ผู้ว่าฯเชียงใหม่เตรียมจ้างงานชาวบ้าน 4 พันคน งดเก็บของป่า

ไฟป่า

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ชูเศรษฐศาสตร์ปากท้องแก้ฝุ่นควัน เตรียมจ้างงานชาวบ้าน 4 พันคน งดเก็บของป่า

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผู้บัญชาการตำรวจภูธภาค 5 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีคำสั่งไปยังนายอำเภอทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เร่งจัดระเบียบคนหาของป่า ซึ่งมีรายชื่อกว่า 4,000 คน โดยให้มาลงทะเบียนสมัครงานที่อำเภอทุกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดหางานให้แต่ละคนได้ทำงานในช่วงนี้ ทั้งนี้  เป็นแนวทางสร้างอาชีพและให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ทดแทนการหาของป่า และเป็นรายได้ที่เท่ากับ หรือไม่น้อยกว่าการเดินเข้าไปหาของป่า อันจะก่อให้เกิดไฟป่า-ฝุ่นควัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว พร้อมกับเน้นย้ำการเอกซเรย์ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะได้ออกประกาศห้ามเข้าพื้นที่ออบหลวง

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อควบคุมการเผา ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สามารถควบคุมจุด Hotspot จาก 2,700 จุด เหลือไม่ถึง 800 จุด หายไป 73% แม้จะมีสถานการณ์ไฟป่าที่ออบหลวงก็ยังถือว่าเป็นส่วนที่ลดลงเช่นกัน ขณะที่จำนวนวันของ PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน จาก 47 วันที่เกินค่ามาตรฐานของปี 2566 พบว่าในปี 2567 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานเพียง 17 วัน หายไปกว่า 60% ซึ่งแสดงว่าอากาศดีขึ้น เป็นการจัดการควบคุมการเผา

กล่าวคือ ให้มีการเผาให้น้อยที่สุด ซึ่งปีนี้ถือว่าทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งเป้าลดให้ได้ 50% ก็ทำได้ตามเป้า และที่สำคัญเชียงใหม่ต้องไม่เผา แม้ว่าจะมีกระแสลมจากเพื่อนบ้านทางตะวันตก หรือจากพื้นที่ใกล้เคียงทางตอนใต้เข้ามา เราก็สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่า คลี่คลายได้ง่ายกว่า ซึ่งเรามีฐานบินฝนหลวงที่ขึ้นบินปฏิบัติการทุกวัน วันที่ความชื้นเพียงพอก็จะทำให้ฝนตก แต่วันที่ความชื้นไม่เพียงพอก็จะมีวิธีการเจาะช่องชั้นบรรยากาศให้ฝุ่นควันกระจายขึ้นไปชั้นบน และลมก็จะพัดออกไป

Advertisment

นายนิรัตน์กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ที่ออบหลวงที่เกิดไฟป่าตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น โดยสภาพพื้นที่ของออบหลวงเป็นป่าเต็งรังขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 300,000-400,000 ไร่ โดย 80% เป็นป่าเต็งรัง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ป่าจะทิ้งใบที่แห้งและเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ซึ่งมาตรการที่ผ่านมามีทั้งการชิงเผา ควบคุมการเผา และป้องกันการลักลอบการเผา

ซึ่งปี 2566 ป่าออบหลวงมีพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้กว่า 100,000-200,000 ไร่ แต่ในปีนี้มีพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ไม่เกิน 40,000 ไร่ ซึ่งยังสามารถควบคุมได้ต่ำกว่า 50% อย่างไรก็ตาม ได้ยกระดับการจัดการโดยการใช้กำลังทหาร การทำมวลชนสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ ป้องกันและป้องปรามคนที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ซึ่งทางเจ้าหน้าตำรวจก็จะสอบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับมาตรการเน้นการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้ตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจเข้าไปดำเนินการ ล่าสุดได้ปิดป่าอุทยานหลายจุดเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในป่า โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และหลายพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง

พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดีที่ช่วยกันไม่เกิดไฟไหม้ป่าและพื้นที่การเกษตร มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกจังหวัดอย่างแท้จริง

Advertisment

ขณะที่ไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้ขอความร่วมมือ ใช้ช่องทางทีบีซี และหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานทั้งสองประเทศ ที่ได้คุยกับผู้นำทั้งลาวและเมียนมา ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดชุดกำลังเข้าไปช่วยจังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 1 มีนาคม ก็จะจัดชุดกำลังเพิ่มอีก 10 ชุด พร้อมเตรียมชุดกำลังอีกกว่า 100 ชุด สำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ ส่วนประชาชนที่ยังดื้ออยู่ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย