“หมอลำ” แข่งเดือด ปรับตัวม่วนฮอดอินเตอร์

ในยุคที่คอนเสิร์ตจากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาเปิดการแสดงในประเทศไทย และกระแสโซเชียลที่ไหลบ่า ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อบันเทิงของคนไทยเปลี่ยนไป จนบรรดาค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เองต่างเร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แต่หากย้อนกลับมาดูศิลปะพื้นบ้านที่แพร่หลายมากที่สุดในภาคอีสาน อย่าง “หมอลำ” ถึงความอยู่รอดของธุรกิจจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ทำการสำรวจภาพรวม และการปรับตัวของธุรกิจ

“ราตรี ศรีวิไล” นายกสมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่น หรือคุณแม่ราตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หมอลำเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษมีหลายประเภท ทั้งหมอลำเรื่องต่อกลอน หมอลำซิ่ง หมอลำกลอนประยุกต์ หมอลำกลอนย้อนยุค หรือหมอลำเพลิน สามารถปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ แต่ยังคงอยู่ในกรอบของศิลปะและวัฒนธรรม สำหรับธุรกิจหมอลำมีการจ้างงานแสดงตลอด แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าแต่ละปีมีเงินสะพัดเท่าไหร่ เพราะมีบุคลากรในธุรกิจนี้หลายพันคน และหลายคณะ แต่คณะหมอลำใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันมี 6 อันดับ ได้แก่ 1) ระเบียบวาทะศิลป์ 2) ประถมบันเทิงศิลป์ 3)รัตนศิลป์ 4)หนู ภาร วิเศษ ศิลป์ 5) สมจิตรบ่อทอง และ 6) หนึ่งในสยาม


โดยมีอัตราการจ้างงานประมาณการจากคณะใหญ่ที่มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 300 คน หรือหมอลำหมู่ที่ลำเรื่องต่อกลอน ใน 1 ปีรับงานเฉลี่ย 100 งาน ราคาค่าจ้างแสดงอยู่ที่ 2.5 แสนบาทต่อคืน หรือประมาณ 25 ล้านบาทต่อคณะต่อปี โดยราคาขึ้นอยู่กับระยะทางและระดับงานด้วย ส่วนหมอลำที่มีสมาชิกประมาณ 20-25 คน ใน 1 ปีหากรับงานเฉลี่ย 100 งาน ราคาจ้างแสดงประมาณ 3.5 หมื่นบาทต่อคืน จะมีรายได้รวมต่อปีประมาณ 3.5 ล้านบาท ขณะเดียวกันในการแสดงแต่ละครั้งมีรายจ่ายเรื่องเวที เครื่องเสียง และชุดการแสดง

“สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ” หรือพ่อเปีย ผู้จัดการวงระเบียบวาทะศิลป์ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า วงระเบียบวาทะศิลป์มีตัวเอกทั้งหมด 4 คน จะทำงานประมาณ 8 เดือน และหยุดช่วงฤดูฝนหรือช่วงเข้าพรรษา ส่วนใหญ่จะรับงานข้ามปี โดยปีนี้มีตารางงานแสดง 160-170 งาน ราคา 2 แสนบาทขึ้นไป/งาน ขึ้นอยู่กับระยะทางและราคาน้ำมัน

Advertisment

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจหมอลำ ปี 2561 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดภาวะซบเซา และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้ต้องลงทุนสูงขึ้นในการซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ทุกปี โดยเฉลี่ยแต่ละวงมีสมาชิก 300 คนขึ้นไป จึงต้องรับงานปีละ 120-150 ขึ้นไป อีกทั้งหมอลำเป็นเป็นวัฏจักรของศิลปินพื้นบ้าน ถ้าใครมีบุตรหลานก็สืบสานต่อ ถ้าไม่มีก็ปิดตำนานไป ซึ่งทิศทางอนาคตของธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการทำงานของศิลปินแต่ละคณะ ว่าจะรักษาและพัฒนาตัวเองได้มากน้อยเพียงใด

“สันติ สิมเสน” หรือ ดาบส. เจ้าของคณะหมอลำประถมบันเทิงศิลป์ เปิดเผยว่า เริ่มทำหมอลำเรื่องต่อกลอนมาตั้งแต่ปี 2500 มีสมาชิกรวมกว่า 300 คน มีงานตลอดเกือบทุกวันประมาณ 190-200 งานต่อปี ส่วนราคาขึ้นกับระยะทางที่ไปแสดงประมาณ 2-3 แสนบาทต่อคืน เฉลี่ยรายได้หลักหมื่นบาทขึ้นไปต่อคนต่อเดือน ปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างสูง ต้องพัฒนาฝีมือตลอดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและติดตลาดเพื่อความอยู่รอด คาดว่าในปี 2562 สถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้

“2 ปีที่แล้ว หมอลำคณะเล็กพยายามดันตัวเองขึ้นมา ทำให้คณะใหญ่ราคาติดเพดาน ต้องสู้กันที่ราคาและผลงาน แต่หากมองภาพรวมปัจจุบันถือว่ายอดผู้ฟังผู้ชมสูงขึ้น เพราะหมอลำได้ทุกอรรถรส สามารถฟังได้ตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ ประถมบันเทิงศิลป์เองพยายามรักษามาตรฐานการแสดงทำงานหนักขึ้น” สันติกล่าว

“บุดษา แถววิชา” เจ้าของคณะหมอลำหนึ่งในสยาม กล่าวว่า คณะหนึ่งในสยามได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2561จากสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ที่ผ่านมาได้เป็นตัวแทนของจังหวัดขอนแก่นไปแสดงตามที่ต่าง ๆเฉลี่ย 50 งาน/ปี ในส่วนรายได้จากการแสดงนั้นหากเป็นการแสดง 170,000-180,000 บาท/คืน และหากในจังหวัดประมาณ 200,000 บาท/คืน

Advertisment

“ยมนิล นามวงษา” ผู้บริหารคณะหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง เปิดเผยว่า หมอลำเพลินแตกต่างจากหมอลำประเภทอื่น เน้นความสนุกสนาน มีทีมงานในคณะ 200 กว่าชีวิต ค่าจ้าง 200,000 บาท/คืน ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาการบริหารเงินภายในองค์กร และภาวะเศรษฐกิจจึงรับงานได้น้อยลง คาดว่าปีนี้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% หรือประมาณ 150 งานต่อปี จากการโปรโมทคณะให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมส่วนหนึ่งของธุรกิจหมอลำที่เริ่มจะมีการแข่งขันสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ในกรอบของศิลปะและวัฒนธรรมอีสานที่ต้องดิ้นรนกันต่อไป ท่ามกลางกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว