มช.มุ่งสู่ “CMU Smart City-Clean Energy” ต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศ

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มุ่งหวังที่จะสร้างชุมชนที่มีการกินดีอยู่ดี มีความสุขและรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินโครงการ CMU Smart City-Clean Energy ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่เมืองต้นแบบอัจฉริยะพลังงานสะอาด นับเป็นโครงการที่สนับสนุนแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 ของยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ที่มุ่งเน้นการเป็นผู้นำด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในอีก 4 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยจะดำเนินการใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ พลังงาน สิ่งแวดล้อม การสัญจร และชุมชน

ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) มุ่งเน้นลดการใช้พลังงาน มีการใช้พลังงานทดแทน โดยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานลงไม่ต่ำกว่า 30% เช่น ติดตั้ง Solar Rooftop ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ พร้อม Energy Storage และระบบ Smart Grid เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนรอบข้างได้มาศึกษาเรียนรู้

ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำเสียและการจัดการขยะ มีการจัดทำระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Management) บำบัดน้ำเสีย เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้านการจัดการขยะ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร เพื่อรองรับการจัดการขยะทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบครบวงจร โดยแปลงของเสียเป็นพลังงาน

สำหรับด้านการสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) มุ่งให้การสัญจรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำระบบรถบริการสาธารณะเพื่อลดการใช้รถส่วนบุคคล ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถจักรยาน การเดินเท้า มีการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับขนส่งมวลชนอัจฉริยะ โดยการใช้แอปพลิเคชั่นที่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้เดินทาง CMU Transit ในด้านความปลอดภัยของการสัญจรเข้า-ออก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำระบบ Smart Gates และ Smart Pass เข้ามาใช้เป็นระบบตรวจสอบรถยนต์เข้า-ออกของมหาวิทยาลัย ใช้การตรวจจับทะเบียนรถยนต์และบันทึกแบบ Real-Time ทำให้ตรวจสอบได้ว่ารถยนต์แต่ละคันเข้า-ออกที่ประตูไหน เวลาใด รวมถึงการจัดทำ Parking Zone เพื่ออำนวยความสะดวกและลดการสัญจรที่ไม่จำเป็นลง และเพิ่มระบบ Bike Sharing หรือจักรยานสาธารณะแบบมีเกียร์ ซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่มทางเลือกในการสัญจรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ด้านชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) มุ่งหวังให้ชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ได้มีการพัฒนาด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม มีการจัดทำพื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อ การพัฒนาระบบ WiFi ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันภายในมหาวิทยาลัย เช่น ติดตามการเดินรถไฟฟ้า ตารางการเรียนการสอน Virtual Card และ My QR ระบบ Cashless Society เช่น จ่ายค่าลงทะเบียน ร้านอาหาร เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อมั่นว่าการดำเนินการด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จะเป็นตัวอย่างและต้นแบบที่เป็นรูปธรรม รองรับความเป็นสังคมอุดมปัญญา มีความสุขและยั่งยืนให้กับชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสามารถถ่ายทอดสู่ชุมชนรอบข้างนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงประจักษ์ต่อไป