เจาะสวน “เวียดนาม-มาเลย์” ก่อนฤดู ทุเรียน ภาคตะวันออก

ทุเรียน

ฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ ชาวสวน และผู้ส่งออกเตรียมรับศึกหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจีนเตรียมจะอนุญาตให้ประเทศมาเลเซียสามารถส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากจีนอนุญาตให้ประเทศฟิลิปปินส์ ส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 และให้ประเทศเวียดนาม เข้าไปขายได้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

ภาพสะท้อนที่ปรากฏชัด เฉพาะทุเรียนจากเวียดนามทำให้ไทย ซึ่งเดิมครองส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ในประเทศจีน 95% ลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น ความจำเป็นต้องรู้ความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“ทุเรียน ASEAN” นับวันสร้างมูลค่ามหาศาล ข้อมูลศุลกากรแห่งชาติจีน ปี 2566 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดจีนที่เป็นตลาดหลักจากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ 1.4 ล้านตัน มูลค่า 6,716 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าอีก 3-4 ปีจะมีแนวโน้มเติบโต ทะลุ 2 ล้านตัน เมื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเตรียมจ่อนำเข้าผลสด

ดังนั้น หอการค้าจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร จัดเสวนา หัวข้อ “ASEAN-China Durian Industry” ไทยฐานะผู้นำอันดับ 1 ของทุเรียนโลก ในงาน Fruit Innovation Fair 2024 ที่ จ.จันทบุรี เมืองหลวงทุเรียนไทย โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียนจากจีน มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มานำเสนอเรื่องราวของทุเรียนก้าวสู่อุตสาหกรรมทุเรียนอาเซียน

จี้ไทยเร่งพัฒนาคุณภาพ

ศ.เกียรติคุณ ดร.จริงแท้ ศิริพานิช ภาคีทุเรียนไทย (Thai Durian Alliance) ให้ภาพการพัฒนาทุเรียนไทยสู่คุณภาพและมาตรฐานว่า 8-9 ปีที่ผ่านมามีการใช้นวัตกรรม AI การบริหารจัดการทุเรียนมากขึ้น โดยการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา มีการใช้แอปพลิเคชั่นการให้น้ำ ปุ๋ย ธาตุอาหารตามความต้องการของทุเรียน การแก้ปัญหาโรคระบาดของทุเรียน

และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ในเนื้อแห้งของทุเรียนที่ยังต้องพัฒนาต่อ รวมทั้งความพยายามแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนที่ยาวนานมาถึง 36 ปีที่ยังไม่หมดไป ทำให้ทุเรียนไทยสร้างมูลค่ามาตลอด และจีนนำเข้าทุเรียนไทยเป็นอันดับ 1

“คาดการณ์ว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าในปี 2570 ส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยในจีนจะเหลือ 75% แต่ปี 2566 ปริมาณทุเรียนเวียดนามที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 30.52% ทำให้สัดส่วนทุเรียนไทยลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 69.29% ซึ่งเป้าหมายการส่งออกทุเรียนไทย คาดว่าปี 2568 ไทยจะส่งออกได้ 1.8 ล้านตัน และเพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ในปี 2570 ไทยอาจจะต้องมองตลาดใหม่ ๆ อย่างอินเดีย ไต้หวัน เพิ่มขึ้น” ดร.จริงแท้กล่าว

จีนลุยวิจัยหาพันธุ์ปลูกเพิ่ม

นายเฝิง เสว๋เจ๋ (Mr. Feng Xuejiev) ผู้อำนวยการสถาบันไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตร มณฑลไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences) ประเทศจีน กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดในโลก ปี 2564-2565 นำเข้าปริมาณ 800,000 ตัน ปี 2566 จีนได้ทดลองปลูกทุเรียนเป็นครั้งแรกที่เมืองซอนย่า มณฑลไห่หนาน แต่ยังมีปริมาณน้อยมากเพียง 50 ตัน และคาดว่าปี 2567 จะเพิ่มเป็น 250 ตัน

แต่เทียบกับการบริโภคภายในประเทศยังคงต้องการนำเข้าทุเรียนจำนวนมาก และจีนยังคงต้องทดลอง ศึกษาเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีการวิจัย พัฒนานวัตกรรมการให้ปุ๋ย ให้น้ำ การคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้า

“ข้อดีของทุเรียนที่ปลูกในจีนยังผลิตได้น้อยมาก ปีละ 40,000-50,000 ตัน ความต้องการผู้บริโภคมีมาก การขนส่งสะดวกส่งต่อผู้บริโภคได้รวดเร็ว และมีการพัฒนา AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการได้ มีพื้นที่เหมาะสม แต่มีปัญหาพายุรุนแรง ความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนน้อย ในรอบปีมีฝนตกเพียง 3 เดือนเท่านั้น (สิงหาคม-ตุลาคม) และฤดูหนาวอากาศหนาวมาก

รวมทั้งการขาดความรู้ในเรื่องการปลูก และการบริหารจัดการทุเรียน ซึ่งต้องมีการศึกษาทดลอง ทำวิจัยหาพันธุ์ทุเรียนที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเน้นคุณภาพ เพราะตอนนี้ยังเพาะปลูกได้ปริมาณน้อย” นายเฝิงกล่าว

นายอารอน ลิน เชียง (Mr.Aron Lin Yuxiang) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท Xiangnong Technology ( Hainan) จำกัด ผู้นำเข้าทุเรียนในจีน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณการนำเข้าทุเรียนมีอัตราการเติบโตสูง ปี 2566 นำเข้าเกือบ 2 ล้านตัน แบ่งเป็นนำเข้าจากไทย 820,000 ตัน หรือ 80%

โดยส่งไปใน 6 มณฑล และปริมาณเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 ตันขึ้นไป ปี 2565 ทุเรียนไทยมีปริมาณคงที่ ราคาดี เทียบกับเวียดนามปริมาณยังไม่คงที่ แต่ปี 2566 ทุเรียนเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 10 เท่า และปี 2567 น่าจะเพิ่มขึ้นมาก

“ทุเรียนที่ปลูกในจีนเองยังมีปริมาณน้อยมากยังไม่เพียงพอกับการบริโภค โอกาสการแข่งขันทุกประเทศมีความแตกต่างกัน ทุเรียนไทยไม่ใช่มีแค่พันธุ์หมอนทอง ยังมีสายพันธุ์อื่น เช่น ชะนี พวงมณี เช่นเดียวกับเวียดนามมีหลายสายพันธุ์

ซึ่งได้ทำพิธีสารแล้ว โดยเวียดนามได้เปรียบไทยที่ชายแดนติดกับจีน ขนส่งได้รวดเร็วและมีเส้นทางรถไฟ ส่วนฟิลิปปินส์มีโอกาสดี เพราะระยะเวลาผลผลิตทุเรียนออกไม่ตรงกับไทย และมาเลเซียหากส่งออกได้มีหลายสายพันธุ์เช่นกัน” นายเชียงกล่าว

“มาเลย์” สร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่า

ดาโต๊ะ อันนา เตียว (DATUK Anna Teo) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CEO บริษัท เฮอร์นัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (GROUP CEO HERNAN Corperation SDN) ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมา 26 ปี ใช้จุดเด่นทุเรียนพันธุ์มูซังคิงของมาเลเซียที่มีรสชาติแตกต่างไปจากทุเรียนของประเทศอื่น ๆ ทำการตลาด และพยายามโปรโมตอย่างกว้างขวาง จนได้รับชื่อว่า “มูซันควีนิ จากรัฐบาล บริษัทมีพื้นที่ปลูกทุเรียน10,000 เอเคอร์ มีผลผลิต 33,000 ตัน ปี 2566 ได้รับรางวัลสวนที่ใหญ่ที่สุด และมีนักลงทุนชาวอังกฤษมาลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทุเรียนเป็นธุรกิจหลักลำดับต้น ๆ ของมาเลเซีย”

