สาโรจน์ อังคณาพิลาส เปิดใจดันภูเก็ต “เขตปกครองพิเศษ”

Saroj
สัมภาษณ์

“ภูเก็ต” หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวหลัก ที่สร้างรายได้ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณจำกัด ไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา และรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงผลักดันขอเป็น “เขตปกครองพิเศษ” เพื่อแข่งขันกับเมืองทั่วโลก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สาโรจน์ อังคณาพิลาส” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ถึงปัญหาและข้อดีของการเป็นเขตปกครองพิเศษ

Q : ปัญหาการปกครองปัจจุบัน

รูปแบบการปกครองปัจจุบันใช้ข้อกฎหมายเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งความเป็นจริงทุกท้องถิ่นมีบริบทปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้ขาดความคล่องตัว ขาดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาเมือง เพื่อแข่งขันกับเมืองสำคัญทั่วโลก

Q : ขั้นตอนรัฐช้าแก้ปัญหาไม่ทัน

การปกครองรูปแบบปัจจุบันมีปัญหาหลายส่วนที่มีขั้นตอนล่าช้า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ยกตัวอย่างที่ผ่านมาประสบปัญหาที่แก้ไขได้ยาก คือ ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณน้ำจากพื้นที่ข้างเคียงไหลลงมาในคลองบางใหญ่ ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้ รวมถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาในคลองบางใหญ่ด้วย การแก้ปัญหาต้องจัดทำอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่

ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอรัฐบาลพิจารณา แต่เรารอไม่ได้ เป็นปัญหาใหญ่ ต้องรีบดำเนินการ คิดว่าคงต้องจัดสรรงบประมาณของเทศบาลนครภูเก็ตเอง

นอกจากนี้ เรื่องระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ เมื่อพบปัญหาแล้วไม่สามารถสั่งการหน่วยงานไหนในพื้นที่ได้เลย จึงต้องแก้ปัญหาด้วยกำลังของเทศบาลนครภูเก็ตเอง และอาศัยขอความร่วมมือเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับเมือง เพื่อขับเคลื่อนต่อสู้กับปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน

Advertisment

ในส่วนปัญหาจราจรเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่สามารถบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดต้องร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปัญหาของเมืองต้องเปลี่ยนแปลงในทันที ปกติมีการประชุมกรรมการจราจรเป็นประจำ แต่ถ้าทำได้เองทันทีไม่ต้องไปรอจะสะดวกรวดเร็วกว่า

รวมถึงเรื่องการควบคุมคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราไม่มีอำนาจไม่มีข้อกฎหมายรองรับ แต่ถ้าบริหารจัดการรูปแบบพิเศษได้ คงสามารถขับเคลื่อนแก้ปัญหานี้ได้

Q : ประชากรแฝง 3 เท่ากว่าคนภูเก็ต

การจัดการรูปแบบพิเศษ ยังอยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐบาลกลาง ไม่ใช่แยกตัวออกมาปกครองพิเศษ แต่ขอให้เปิดช่องกระจายอำนาจในบริบทของข้อกฎหมายระเบียบทางราชการในบางเรื่องที่ยังติดขัดอยู่
โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมาได้รับจัดสรรน้อยมาก โดยจัดสรรให้ตามตัวเลขประชากรในทะเบียนบ้านที่มีกว่า 70,000 คน ขณะที่มีประชากรแฝงมากกว่า 2-3 เท่า รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก

ถ้าเทียบรายได้ที่จัดเก็บส่งรัฐบาล ให้เราได้พัฒนา แก้ไขปัญหาเมือง เพื่อแข่งกับเวลาที่ผ่านไป ปัจจุบันหลายประเทศพัฒนาไปไกลมากแล้ว เราเสียโอกาสในการแข่งขัน ถ้ายังใช้การบริหารราชการแบบเดิม ทั้งนี้ เรื่องการกระจายอำนาจถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้

Advertisment

ที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก ในการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อว่าถ้าประชาชนในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนที่ดี เงินจะยกระดับคุณภาพชีวิตทำให้แต่ละครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาต่าง ๆ จะคลี่คลายไป

Q : งบประมาณที่ได้ไม่พอแก้ปัญหา

เราได้รับงบประมาณต่อหัวตามจำนวนประชากร ประมาณกว่า 50 ล้านบาทต่อปี และมีเงินอุดหนุนอีกประมาณ 9-10 ล้านบาท งบประมาณที่มีไม่เพียงพอแก้ปัญหาในแต่ละปี ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้

ผมคิดว่าชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน คือโดนเอารัดเอาเปรียบ งบประมาณต่าง ๆ ที่สนับสนุนทางเรากลับมา ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลนครภูเก็ต หรือท้องถิ่นอื่น หรือจังหวัดภูเก็ต ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาต่อยอดในการเป็นเมืองแข่งขันระดับโลก ที่จะสู้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก แต่โชคดีที่มีความเข้มแข็งของเอกชน

ประชาชนชาวภูเก็ตคงมีความรู้สึกเดียวกับผม ไม่ได้รู้สึกที่แตกต่างกัน และข้อมูลที่ทำมานี้ไม่ได้เป็นความคิดของเราเพียงคนเดียว เป็นการเซอร์เวย์ข้อมูลรวบรวมข้อมูลจากประชาชนโดยส่วนรวมมาแล้วตกผลึกมาเป็นแนวความคิดเดียวกันว่า อยากจะเห็นจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต บริหารจัดการรูปแบบพิเศษด้วย

