กรกฏ เอกฐานุตต์ นำโคมไฟ O’THENTIQUE ไม้ธรรมชาติตีตลาดโลก

สัมภาษณ์

ของแต่งบ้านสุดคลาสสิกอย่างโคมไฟที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ถือว่าเป็นสินค้าอีกหนึ่งชนิดที่ถูกพัฒนาให้มีหลากสีหลายดีไซน์ รวมถึงรูปทรงต่าง ๆ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่น ตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างเช่นผลงานของ “กรกฏ เอกฐานุตต์” เจ้าของแบรนด์โอเท็นติก (O”THENTIQUE) ที่สร้างโคมไฟจากงานไม้ โดยดึงเอกลักษณ์จากธรรมชาติในรูปแบบของไม้ธรรมชาติ ทั้งการแกะสลักและการประกอบ เพื่อชูให้ผลงานโดดเด่นขึ้นในการส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศ

“กรกฏ” เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า หลังเรียนจบด้านธุรกิจที่ Kingston University จากประเทศอังกฤษ ได้ตัดสินใจมาทำโคมไฟส่งออก เพราะมองเห็นช่องทางธุรกิจ โดยใช้ชื่อแบรนด์โอเท็นติก มีโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มแรกผลิตทำตลาดซื้อขายทั่วไปปกติ เมื่อสามารถตีตลาดต่างประเทศได้ และเริ่มมีลูกค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ต้องควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของการเริ่มก่อตั้งโรงงานในปี 2547 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

โดยวัสดุที่ใช้สร้างผลิตภัณฑ์ทำมาจากธรรมชาติ เช่น ไม้หวายและไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ รวมไปถึงการนำเซรามิกมาเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งยังมีการพัฒนาส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น สายไฟ ที่ต้องมีมาตรฐานสากลตามประเทศที่ส่งออก

“แบรนด์โอเท็นติกก่อตั้งมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว เริ่มจากซื้อมาขายไป แล้วพัฒนาจนมีลูกค้าต่างประเทศก่อนมาเริ่มสร้างโปรดักต์เพื่อส่งออก 100% และเหตุผลที่เป็นงานจากธรรมชาติเพราะตัวเองเป็นคนชอบงานไม้ เมื่อนำมาทำเป็นโคมไฟเหมือนเป็นการต่อยอด เข้าสู่ตลาดมีเดียม ตลาดไฮเอนด์ เน้นทำเป็นงานฝีมือ ออกแบบคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ให้เป็นไปตามรูปทรงธรรมชาติของไม้ที่นำมาใช้ โดยทั้งหมดมาจากภายในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือ ส่วนเซรามิกก็ปั้นขึ้นมาจากโรงงานในประเทศ ส่วนที่นำมาทำเป็นโคมไฟบางตัวหาได้ในพื้นที่กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร”

ด้านตลาดปัจจุบันอยู่ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี เติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 10-15% ต่อปี เพราะงานประเภทไม้คู่แข่งค่อนข้างน้อย แม้ว่าคู่แข่งในการทำธุรกิจด้านโคมไฟมีอยู่มากก็ตาม อีกทั้งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อโคมไฟโอเท็นติกยังมีการส่งขายเป็นโปรเจ็กต์ให้กับโรงแรม หรือร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ด้วย และราคาที่ได้รับความนิยมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3-4 พันบาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับการดีไซน์การออกแบบ และความสำเร็จของการทำตลาดส่งออกอยู่ที่ความพอใจของลูกค้า

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาฉีกหนีคู่แข่งที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเติบโตได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!