พาณิชย์ผุดเว็บไซต์ขายผลไม้ภาคเหนือนำร่องขาย “ลำไย” ออนไลน์

กระทรวงพาณิชย์ดันตลาดอี-คอมเมิร์ซผลไม้ภาคเหนือ หนุนเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการค้าผลไม้ออนไลน์ มุ่งส่งเสริมสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางการค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้น นำร่อง “ลำไย” หวังเป็นทางเลือกทางการตลาดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ตั้งเป้ากระจายผลผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งเสริมสินค้าเกษตรในภาคเหนือให้เข้าสู่การค้าออนไลน์ให้มากขึ้น ล่าสุด ได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายและโปรโมทผลไม้ของภาคเหนือเข้าสู่ช่องการการค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อ www.northfruit.org โดยจะเริ่มนำร่องนำ “ลำไย” ในภาคเหนือขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์เป็นสินค้าชนิดแรก ซึ่งจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซในการขยายตลาด

ปัจจุบันการค้าออนไลน์มีบทบาทและมีมูลค่าเพิ่มสูงมากแบบก้างกระโดด สำหรับประเทศไทยพบว่าการค้าออนไลน์มีมูลค่ารวมถึง 2.5 ล้านล้านบาท และเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการมากกว่า 6 แสนราย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้กำหนดเป็นแผนงานในปี 2560 ในการส่งเสริม e-commerce ภายใต้กิจกรรม Offline 2 Online

เบื้องต้นพบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกลำไยได้มูลค่าต่อปีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ด้วยสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกลำไย โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่และสามารถผลิตลำไยนอกฤดูกาลได้ จึงเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบ เพื่อพัฒนาผลผลิตลำไยที่มีคุณภาพ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้นในอีกช่องทางหนึ่ง

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริม ได้เข้าไปส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านอี-คอมเมิร์ซ แก่ชาวสวนและเครือข่าย MOC Biz Club กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เพื่อพัฒนาตลาดลำไยและผลไม้ในภาคเหนืออย่างครบวงจร จัดจำหน่ายทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงระบบโลจิสติกส์ และให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง (HUB) ทางการค้าผลไม้ออนไลน์ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ในการโปรโมทผลไม้ไทยให้กระจายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นางลลิดากล่าวว่า ผลไม้ของภาคเหนือเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งการขายผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น การขายผลไม้ผ่านร้านค้าออนไลน์ www.northfruit.org จะเพิ่มช่องทางการค้าให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ผ่านการขนส่งโดยสำนักงานไปรษณีย์เขต 5 ที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ขณะนี้ได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เพื่อกำหนดแนวทางและรูปแบบการพัฒนาให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถพัฒนาทักษะและขยายโอกาสทางการตลาดด้วยระบบการค้าออนไลน์แบบครบวงจรได้ โดยใช้โมเดลของจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบ