กฟผ.บินถกบริษัทไฟฟ้าลาว จับมือผลิตไฮโดรเจนป้อนไทย

กฟผ.
โรงไฟฟ้ากระบี่ ของ กฟผ.

กฟผ.บินเจรจารัฐวิสาหกิจผลิตไฟฟ้าลาว ทำโครงการผลิตไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง โดยจะผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นกรีนไฮโดรเจน รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาด ตามแผนพลังงานแห่งชาติ กลุ่มอุตฯเหล็กสนใจซื้อไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง หนีมาตรการ CBAM เก็บภาษีคาร์บอนของยุโรปที่จะเริ่มบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กฟผ.ดำเนินการเรื่องพลังงานไฮโดรเจนตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับล่าสุด (ระหว่างปี 2023-2037) ซึ่งมีแผนจะให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นกำหนดสัดส่วนการใช้ก๊าซไฮโดรเจนประมาณ 5% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมดในปี 2574

ทั้งนี้ เป็นการปรับลดการใช้ก๊าซไฮโดรเจน จากเดิมจะกำหนด 20% ลดเหลือ 5% ก่อนในเบื้องต้น เนื่องจากการผลิตยังมีราคาสูง แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย ทางกระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากหากกำหนดที่ 20% จะไปกระทบกับค่าไฟฟ้าได้

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์

นายนิทัศน์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ กฟผ.มีโครงการนำร่องเรื่องการผลิตก๊าซไฮโดรเจนอยู่หลายโครงการ โดยล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างการบินไปเจรจากับทางรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ของ สปป.ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือกันและศึกษา โดยจะนำไฟฟ้าสะอาดจากฝั่ง สปป.ลาวที่เหลือใช้อยู่มาผลิตไฮโดรเจน โดยทาง EDL ก็สนใจจะทำไฮโดรเจน

แต่ปัญหาของลาวคือ โรงงานที่มีความต้องการใช้ไฮโดรเจนไม่อยู่ที่ลาว เพราะโรงงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออก ดังนั้น เป็นการดีถ้า 2 ประเทศนี้มีความร่วมมือกันในการศึกษา และสามารถที่จะสร้าง ecosystem หรือ value chain โดยทางฝั่งลาวผลิตพลังงานหมุนเวียน และมาทำไฮโดรเจนที่ฝั่งไทย ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานที่มีความต้องการใช้ไฮโดรเจน และขณะเดียวกันสามารถส่งออกไฮโดรเจนไปขายให้สิงคโปร์และญี่ปุ่นได้

Advertisment

นอกจากนี้ กฟผ.กำลังเสนอกระทรวงพลังงาน จะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ที่โรงงานไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อเป็นการทดลองและนำร่องอยู่ เช่น โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นต้น

นายนิทัศน์กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กฟผ.ได้รับทุนสนับสนุนโครงการศึกษาและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 3 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค. ไลน์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เพื่อศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐศาสตร์ การจัดเก็บ การขนส่งไฮโดรเจนและแอมโมเนีย รวมถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ.

ล่าสุดทางกระทรวง METI ของญี่ปุ่นให้ทุนสนับสนุนเพื่อศึกษาตาม MOU ฉบับนี้ 50 ล้านเยน ซึ่งตามเงื่อนไข MOU กฟผ.ตั้งเป้าหมายจะนำไปศึกษาทดลองที่โรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้เคยจะนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ตามขั้นตอนต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาศึกษา โดยจะทำไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาสู่ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) เป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด โดยที่ตั้งโรงไฟฟ้ากระบี่ มีสถานีไฟฟ้าและพื้นที่อยู่จำนวนมาก คาดว่าจะสามารถผลิตกรีนไฮโดรเจนในต้นทุนที่น่าจะต่ำกว่าคนอื่น

“ตอนนี้ราคาไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ยังแพงอยู่ คนที่นำไปใช้ต้องให้เงินอุดหนุน (subsidy) เราพยายามทำให้การอุดหนุนน้อยที่สุด โดยปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่าราคาจะเริ่มลดลง ทำให้ภาคธุรกิจสามารถรับได้ เนื่องจากตอนนี้ประเทศคู่ค้าของไทยมีการออกมาตรการภาษีศุลกากร (Tariff Barriers) และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers : NTBs) เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ออกมาบังคับ และจะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อในกลุ่มอุตสาหกรรมยินดีที่จะจ่ายมากขึ้น ยกตัวอย่าง กลุ่มเหล็ก 1 ในสินค้านำร่องที่อียูจะบังคับใช้ก็เข้ามาหารือกับทางผู้บริหาร กฟผ.ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องพลังงานไฮโดรเจน

Advertisment

จากการประเมินความต้องการใช้ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 ตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 14.6 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้สูงสุดเป็น 4.9 แสนตันในปี 2574 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 53,000 ล้านบาท

หากเราเริ่มศึกษาวันนี้ อีก 7 ปี คิดว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมาย โดยราคาไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) กับไฮโดรเจนสีฟ้า (blue hydrogen) น่าจะปรับลงมาอยู่ระดับเดียวกัน และประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีไฮโดรเจนได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

“กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว คิดว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เชื่อว่าเป็น ‘จุดแข็ง’ ที่น่าจะสามารถทำให้ราคาไฮโดรเจนต่ำลงได้ และเห็นว่าทิศทางความต้องการไฮโดรเจนในอนาคตจะมากขึ้นเรื่อย ๆ” นายนิทัศน์กล่าว

นายนิทัศน์กล่าวต่อไปว่า เมื่อต่างชาติมีมาตรการเชิงบังคับ ประเทศไทยควรจะต้องมีแหล่งผลิตไฮโดรเจนให้คนที่ต้องการใช้ โดยไม่ต้องไปซื้อจากที่ประเทศอื่น ซึ่งตอนนี้ในประเทศไทยมี 2-3 บริษัทที่ศึกษาเรื่องการผลิตไฮโดรเจนเช่นกัน

เช่น ปตท.กำลังทำไฮโดรเจนสีฟ้า (blue hydrogen) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป จับมือบริษัท บีไอจี ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากก๊าซไฮโดรเจน