ภูเก็ตแหล่งน้ำดิบส่อวิกฤตน้ำ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม ยอดใช้ประปาพุ่ง

ภูเก็ตแหล่งน้ำดิบส่อวิกฤตน้ำ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม ยอดใช้ประปาพุ่งก้าวกระโดดจาก 1.8 ล้าน ลบ.ม./เดือน พุ่งขึ้นไป 2.3 ล้าน ลบ.ม./เดือน ประปาภูมิภาคชี้เป็นการใช้น้ำล่วงหน้าไป 2 เดือนจากที่วางแผนบริหารน้ำในอ่างที่เหลือ ด้านผู้ว่าฯสั่งตั้งคณะทำงานเร่งบริหารจัดการ หาซื้อแหล่งน้ำดิบจากขุมเหมืองเอกชนรองรับ หากฝนทิ้งช่วง

วันที่ 17 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตแจ้งว่าสถานการณ์อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่การประปาส่วนภูมิภาคใช้ผลิตน้ำประปามีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ปริมาณความจุ 7.79 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณปัจจุบัน 3.57 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 45.8% สถานการณ์ปกติในกรณีฝนไม่ตกเลยอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำสามารถใช้น้ำได้อีก 102 วัน (ถึงเดือนกรกฎาคม)

อ่างเก็บน้ำบางวาด ปริมาณความจุ 10.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณปัจจุบัน 2.12 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 20.8% สถานการณ์เฝ้าระวังภัยแล้งปริมาณน้ำน้อยมากแจ้งเตือนใช้แผนป้องกันในกรณีฝนไม่ตกเลย อ่างเก็บน้ำบางวาดสามารถใช้น้ำได้อีก 38 วัน (ถึงเดือนพฤษภาคม)

อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ปริมาณความจุ 4.14 ล้านลูกบาศก์เมตรปริมาณปัจจุบัน 1.32 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 32.0% สถานการณ์เฝ้าระวังภัยแล้ง ในกรณีที่ฝนไม่ตกเลยอ่างเก็บน้ำคลองกระทะสามารถใช้น้ำได้อีก 66 วัน (ถึงเดือนพฤษภาคม)

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กรณีที่หลายคนเริ่มกังวลว่าปีนี้จังหวัดภูเก็ตจะมีปริมาณแหล่งน้ำดิบใช้ในการอุปโภคบริโภคเพียงพอหรือไม่ ขณะนี้ทางจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งคณะทำงานประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั้งระบบ น้ำประปา น้ำกินน้ำใช้ ซึ่ง น้ำประปา ในอ่างเก็บน้ำ มีประมาณ 40% ถือว่าน้อยลง และให้ติดต่อขุมน้ำเอกชน ขุมเหมืองเอกชน โดยทางการประปาต้องทำการจัดซื้อไว้หลายจุดรองรับ การเอาน้ำจากขุมเหมืองมาเข้าสู่ระบบการประปา

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หมู่บ้านชุมชนที่อยู่นอกเขตประปา ได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันดูแลในพื้นที่ ที่การประปาเข้าไม่ถึงหลายจุด ให้ใช้งบประมาณของท้องถิ่น เงินสะสมงบกลางได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบความเดือดร้อนในเรื่องของน้ำประปาน้ำกิน น้ำใช้น้ำดื่ม ช่วงสงกรานต์ และให้ติดตามสถานการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในเรื่องภาวะฝน ซึ่งมีการแจ้งว่า กลางเดือนพฤษภาคม จะเกิดฝนตกในจังหวัดภูเก็ต

ถ้าฝนตกลงมาจะไม่มีปัญหาแต่ถ้าเดือนมิถุนายน ยังไม่มีฝนตกจะเกิดปัญหา การใช้น้ำประปาซึ่งจะต้องดึงน้ำขุมเหมืองต่าง ๆ มาใช้ และบางท้องถิ่นเริ่มแจกน้ำแล้ว ได้มอบหมายว่า อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าเกินศักยภาพท้องถิ่น ให้แจ้งทางจังหวัดภูเก็ตเพื่อระดมสรรพกำลังช่วยกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงหน้าแล้งนี้ นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งจังหวัดภูเก็ต”

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง มีปริมาณน้ำ รวม 8.35 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22.13 % ของความจุทั้งหมด คาดการณ์ฝนที่ทิ้งช่วงจะตกในห้วงเดือนพฤษภาคม 2567

ในส่วนข้อมูลบ่อบาดาลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่รับผิดชอบข้อมูลโดย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต พบว่าอำเภอเมือง มีบ่อบาดาล จำนวน 1,291 บ่อ, อำเภอกะทู้ จำนวน 521 บ่อ, อำเภอถลาง จำนวน 761 บ่อ รวมบ่อบาดาล ทั้งสิ้น จำนวน 2,573 บ่อ

ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่ามากที่สุด

ด้าน นายสุกฤษณ์ กลิ่นสนธิ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่รับทราบการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่เดือนธันวาคม เป็นต้นมา ในการจัดหาน้ำดิบมาเพิ่มเติม ได้คาดการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 3 อ่าง ของโครงการชลประทานภูเก็ต หากมีน้ำไม่เพียงพอ จะมีการจัดซื้อน้ำดิบเพิ่มเติมจากขุมน้ำของเอกชนครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอ

ในช่วงแรกอยู่ที่ 1ล้านลูกบาศก์เมตร และส่วนที่ 2 หาน้ำดิบเพิ่มเติม 1,200,000 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 2 ระยะนี้อยู่ที่ 2.3 แสนลูกบาศก์เมตร จะมีการจัดซื้อน้ำประปาเพิ่มเติม และในพื้นที่อำเภอถลาง ประมาณ 900,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

“เราพยายามหาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองเอกชนมาเข้าสู่ระบบทั้ง น้ำดิบ และน้ำประปา รวมประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในทั้ง 3 อำเภอ ปริมาณน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ สามารถรองรับการให้บริการได้ถึงประมาณเดือนสิงหาคม ส่วนอ่างเก็บน้ำบางวาด สามารถรองรับการให้บริการ อยู่ที่ประมาณต้นเดือนมิถุนายน ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ อยู่ที่ประมาณเดือนมิถุนายนเหมือนกัน

โดยพบว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะลดลงมากกว่าปีที่แล้ว เหมือนกับเอาน้ำมาใช้ล่วงหน้า 2 เดือน เพราะว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวภาคโรงแรมมีการใช้น้ำอย่างก้าวกระโดดจากที่เคยขายน้ำ ได้เดือนละประมาณ 1,800,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือนมาแล้ว ทำให้ส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละเดือน 500,000 ลูกบาศก์เมตร ใน 3 เดือนที่ผ่านมานับเป็นจำนวนกว่า1ล้านลูกบาศก์เมตร เหมือนกับว่า ได้มีการใช้น้ำล่วงหน้าไป 2 เดือน จึงต้องบริหารจัดการ หาซื้อแหล่งน้ำดิบจากขุมน้ำเอกชนมาเพิ่มเติม

ปีนี้ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีการตรวจดูระดับน้ำและลดการใช้น้ำ ในส่วนที่ไม่จำเป็น และติดตาม ข่าวพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ในปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในจังหวัดภูเก็ต โดยคาดการณ์จะมีฝนเข้ามาช่วงกลางเดือนเมษายนนี้เป็นระยะ”