวที่เป็นลูกค้าเก่า เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนหลังจากที่ถูกตัดวงเงินสินเชื่อไปในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวได้มอบหมายให้กรมการข้าว ไปเร่งวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ที่มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของตลาดรวมทั้ง มี ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

สำหรับมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาทนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานหลักที่ดูแล เช่นกระทรวงเกษตร, กระทรวงพาณิชย์ และ ธกส. ไปพิจารณาหามาตรการที่จะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร

แต่หากมีปัญหาอะไรพลิกผัน สามารถที่จะจัดประชุม นบข. ที่จะออกมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาได้ทันที เพื่อให้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยรัฐบาลต้องการให้ใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรมาร่วมดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ และคาดว่า เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ ราคาข้าวหอมมะลิจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนการวางมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหา ได้มอบหมายให้กรมการข้าว ไปวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อช่วยชาวนา เพิ่มปริมาณข้าวต่อไร่ และยกระดับพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับที่ตลาดโลกต้องการ

รายงานข่าวจากที่ประชุม ระบุว่า มาตรการทั้ง 4 ข้อ ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก รวมทั้งมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ที่ประชุมมองว่าให้ไปปรับปรุงมาตรการ และนำมาเสนอให้ที่ประชุม นบข.ใหม่อีกครั้งที่จะมีการประชุมในเดือนถัดไป พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ เพื่อดูแลการบริหารจัดการข้าวให้ดีด้วย

เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ

1) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการและมาตรการในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการผลิตข้าวและชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข.

เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

2) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดผลดีต่อระบบการค้าข้าวโดยรวม

เสนอแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการตลาด รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงาน โครงการ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

3) คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ติดตาม กำกับดูแล แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและการตลาดข้าวในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พิจารณาคัดเลือกและอนุมัติผู้ประกอบการค้าข้าว ที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก

“สำหรับเรื่องการปรับเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่เป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. เพื่อพิจารณาต่อไป”

ไฟเขียวมาตรการชะลอขาย

ทั้งนี้  นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุม นบข.ได้พิจารณามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 มาตรการแล้ว

และไม่ได้ขัดข้องในหลักการและวัตถุประสงค์ในการเก็บสต็อกและเร่งรับซื้อเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกร ที่ผลผลิตกำลังจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 นี้

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้ ได้เห็นชอบวิธีการในการดำเนินมาตรการชะลอการข้าวเปลือก โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่ง โดยมอบหมายกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยพิจารณารายละเอียดการให้สินเชื่อ การช่วยเหลือในการเก็บสต็อกข้าว และการใช้จ่ายงบประมาณ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ส่วนมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยใช้กลไกสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรช่วยเร่งรับซื้อข้าวเปลือกที่กำลังจะออกสู่ตลาดในขณะนี้ เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. พิจารณารายละเอียดวิธีการให้สินเชื่อและการช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยแก่สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร และการใช้จ่ายงบประมาณ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ มอบหมายกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและเงื่อนไขการให้สินเชื่อประกอบการรับซื้อ เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้สามารถเร่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร นบข. มีความเห็นว่า เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวยังมีเสถียรภาพและคาดว่าการดำเนินมาตรการชะลอการขายและมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร จะสามารถช่วยรักษาระดับราคาในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากได้ จึงกำหนดให้มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. ต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาลจำนวน 7 โครงการ จากสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 เป็นจนกว่าคดีจะสิ้นสุดในชั้นศาล เนื่องจาก อคส. และ อ.ต.ก. ยังมีภาระทางคดีและการระบายข้าวยังไม่สิ้นสุด และมอบหมาย อคส. เร่งรัดดำเนินการระบายข้าวคงเหลือในคลังกลางของรัฐให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2567 ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งรัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ รวมทั้งมอบหมาย อคส. และ อ.ต.ก. รายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีรวมทั้งการดำเนินการทางกฎหมาย ให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. ทราบเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงาน นบข.