“ปี 2566 บริษัทมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 490,000 ตัน ตลาดจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ ทุเรียนแช่แข็งของมาเลเซียส่งไปจีนมากกว่า 70% ต้องเน้นคุณภาพ และสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่า ประชากรจีน 1,400 ล้านคน เพียงแค่คนจีนบริโภคคนละเล็กน้อย แทบไม่ต้องโฟกัสตลาดประเทศอื่น ๆ นอกจากพันธุ์มูซังคิง มาเลเซียยังมีสายพันธุ์อื่น ๆ มากกว่า 200 สายพันธุ์

และยังมีตลาดภายในประเทศที่ต้องการบริโภคอีกจำนวนมาก ทุเรียนที่ส่งออกไม่ได้จะส่งเข้าโรงงานแปรรูป ทำเค้ก ไอศกรีม กลับเป็นผลดีของคนไม่เคยรับประทานทุเรียนได้รับรู้รสชาติความอร่อย นอกจากนี้ ทุเรียนยังช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร คนเดินทางมาชิมที่สวนทุเรียน” ดาโต๊ะ อันนากล่าว

“เวียดนาม” ส่งจีนปีนี้ 2 ล้านตัน

นายเหงียน ถัน (Mr.Nguyen Thanh Binh) นายกสมาคมพืชผลไม้เวียดนาม (Vietnam Fruit Association : VINAFUIT) กล่าวถึงอนาคตอุตสาหกรรมทุเรียนเวียดนามว่า ปี 2561 เวียดนามส่งทุเรียนออกเป็นลำดับที่ 3 ปี 2553-2566 มีพื้นที่ปลูกพื้นที่ 11,600 เฮกตาร์ ผลผลิตรวม 170,000 ตัน แต่ละปีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 20% และปริมาณผลผลิตเพิ่ม 15%

คาดว่าปี 2567 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1,150,000 ตัน โดยทุเรียนเวียดนาม 85-90% ส่งไปจีน แต่ละปีจีนนำเข้าทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้น 13.12% ส่วนตลาดอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง ปี 2566 ส่งออก 6,379 ตัน ช่วง 9 เดือนปี 2566 (มกราคม-กันยายน) จีนนำเข้าทุเรียนเวียดนาม 1,397,000 ตัน มูลค่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปี 2567 จีนจะนำเข้าทุเรียนเวียดนาม 2 ล้านตัน

เป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 96.37% และปี 2566 ยังส่งออกทุเรียนแช่แข็ง 52,174 ตัน หรือ 90.39% มูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งมาไทย 40,758 ตัน มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่าส่งออก ปี 2565 ส่งออกมูลค่า 516 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 2,241 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 430% แต่ละปีจีนจะนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เวียดนามมีปัจจัยบวก คือ 1) สิ่งแวดล้อมดี 2) แรงงานมีประสบการณ์และเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี 3) ผลผลิตมีเกือบตลอดปี และ

4) จีนตลาดปลายทางให้การตอบรับดี จีนอนุญาตให้นำผลสดเข้าและเพิ่มปริมาณปี 2567 และมีตลาดอื่น ๆ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเป้าหมายตลาดอนาคตคือ นิวซีแลนด์ แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย ยูไนเต็ดอาหรับ และ 5) ได้มีการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานของตลาดปลายทาง มั่นใจว่าอนาคตอุตสาหกรรมทุเรียนเวียดนามสดใส” นายเหงียนกล่าว

อินโดฯปลูก 1.7 ล้านตันไม่ส่งออก

ดร.ไอ โมฮัมหมัด เรซา ติรินาตา (Dr.Ir Mohamad REZA Tirtawinats) จาก Nusantara Durian Fondation Eogor INDONESIA กล่าวว่า อินโดนีเซียมีตำนานเรื่องราวของทุเรียนยาวนานมากว่า 2,000 ปี เก่าแก่ที่สุดใน ASEAN ก็ว่าได้ โดยมีหลักฐานภาพแกะสลักทุเรียนในโบราณสถานภายในประเทศ และปัจจุบันยังมีต้นทุเรียนอายุเก่าแก่ถึง 170 ปี ที่ยังให้ผลผลิตที่เมืองลอมบอก และที่ผ่านมามีประวัติทุเรียนที่กษัติรย์บาหลีทรงปลูก อายุ 200 ปี ให้ผลถึง 1,500 ลูกต่อต้น

