ผู้ว่าฯเชียงใหม่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร เร่งแก้ไฟป่า-ฝุ่นพิษก่อนเศรษฐกิจพัง

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร
นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร
สัมภาษณ์พิเศษ

“เชียงใหม่” เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมถึง 2.8 แสนล้านบาท แต่ยังเผชิญกับปัญหาใหญ่ทุกปี นั่นคือ “ไฟป่า-ฝุ่นควัน” ที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ

“นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภารกิจปี 2567 ที่ท้าทาย

Q : แผนแก้ไฟป่า-ฝุ่นควันปี’67 จะควบคุมได้แค่ไหน

ปีที่แล้ว ผมเชิญทุกภาคส่วนมาพูดคุยในเวทีเดียวกัน ให้ช่วยกันคิดและตั้งคณะทำงาน สำคัญที่สุดคือ ประชาชน 2 ล้านคนในจังหวัดเชียงใหม่ ทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ถือเป็น Agenda ใหญ่ เป็นวาระระดับชาติของจังหวัด

เพราะในมิติเศรษฐกิจเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ถ้ามีการเผาใน 25 อำเภอจะกระทบหนักแน่นอนต่อเศรษฐกิจ ต้องระดมความรู้มาปฏิบัติให้ได้

ผมใช้คำว่า “เอา 100 ความรู้มาสู่การลงมือทำ” เลิกบ่น เลิกติ เลิกด่า แต่เอาคำแนะนำ การตกผลึกมาปฏิบัติดีกว่า ปี 2567 จะทำอะไรที่ลดการเผาได้มากขึ้น เราเคยตั้งเป้าให้การเผาเป็นศูนย์ เอาเข้าจริงบังคับห้ามเผาไม่ได้เลย

เมื่อพ้นกำหนดวันที่ห้ามเผาก็มีการจุดไฟระดมเผากันทั้งจังหวัด ทำให้เกิดควันกลุ่มใหญ่คลุมแอ่งเชียงใหม่เหมือนเตาอบ

ถ้ายังต้องเผาอยู่ ต้องทำให้เผาน้อยลงจนไม่เหลือเลย จะเริ่มทำทันที เป้าหมายที่สรุปร่วมกันคือ ปี 2567 ตั้งเป้าลดลง 50% จากปี 2566 โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

Q : ถือว่าพลิกโฉมแนวทางบริหารเชียงใหม่หรือไม่

เรียกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ล่าสุดได้ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเขตควบคุมการเผาปี 2567 จากทุกปีที่เคยออกประกาศห้ามเผาเด็ดขาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี

เปลี่ยนเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างจริงจังและเป็นระบบ ไม่มีกำหนดวันห้ามเผา แต่ใครจะเผาวันไหนต้องแจ้งเข้ามา จะประเมินว่าจะสามารถเผาได้มั้ยในช่วงเวลานั้น ๆ เรียกว่า “เผาแบบมีการควบคุม” แทนการเผาแบบไร้การควบคุม หรือแอบเผา

ถ้าจะเผาต้องมีความจำเป็นจริง ๆ เช่น ในตัวเมืองเชียงใหม่ เราตั้งเป้าการเผาเป็นศูนย์ เพราะเป็นพื้นที่ควบคุม ส่วนพื้นที่เกษตรหากควบคุมการเผาได้ก็จะไม่เกิดการสะสมของเชื้อเพลิง เป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งในปีหน้า

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดวอร์รูม ศูนย์บัญชาการป้องกันไฟป่า ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลกลางในการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และมลพิษด้านฝุ่นละออง (PM 2.5)

ทั้งใช้ในการอำนวยการ สั่งการ ติดตาม ควบคุม และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ เพื่อความรวดเร็ว จัดการได้ทัน และมีประสิทธิภาพ โดยลงบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับภาคีป้องกันปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ปี 2567