Q : ข้อดีการปกครองรูปแบบพิเศษ

เทศบาลนครภูเก็ตร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ทำการวิจัยการบริหารจัดการรูปแบบพิเศษและประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว สามารถเลือกแนวทางการบริหารจัดการได้เลย แต่ไม่ว่าการบริหารงานรูปแบบใด ปัญหาต้องมี แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ทางเทศบาลนครภูเก็ตบริหารจัดการรูปแบบพิเศษได้ คิดว่าปัญหาใต้พรมต่าง ๆ คงได้รับการแก้ไข และจะมีงบประมาณไปต่อยอดพัฒนาบ้านเมืองได้อีกมาก

ตอนนี้การบริหารจัดการเมือง เราพยายามยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และแก้ไขปัญหาที่อยู่ใต้พรมในทุกเรื่อง แต่ในบางเรื่องยังติดระเบียบข้อกฎหมาย

โดยจะมีโครงการที่สำคัญเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุศูนย์นครภูเก็ตแคร์ การยกระดับพื้นที่ในระยะยาว อาทิ โครงการสะพานหินซิตี้, สปอร์ตคอมเพล็กซ์, สนามกีฬาชั้นยอดที่รองรับการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ในการปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดบริเวณสะพานหิน ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่, สวนสาธารณะชั้นดี, การยกระดับพื้นที่ทำมาค้าขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนมีสนามฟุตบอลที่สามารถแข่งขันและสามารถถ่ายทอดสดแล้วเห็นทะเลได้ด้วย อาจจะต้องเป็นการของบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐบาลในโอกาสต่อไป

และการพัฒนาพื้นที่บริเวณแดงพลาซ่าเป็นศูนย์ประชุม, ศูนย์แสดงสินค้า, ศูนย์เรียนรู้นานาชาติ ตลอดจนเป็นอาคารภูเก็ตทาวเวอร์เป็นอาคารขนาดใหญ่สูงหลาย 10 ชั้น เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก และมีเขื่อนเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ อาจจะมีที่จอดรถขนาดมหึมาที่สามารถจอดรถได้ กับการแก้ไขปัญหาของเมืองในการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต

ถ้าเติมในเรื่องงบประมาณ ในเรื่องระเบียบข้อกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เราได้มีอำนาจในการจัดการ ในส่วนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เชื่อว่าเทศบาลนครภูเก็ตจะเป็นเมืองที่แข่งขันกับเมืองต่าง ๆ จากทั่วโลกได้ไม่ยาก ซึ่งแผนนโยบายต่าง ๆ ได้วางแผนไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว

มีโครงการขนาดใหญ่ มีโครงการยกระดับเมือง มีโครงการพัฒนาต่อยอดส่งเสริมเศรษฐกิจพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ เยอะมาก ซึ่งได้เตรียมโครงการไว้รองรับในส่วนนี้ไว้พอสมควรแล้ว คิดว่าเมื่อมีโอกาสได้บริหารจัดการรูปแบบพิเศษ เทศบาลนครภูเก็ตคงจะยกระดับแบบก้าวกระโดดได้ และปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ใต้พรมจะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างทันท่วงที

Q : ชงเทศบาลลนครภูเก็ตนำร่อง

เราเสนอแค่เทศบาลนครภูเก็ตบริหารจัดการรูปแบบพิเศษ ไม่ได้เสนอทั้งจังหวัด เนื่องจากถ้าเสนอทั้งจังหวัดโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาน่าจะน้อยกว่า จึงขอเป็นท้องถิ่นนำร่อง ให้รัฐบาลพิจารณา ถ้าเกิดว่ามีปัญหาอะไรค่อยมาแก้ไขเป็นเรื่อง ๆ ไปตามกรอบ Timing เวลาที่จะเกิดขึ้น

ถ้าประสบความสำเร็จ รัฐบาลจะส่งเสริมและผลักดันให้เป็นท้องถิ่นตัวอย่าง ท้องถิ่นนำร่อง และไปเพิ่มเติมตามบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลยังไม่ได้ให้คำตอบมา แต่มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี

ถ้าได้เป็นปกครองรูปแบบพิเศษจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ได้ขอรถ EV 2 ชั้น เทศบาลผลักดันจะส่งเสริมท่องเที่ยวในเขตเมือง แต่ทุกวันนี้ยังทำไม่ได้ ต้องรอ ทั้งที่เราผ่านงบประมาณของเราไปแล้ว เราขอใช้ แต่ยังใช้ไม่ได้, การจัดศูนย์นครภูเก็ตแคร์ เป็นการดูแลผู้สูงอายุ ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจนถึงเสียชีวิต, ศูนย์ฟอกไต, ศูนย์แพทย์ทางเลือก ซึ่งกว่าจะทำโครงการได้ต้องใช้เวลา 2 ปีกว่าจะขออนุญาตเรียบร้อยหลายอย่าง

ตอนนี้อยู่ระหว่างกำหนดราคากลางเพื่อจัดซื้อจัดจ้างกว่าจะเสร็จเรียบร้อยไม่ทราบจะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ตามระเบียบราชการ ทำให้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องขอความเห็นใจจากทางรัฐบาล อย่างน้อยที่สุด ปัญหาต่าง ๆ คงได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น รวมถึงจะมีงบประมาณเข้ามาช่วยสนับสนุนต่อยอดในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเมืองเพื่อแข่งขันกับเมืองสำคัญจากทั่วโลกได้ด้วย

หลังจากได้ยื่นตามขั้นตอนแล้ว ตอนนี้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมประชุมรับฟังข้อเสนอต่าง ๆ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2567 อย่างน้อยที่สุด เราได้ทำหน้าที่ในส่วนตรงนี้ในเบื้องต้น ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ต้องรอลุ้นกันต่อไป