รวมทั้งแหล่งที่ปลูกทุเรียนภายในประเทศกระจายอยู่หลากหลายพื้นที่ โดยทุเรียนส่วนใหญ่ในประเทศอินโดฯเป็นสายพันธุ์ธรรมชาติถึง 85% และมีเพียง 15% เท่านั้นที่มาจากการพัฒนาสายพันธุ์ จากการสำรวจชาวอินโดนีเซีย 28% เป็น Lovers Durian และ 8% ที่คลั่งทุเรียน ชอบการเดินทางเพื่อสรรหาทุเรียนมารับประทาน ส่วนประชากรกลุ่มใหญ่ 52% ชอบทานทุเรียน แต่ต้องราคาไม่แพง หรือได้ทานฟรี และมีเพียง 12% ที่เกลียดทุเรียน

ทุเรียนอินโดนีเซีย ปี 2564 มีผลผลิต 1.3 ล้านตัน/ปี ปี 2566 เพิ่มเป็น 1.7 ล้านตัน/ปี มูลค่า 181,000 เหรียญสหรัฐ แต่บริโภคภายในประเทศเกือบทั้งหมด มีส่งออกเพียงเล็กน้อย ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่การปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น 231% ครอบคลุม 5,000 ตร.กม. และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 71% ด้วยความแตกต่างของพื้นที่ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว และชิมรสชาติทุเรียนที่พัฒนาเป็นทุเรียนพรีเมี่ยมราคาสูง โดยแต่ละหมู่บ้านมีทุเรียนสายพันธุ์ทุเรียนแปลก ๆ เฉพาะของตัวเอง

“อินโดนีเซียมีการปลูกทุเรียนกระจายใน 26 จังหวัด ให้เลือกรับประทานได้ตลอดทั้งปี แล้วแต่จะมาพื้นที่ใด ช่วงที่ทุเรียนออกมากสุดคือต้นปี ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม และปลายปีช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยทุเรียนในหมู่บ้านที่ปลูกคุณภาพต่ำจะมีราคาถูก หรือบางครั้งให้ฟรี หน่วยละ 0.00-0.20 เหรียญสหรัฐต่อ 2 กก. แต่แหล่งท่องเที่ยวจะเน้นปลูกทุเรียนพรีเมี่ยม ราคาหน่วยละ 2.67-3.33 เหรียญสหรัฐ” ดร.ไอ โมฮัมหมัดกล่าว

อนาคต ASEAN ต้องร่วมมือกัน

นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยปริมาณทุเรียนของเพื่อนบ้านใน ASEAN ต่างมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่การบริหารจัดการยังไม่ได้มีการวางแผนออกแบบให้ชัดเจน ภาพของทุเรียนในอนาคตคือ อุตสาหกรรมทุเรียน ASEAN จึงต้องร่วมมือกันมากกว่าแข่งขันกัน

วุฒิชัย คุณเจตน์
วุฒิชัย คุณเจตน์

โดยเฉพาะเรื่องระบบการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ เป็นฐาน เพื่อใช้วางแผน ระบบขนส่ง การตลาด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ AI ประมวลผลจากฐานข้อมูลเพื่อลดต้นทุน หรือต่อยอดอุตสาหกรรมทุเรียน ตอนนี้เป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะหน้า ทางปฏิบัติต้องมีกลไกสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อยู่ที่ใครจะเริ่มได้ก่อน

เพราะต่างมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบต่างกัน และทุเรียนจะเติบโตยั่งยืนได้ไม่ใช่แค่คุณภาพ ต้องเนื้อในอร่อย ทานแล้วอยากทานซ้ำ