“ทีเส็บ”ดึงบายเออร์บุกงาน TDMM เชียงใหม่ ชู”7 อัศจรรย์แห่งล้านนา”เพิ่มมูลค่าตลาดไมซ์

“ทีเส็บ” เปิดฉากงาน TDMM 2018 เชียงใหม่ ดึงบายเออร์ทั้งหน่วยงานรัฐ-เอกชนพบผู้ขาย หนุนไทยประชุมไทย หวังกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ ชู “7 อัศจรรย์แห่งล้านนา”แม็กเนทใหม่ เพิ่มมูลค่าตลาดไมซ์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (15 สิงหาคม 2561) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้จัดงาน Thailand Domestic MICE Mart 2018 หรือ TDMM 2018 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang MICE) จัดงาน Thailand Domestic MICE Mart 2018 หรือ TDMM 2018 ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยภายในงานมีกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Trade Meet) ระหว่างผู้ซื้อ (Buyer) และผู้ขาย (Seller) ซึ่งมีจำนวนผู้ขายมากกว่า 50 หน่วยงาน อาทิ โรงแรม รีสอร์ท ศูนย์ประชุม สถานที่ท่องเที่ยว สายการบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านไมซ์ ขณะที่ได้นำผู้ซื้อจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 100 ราย เข้าร่วมเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ และได้เปิดตัว 7 อัศจรรย์แห่งล้านนา ซึ่งเป็นจุดขายใหม่ที่จะเข้ามาส่งเสริมธุรกิจไมซ์ของเชียงใหม่และภาคเหนือให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไมซ์ให้เพิ่มสูงขึ้นได้

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานคือ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคก้าวทันอุตสาหกรรมไมซ์ และส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาในประเทศให้มากขึ้น โดยได้พัฒนางาน TDMM 2018 ให้มีรูปแบบแตกต่างกว่าทุกครั้ง จากเดิมเป็นงานปิดแบบ B2B (Business to Business) ที่เป็นการขายให้กับองค์กรภาคธุรกิจ ซึ่งในปีนี้ได้ปรับรูปแบบการจัดงานเป็น B2C (Business to Consumer) เน้นการขายให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป โดยจัดตั้งพื้นที่ใหม่ในรูปแบบ “ไทยประชุมไทย” รองรับงานแบบ B2C และเตรียมเข้าไปจัดตั้งไว้ภายในงานไทยเที่ยวไทยในช่วงเดือนกันยายน 2561 นี้ เพื่อนำเสนอแพ็กเกจการประชุมสัมมนาให้กับลูกค้าและเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการด้านไมซ์ได้ครบวงจร

นายสราญโรจน์ กล่าวว่า ปี 2560 มูลค่าตลาดไมซ์ในประเทศไทย มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท แต่รายได้ราว 80% ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ในปีนี้จึงเร่งผลักดันธุรกิจไมซ์สู่ภูมิภาคให้มากขึ้น โดยเป้าหมายคือขายสินค้ากลุ่มไมซ์ในเมืองหลักและเที่ยวเมืองรอง พร้อมขายแพ็กเกจร่วมกับกลุ่มจังหวัด โดยผลักดันงานเทรดโชว์ออกสู่เมืองไมซ์ ได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น และภูเก็ต และเตรียมขยายสู่การจัดประชุมในเมืองที่มีศักยภาพใกล้เคียง เช่น เชียงราย ระยอง อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ และส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวหลังจบงานไปยังเมืองรองที่เข้าถึงจากเมืองไมซ์ได้สะดวก เช่น ลำปาง จันทบุรี หนองคาย ร้อยเอ็ด พังงา เป็นต้น

สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้ พบว่าตลาดไมซ์ในประเทศไทยมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานประชุมในธุรกิจไมซ์มากกว่า 900,000 คน มีรายได้ราว 70,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นราว 20% โดยมีสัดส่วนตลาด Incentives เติบโตขึ้นถึง 10%

นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มียุทธศาศตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ในฐานะที่เป็นเมืองไมซ์ โดยมุ่งส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดไมซ์ โดยเฉพาะตลาดเอเชียเป็นกลุ่มตลาดเป้าหมายของเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมยกระดับการบริการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว สร้างโอกาสในกิจกรรมไมซ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม พัฒนา ยกระดับบุคลากรที่มีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่และยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ

ด้านดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang MICE) กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเป็นเมืองไมซ์ (MICE City) ที่ดีมานด์ด้านไมซ์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะที่ซัพพลายที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริม โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆยังคงมีรูปแบบเดิมๆ ดังนั้น การสร้างโอกาสและจุดขายใหม่ๆให้กับธุรกิจไมซ์จึงมีความจำเป็นและจะช่วยกระตุ้นตลาดไมซ์ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ล่าสุด ได้คัดเลือก 7 อัศจรรย์แห่งล้านนา ที่จะทำให้การมาจัดงานไมซ์ที่เชียงใหม่มีความแตกต่างและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ 7 อัศจรรย์แห่งล้านนา ประกอบด้วย 1.Altra Adventure รองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ในรูปแบบ Team Building แนว Adventure อาทิ แข่ง ATV ลุยป่า ล่องแก่ง เดินป่า เป็นต้น 2.Tea Tradition ชมชาต้นแรกของ ร.9 ณ ดอบปู่หมื่น สัมผัสวิถีชา 3.Rustic Rice เปลี่ยนรูปแบบการประชุมกลางทุ่งนาสำหรับการประชุมกลุ่มเล็กๆ 20-30 คน ณ บ้านแพะต้นยางงาม อ.บ้านธิ จ.ลำพูน 4.Secret Silk แหล่งผ้าไหมล้านนาลำพูน ที่กลุ่มไมซ์จะได้เรียนรู้การทอผ้ายกดอก ผ้าฝ้ายพื้นเมือง 5.Wellness Wisdom สปาผลไม้ 12 เดือน ซึ่งเป็นสุดยอดวิถีสุขภาพล้านนา ผ่อนคลายการนวดโบราณย่ำขาง ณ วัดต้นเกว๋น 6.Fantastic Foods ปรับรูปแบบการทำกิจกรรม Team Building แข่งทำอาหารล้านนา 7.Halal History สัมผัสบรรยากาศตลาดพื้นเมืองแบบฮาลาล ณ กาดบ้านฮ่อ และโรงแรมที่รองรับตลาดมุสลิมโดยเฉพาะ ซึ่งแนวโน้มของตลาดมุสลิมที่ต้องการจัดไมซ์ในเชียงใหม่มีเพิ่มมากขึ้น โดยการชู 7 อัศจรรย์แห่งล้านนา คาดว่าจะสามารถรักษาฐานตลาดไมซ์กลุ่มเดิม และขยายตลาดไมซ์กลุ่มใหม่ๆได้มากขึ้น