ภายใต้เป้าหมาย 4 ประเด็นหลัก คือ 1.จุดความร้อนลดลง 50% จากปี 2566 2.พื้นที่เผาไหม้ลดลง 50% จากปี 2566 3.จำนวนวันที่ฝุ่นควันเกินมาตรฐานลดลง 50% จากปี 2566 4.จำนวนผู้ป่วย COPD ลดลง 50% จากปี 2566

Q : สร้างการมีส่วนร่วมเชิงรุก

สภาลมหายใจเชียงใหม่ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทำงาน 7 ผืนป่า สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มูลนิธิคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ประกอบการเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่

ต้องมีส่วนร่วม บูรณาการให้เป็นแนวทางหลักของเชียงใหม่ด้วยมาตรการ ปฏิบัติได้จริง โดยสื่อสารเชิงรุก เล่าสถานการณ์ฝุ่น สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน

อยากให้ยกระดับบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบในกลุ่ม 7 ผืนป่า เพื่อจัดการกับแหล่งปลดปล่อยมลพิษ ภาคเอกชนให้ยกระดับวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน และเสนอแนวทางมาตรการสร้างแรงจูงใจ ลดแหล่งกำเนิดเพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน สร้างนโยบายจูงใจ และส่งเสริมการทำเกษตรเชิงผสมผสาน ทดแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ลดการปลดปล่อยมลพิษขนาดใหญ่ทั้งในพื้นที่ป่าและในเขตเมือง

ซึ่งผู้ประกอบการรับซื้อพืชเชิงเดี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ ยืนยันว่าบริษัทไม่สนับสนุนการเผา ถ้าเกษตรกรเผาจะไม่รับซื้อ เป็นแนวทางกดดัน-สร้างแรงจูงใจ

Q : ทำแนวกันไฟ 3,498 กิโลเมตร

พื้นที่ป่าใหญ่ พื้นที่ป่าอุทยานฯ และป่าอนุรักษ์ มีจุดความร้อนสูง ต้องยกระดับในพื้นที่ที่เกิดไฟซ้ำบ่อย ต้องดูแลใกล้ชิด เพราะเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่การเกษตรแม้จะมีปัญหาน้อย แต่มักเกิดไฟลุกลามเพราะความประมาท จึงควรจัดการใช้ไฟผ่านระบบ FireD ที่ป้องกันและติดตามได้

ในเขตป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบต้องมีการจัดการก่อนที่จะเกิดไฟแปลงใหญ่ ทำแนวกันไฟตัดเป็นแปลง ๆ จะทำระยะนับพันกิโลเมตร ปี 2567 เดินหน้าจัดทำแนวกันไฟทั้งจังหวัด 3,498.4 กิโลเมตร ตั้งจุดตรวจสกัดการเข้าป่าช่วงเฝ้าระวังตลอด 3 เดือน (กุมภาพันธ์-เมษายน) 600 จุด พร้อมรับสมัครอาสาป้องกันไฟป่า ภาคประชาชน 10,000 คน ถ้าต้องชิงเผาเพื่อตัดหัวไฟก็ต้องทำ เพื่อไม่ให้เกิดไฟลามทั้งแปลงนับหมื่นไร่

เชิงรุกของผมคือเดินเข้าหาแปลงเชื้อเพลิง สำหรับพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวข้าวโพดในเชียงใหม่ คาดว่ามี 1 ล้านไร่ พื้นที่เผาแปลงข้าวโพดต้องไม่มี เช่นที่อำเภอแม่แจ่มมีแปลงปลูกข้าวโพด 4 แสนไร่ แปลงเผาจะหายไป ซึ่งบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ทำงานร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่าคุมได้ทั้งหมด ถ้าเผาบริษัทจะไม่รับซื้อ

Q : แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่ปี’67

เศรษฐกิจเชียงใหม่ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนสำคัญคือ 1.ภาคบริการ 2.ภาคการเกษตร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ราว 2.8 แสนล้านบาท รายได้หลักมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1.ภาคบริการท่องเที่ยว มีสัดส่วนรายได้ 60-65% ของ GPP แต่มีคนที่อยู่ในภาคบริการเพียง 20% และ 2.ภาคการเกษตร มีสัดส่วนรายได้ 20% ของ GPP แต่มีคนที่อยู่ในภาคเกษตรมากถึง 60%

แนวทางที่จะทำคือ ทำให้กลุ่มแรกมีรายได้เท่ากับช่วงก่อนโควิด วันนี้เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเชียงใหม่ 85% เท่ากับปี 2562 เราทำได้ตามเป้า ส่วนรายได้ภาคท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าเกือบ ๆ แสนล้านบาท แม้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาตามเป้า แต่เรามีนักท่องเที่ยวชาติอื่นทดแทนได้คือ
นักท่องเที่ยวคนไทย 70% ต่างชาติ 30% มีทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง

ปีหน้าจะเจาะตลาดอินเดียและตะวันออกกลางมากขึ้น เป็นตลาดใหม่ในปี 2567 ซึ่งจะทำรายได้ท่องเที่ยวไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เท่าช่วงก่อนโควิด รายได้จะค่อย ๆ ขยับไปถึง 1.6 แสนล้านบาทอีกครั้งในปีหน้า

ภาคการเกษตร เรามีรายได้แค่ 20% ของ GPP เป็นตัวชี้วัดเรื่องราคาผลผลิต

กลยุทธ์ผมคือ ให้การบ้านเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ปลัดจังหวัด ฝ่ายปกครองทำงานร่วมกัน ให้เกษตรอำเภอดูเชิงลึกแต่ละพื้นที่ว่า แต่ละเดือนมีผลผลิตอะไร ปริมาณผลผลิตซื้อขายได้โดยตลาดเสรีทั้งหมดหรือไม่

ถ้าตลาดรับได้ ราคาดี ก็เดินหน้าไป แต่ถ้าเดือนไหน อำเภอไหน ประเมินแล้วตลาดที่เป็นไปตามธรรมชาติ รับมือไม่ไหว และจะเริ่มเกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด ให้รีบแจ้งเราจะทำงานร่วมกับสหกรณ์ เพื่อหาวิธีกระจายสินค้าสู่ตลาดนอกเชียงใหม่

ที่ผ่านมาใช้วิธีนี้ในทุกผลผลิต ต้องมี Business Matching กลยุทธ์คือ ทำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมาเจอกัน โดยนำผู้ซื้อรายใหญ่ห้างค้าปลีกค้าส่งมารับซื้อ ผมจะขายผลผลิตให้หมด เชียงใหม่มีจุดแข็งเป็นพื้นที่สูง เราปลูกผลไม้เมืองหนาวเป็นส่วนใหญ่ ผมเดินตลาดให้เกษตรกร จากรายได้ 20% จะทำให้ได้ 30% ของ GPP จะทำให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้น

Q : นโยบายแก้หนี้นอกระบบ เชียงใหม่มีแนวทางอย่างไร

เรื่องแก้หนี้นอกระบบของเชียงใหม่ เราเปิดศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัด และเปิดศูนย์ดำรงธรรมทั้ง 25 อำเภอ แจ้งผ่านแอประบบ ThaID (ไทยดี) การแจ้งนั้นขอให้ลูกหนี้เล่าเรื่องจริง เพื่อแก้ไขถูกจุด ช่วยเหลือและไกล่เกลี่ยเจรจากับเจ้าหนี้ให้

ล่าสุด มีการแจ้งเข้ามาแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2566 มีลูกหนี้จำนวน 1,253 คน อ้างถึงเจ้าหนี้ 742 ราย ยอดหนี้ 53 ล้านบาท เป็นหนี้นอกระบบทั้งหมด ขอให้เล่าเรื่องจริง ให้รู้ทั้งหมด เพื่อแต่ละอำเภอจะนำไปสู่การเจรจา ไกล่เกลี่ย ซึ่งจะเริ่มทยอยให้ความช่วยเหลือในแต่ละเคส ซึ่งไม่เหมือนกันเลย

นอกเหนือจากไฟป่า หมอกควันแล้ว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่ให้เติบโตเป็นรูปธรรมตามแผนในปีหน้าก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบพร้อมกันไปด้วย