คาด “ลุ่มน้ำปิงตอนบน” ไม่ประสบภัยแล้ง เร่งบริหารน้ำต้นทุน “เขื่อนแม่งัด-แม่กวง”

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 สรุปสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน ในเขต สชป.1 (ชม.และ ลพ.) (4 มี.ค.62) ซึ่งพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิงตอนบนครอบคลุม 11 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ และ 4 อำเภอ ใน จ.ลำพูน โดยเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง สภาพน้ำท่าใกล้เคียงปี 2561

ทั้งนี้ความต้องการ (DEMAND) ในช่วงฤดูแล้ง-ปลายเดือนพฤษภาคม พื้นที่การเกษตร 161,901 ไร่ มีความต้องการใช้น้ำ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) การอุปโภค-บริโภค (ประปา) มีความต้องการน้ำ 21 ล้าน ลบ.ม. และประเพณี-การท่องเที่ยว (สงกรานต์) มีความต้องการใช้น้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งสิ้น 202 ล้าน ลบ.ม. โดยจะใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 110 ล้าน ลบ.ม. และ Base Flow 92 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับน้ำต้นทุน (SUPPLY) ในปัจจุบันพบว่า เขื่อนแม่งัดฯมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ 230.15 ล้าน ลบ.ม. (86.85%) น้อยกว่าปี 2561 อยู่ที่ 0.34% ซึ่งการจัดสรรน้ำลงลำน้ำปิงในปี 2561 จัดสรรลง 95 ล้าน ลบ.ม. (แบบรอบเวรแบ่งเป็น 19 งวด) (ไม่มีปัญหาภัยแล้ง) ขณะที่แผนปี 2562 จะจัดสรรลงลำน้ำแม่ปิง 110 ล้าน ลบ.ม. (แบบรอบเวรแบ่งเป็น 25 งวด) (ประเมินแล้วจะไม่ประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้งฝ) ปัจจุบันส่งน้ำแล้ว 8 งวด รวม 25 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 85 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่าสามารถบริหารจัดการน้ำจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โดยเกินจากที่อุตุฯพยากรณ์กลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าเขื่อนแม่งัดฯจะมีน้ำเหลือประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 สำหรับเตรียมแปลงตกกล้าฤดูฝนปี 2562 ดังนั้นฤดูแล้งปี 2562 คาดว่าไม่มีปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำปิงตอนบน

นายจานุวัตรกล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำรายจังหวัด ขณะนี้ จ.เชียงใหม่ มีอ่างขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ 1.เขื่อนแม่งัดฯมีน้ำต้นทุน 230.15 ล้าน ลบ.ม. (86.85%) น้อยกว่าปี 2561 อยู่ที่ 0.34% พื้นที่การเกษตร 62,489 ไร่ น้อยกว่าปี 2561 ราว 10% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ) และ 2.เขื่อนแม่กวงฯมีปริมาณน้ำต้นทุน 116.63 ล้าน ลบ.ม. (44.35%) มากกว่าปี 2561 6.04% พื้นที่การเกษตร 71,846 ไร่ มากกว่าปี 2561 ราว 2% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ)

ด้านฝายแม่แตงมีปริมาณน้ำไหลเข้า 5.41 ลบ.ม./วินาที มากกว่าปี 2561 พื้นที่การเกษตร 46,698 ไร่ มากกว่าปี 2561 ราว 2% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ) ขณะที่อ่างขนาดกลาง 12 แห่ง มีน้ำต้นทุน 50.77 ล้าน ลบ.ม. (58.58%) น้อยกว่าปี 2561 ราว 15.08% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 73,661 ไร่ มากกว่า ปี 2561 2% อ่างขนาดเล็ก 117 แห่ง มีน้ำต้นทุน 40.25 ล้าน ลบ.ม. (61.80%) น้อยกว่า ปี 2561 ราว 3.82%

ในส่วน จ.ลำพูน มีอ่างขนาดกลาง 4 แห่ง มีน้ำต้นทุน 14.09 ล้าน ลบ.ม. (40.15%) น้อยกว่าปี 2561 ราว 10.69% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 59,629 ไร่ น้อยกว่าปี 2561 ราว 22% อ่างขนาดเล็ก 47 แห่ง น้ำต้นทุน 10.25 ล้าน ลบ.ม. (41.59%) น้อยกว่าปี 2561 ราว 8.79%

ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน มีอ่างขนาดกลาง 2 แห่ง น้ำต้นทุน 1.13 ล้าน ลบ.ม. (89.01%) น้อยกว่าปี 2561 อยู่ที่ 6.44% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 11,152 ไร่ เท่ากับปีแล้ว และอ่างขนาดเล็ก 29 แห่ง น้ำต้นทุน 8.89 ล้าน ลบ.ม. (78.48%) น้อยกว่าปี 2561 ราว 1.46% ทั้งนี้ลักษณะโครงการขนาดกลาง/เล็กเป็นแหล่งน้ำเชิงเดี่ยว ซึ่งจะต้องบริหารจัดการเฉพาะแห่ง โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำและเจ้าหน้าที่ชลประทาน จะกำหนดแผนการเพาะปลูกและบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้ง