วิสาหกิจโนนสุวรรณคว้าGMP “ยางเครป” ส่งออกจีน

คว้ารางวัล - วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ได้ผ่านการรับรองการผลิตยางเครปตามมาตรฐานGMP จากฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นครั้งแรกของไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ คว้ามาตรฐาน GMP โรงงานผลิต “ยางเครป” เพิ่มมูลค่า หนึ่งเดียวในไทย ทำออร์เดอร์ยอดส่งออกจีนทะลัก 2,000-5,000 ตันต่อเดือน วาดเป้าอนาคตแปรรูปสู่ “ยางคอมพาวนด์” หวังได้ราคาสูงขึ้น

นายธนากร จีนกลาง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ได้ผ่านการรับรองการผลิตยางเครปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (good manufacturing practices : GMP) จากฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้ยางก้อนถ้วยที่มีราคา ณ ปัจจุบัน 13-14 บาท/กิโลกรัม มาพัฒนาเป็นยางเครปบางส่งออกไปยังตลาดชิงเต่า ประเทศจีน ได้ในราคา 33-34 บาท/กิโลกรัม

โดยช่วง 2 เดือนแรกทดลองส่งยางเครปไปลองตลาดประมาณ 100-200 ตัน/เดือน ปรากฏว่าสินค้าได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทำให้ล่าสุดมีออร์เดอร์ส่งออกในเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,000-5,000 ตัน แต่ทางวิสาหกิจชุมชนฯมีสมาชิกอยู่ 220 คน มีกำลังการผลิตรวมกันได้เพียง 100 ตัน/เดือน โดยศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตค่อนข้างยาก ฉะนั้น จำเป็นต้องหาเครือข่ายมาศึกษาดูงานแล้วรับออร์เดอร์ไป โดยมีเครือข่ายอยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์

“เราพัฒนายางมากว่า 3-4 ปีแล้ว ก่อนประสบความสำเร็จประมาณ 1 ปีที่แล้ว ด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง จากที่ก่อนหน้านี้เราทำยางเครปหนา ราคาที่ได้ทำให้กลุ่มเกษตรกรเสียเปรียบพ่อค้า จึงคิดว่าทำอย่างไรให้บางลงและขายได้ราคาดีขึ้น จึงหันมาทำยางเครปบางแบบมีคุณภาพ

เมื่อได้รับมาตรฐาน GMP ทำให้มั่นใจในการผลิตมากขึ้น เราพยายามดึงยางก้อนออกจากตลาดให้ได้ เพราะถ้าเราทำได้จะทำให้ราคายางขยับขึ้น ผู้ประกอบการจะให้ราคายางแปรรูปแล้วดีกว่ายางก้อนถ้วย และในอนาคตนอกจากยางเครป เราอยากจะแปรรูปไปให้ถึงยางคอมพาวนด์ที่ได้ราคาสูงขึ้นอีก”

นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. เปิดเผยว่า สำหรับการรับรองมาตรฐาน GMP ยางเครปของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา มีอายุการรับรองเป็นระยะเวลา 1 ปี ในระหว่างปีมีการตรวจติดตามไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง หากไม่สามารถรักษามาตรฐานไว้ได้ การรับรองจะถูกยกเลิกไป

ทั้งนี้ การผลิตยางเครปมี 2 แบบ คือ ยางเครปหนา และยางเครปบาง ประเภทยางเครปหนาความสม่ำเสมอ หรือคุณภาพของยางจะสู้ยางเครปบางไม่ได้ เพราะยางเครปบางความชื้นต้องน้อยกว่า 1% ความหนาต้องไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ขนาดของเม็ดยางพาราจะต้องละเอียดสม่ำเสมอ สามารถตอบโจทย์ผู้ที่นำยางไปใช้ได้

โดย กยท.ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบยางก้อนถ้วยคุณภาพดี เพื่อให้สอดรับกับการแปรรูปให้เป็นยางเครป หรือนำยางก้อนถ้วยที่ได้เข้าสู่โรงงานผลิตเป็นยางแท่งโดยตรง แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรมักจะถูกกดราคาเมื่อส่งยางไปผลิตเป็นยางแท่ง ส่วนการผลิตเป็นยางเครปจะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ผลิตยางเครปเพื่อส่งต่อให้กับโรงงานยางแท่ง 2.ผลิตเพื่อส่งต่อให้กับโรงงานทำผลิตภัณฑ์โดยตรงเพื่อไปแปรรูป เช่น รองเท้าบูต สายพานลำเลียง ยางปูพื้น เป็นต้น แต่การส่งให้โรงงานผลิตยางโดยตรงเกษตรกรต้องมีผลผลิตที่ได้คุณภาพและเป็นที่ยอมรับเท่านั้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมการผลิตยางเครปบางเพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP นอกจากเรื่องของวัตถุดิบ จะต้องพิจารณาสถานประกอบการควบคู่กันไปกับอุปกรณ์และกระบวนการผลิตด้วย เพราะมาตรฐานยางเครปอยู่ในมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งกำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนนี้รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในภาคอีสานกว่า 80% สามารถผลิตยางก้อนถ้วยนำไปทำเป็นยางเครปเพิ่มมูลค่าได้ เพราะยางก้อนถ้วยค่อนข้างสะอาดได้มาตรฐาน แตกต่างจากภาคใต้ที่ต้องได้รับการส่งเสริมด้านการผลิตเพิ่มขึ้นอีก และคาดว่าในปี 2562 การผลิตยางเครปจะต้องได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 แห่ง