“วิภาวัลย์” รองนายก อบจ.ปั้นเชียงใหม่ “เมืองเทศกาล” ปลุกเศรษฐกิจ

วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

การเปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้นำภาคเอกชน ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ 2 สมัย (ปี 2558-2561) ของ “วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์” สู่เส้นทางการเมือง ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีผลงานเด่นหลายด้านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Charming Chiangmai Flower Festival 2023 ที่มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล เกิดเงินสะพัดตลอดการจัดงาน 38 วัน มากกว่า 500 ล้านบาท “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ถึงแผนการเดินหน้าพัฒนาโครงการเศรษฐกิจสำคัญในปี 2567

ก้าวย่างสู่การเมืองท้องถิ่น

ก่อนรับตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ 2 สมัย (4 ปี) ตั้งแต่ปี 2558-2561 ได้เคยเป็นกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่มาก่อน 18 ปี รวมเวลาทำงานในหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด 22 ปี ช่วงที่รับตำแหน่งประธานหอการค้า ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งการนำเสนอและผลักดันโครงการต่าง ๆ ผ่านเวที กรอ.จังหวัด และ กรอ.กลุ่มจังหวัด ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ได้เห็นข้อจำกัดการของบประมาณและกระบวนการในการอนุมัติงบประมาณ หลายโครงการอาจไม่ได้รับการพิจารณา หรือบางโครงการได้รับงบประมาณล่าช้า

ดังนั้นเมื่อได้มาทำหน้าที่ในบทบาทรองนายก อบจ.เชียงใหม่ ทำให้มีโอกาสทำงานต่อเนื่อง และได้มีส่วนผลักดันและสนับสนุนกิจกรรมหลาย ๆ ด้านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น เรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านทางหอการค้าไทย ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่รัฐสภาวาระแรกแล้ว รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ภายใน อบจ.เชียงใหม่ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณผ่าน อบจ.เชียงใหม่ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจผลักดันโครงการของภาคเอกชนที่ได้รับรองจากคณะรัฐมนตรี อาทิ โครงการพื้นที่นวัตกรรมเครื่องสำอางจากสมุนไพรภาคเหนือ หรือ Northern Thailand Cosmetics Valley, โครงการ Cross Border E-Commerce, โครงการ Smart City การสร้างเศรษฐกิจฮาลาล รวมถึงโครงการที่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น งานหอการค้าแฟร์, งานแสดงสินค้าชายแดน, ฮาลาลแฟร์, โครงการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) การสนับสนุน Startup และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่

เชียงใหม่

แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ

อบจ.เชียงใหม่ได้วางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการตลาด ทั้งการมุ่งเผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งจะช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิดได้ โดยใช้แนวทางบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การนำของนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่

ซึ่งวางเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนการเป็น “เมืองเทศกาล” ของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับมอบพื้นที่ 120 ไร่ ด้านหลังศูนย์ราชการเชียงใหม่ มาบริหารจัดการ ซึ่งตั้งเป้าให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด ดังนั้นจึงได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564

เช่น การจัดงาน Charming Chiangmai Flower Festival ครั้งที่ 3 (15 ธ.ค. 66-21 ม.ค. 67) เปิดให้เข้าชมฟรี มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 5 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย 80% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20% ใช้งบประมาณจัดงานนี้ราว 70 ล้านบาท ภายในงานมีการออกแบบพื้นที่ให้เป็นทุ่งดอกไม้ขนาดใหญ่ มีดอกไม้ทั้งโซนหนาว โซนร้อน สวยงามแตกต่างจาก 2 ปีที่ผ่านมา

พร้อมจัดโซนให้ผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี โอท็อป และวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาจำหน่ายสินค้ามากกว่า 600 บูท โดยไม่เก็บค่าบูท ทั้งนี้ รวมรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน 38 วัน มากกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นที่จับต้องได้

รวมถึงการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดในปี 2566 และการจัดงาน Chiangmai Music Journey ครั้งที่ 1 ซึ่งมีแผนงานจะจัดต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในปี 2567 ทาง อบจ. เสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมการจัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรยูเนสโก ประจําปี 2568 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นธุรกิจไมซ์ในพื้นที่

ขณะเดียวกัน โครงการอื่น ๆ อาทิ Chiangmai Flower Festival จะทำต่อเนื่องในปีนี้ รวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมให้เกิดขึ้นบนพื้นที่ 120 ไร่ดังกล่าวให้เป็นแลนด์มาร์ก และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งเสริมการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่ยั่งยืนในอนาคต

เชียงใหม่

หนุน SMEs เปิดตลาดส่งออก

นโยบายของ อบจ. ภายใต้การนำของนายพิชัย นายก อบจ.เชียงใหม่ ที่ได้แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีความชัดเจนหลายเรื่องที่สามารถผลักดันให้เป็นรูปธรรมและตรงกับความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่ที่เชื่อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจได้ เช่น การส่งเสริมให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะคุณภาพใกล้บ้าน การให้ความสำคัญด้านสุขภาพและอนามัยประชาชนสุขภาพดีใกล้บ้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งเสริม SMEs ระดับชุมชนใกล้บ้านสู่การค้าระดับโลก โดย อบจ.สนับสนุนโครงการ Cross Border E-Commerce ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเปิดตลาดการส่งออกสินค้า OTOP และจากวิสาหกิจชุมชนสู่ตลาดจีน ผ่านช่องทาง R3A

รวมถึงด้านการท่องเที่ยว กีฬา วัฒนธรรมก็จะให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ผ่านด้านกีฬา การต่อยอดจุดขายวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเชียงใหม่ ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

เชื่อมโยงระบบขนส่งแก้รถติด

รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชียงใหม่ ซึ่งทาง อบจ.เชียงใหม่ พร้อมรับนโยบายและขับเคลื่อนในพื้นที่ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ได้ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงระบบขนส่งและการเดินทางในพื้นที่ ได้แก่ 1.เร่งผลักดันโครงการท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

2.แผนพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) ระยะทางรวม 52.957 กิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณรถสะสมและการจราจรติดขัดบริเวณทางแยกสัญญาณไฟ 3.แผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว 7 แห่ง ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์ ไนท์ซาฟารี อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ น้ำตกห้วยแก้ว สวนสัตว์เชียงใหม่ และเวียงกุมกาม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างประสานผู้ประกอบการขนส่งเข้ามาเดินรถ

ซึ่งโครงการทั้งหมดสอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ผลักดันและได้ประสานงานผ่าน อบจ.จังหวัดเชียงใหม่ด้วย หากนโยบายนี้มีความชัดเจนมากขึ้น จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ที่เติบโตขึ้น หลังจากล่าช้ามาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ยึดหลักทำงาน ทุกวัยไปด้วยกัน

การทำงานใน อบจ. ตนตั้งสโลแกนว่า “ทุกวัยไปด้วยกัน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะทำงานกับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ซึ่งแม้ตนเองเป็นคนรุ่นเก่า แต่สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับคนรุ่นใหม่ได้ โดยยึดการคิดบวกและยอมรับแนวคิดของคนรุ่นใหม่

อาจเป็นความโชคดีสมัยที่ทำงานหอการค้า ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม YEC ที่มีไอเดียใหม่ ๆ เพียงเปิดใจยอมรับแนวคิดและนำประสบการณ์ความเป็นคนรุ่นเก่าของเราไปเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ จะสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งเมื่ออยู่ในบทบาทรองนายก อบจ. ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ สามารถทำงานร่วมกันได้

เพราะตั้งมั่นอยู่บนความคิดบวกและเปิดใจยอมรับแนวคิดใหม่ ๆ ดังนั้น การทำงานของคนทุกวัยจะไปด้วยกันได้