อาเซียนรวมพลัง ถกแก้ปัญหาภัยพิบัติฉุกเฉิน-หมอกควัน ที่เชียงใหม่ เร่งวางแผนระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (17 พฤษภาคม 2562) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัด การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 (21st ASCC Council) ซึ่งเป็นการประชุมลำดับสุดท้ายของการประชุมอาเซียนที่จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่

โดยกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพ พร้อมด้วยคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะผู้แทน และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน จำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การจัดประชุมอาเซียนครั้งนี้ เป็นการประชุมที่สำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปี 2562 โดยผลการประชุมที่สำคัญ สมาชิกอาเซียนมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง “4 ศูนย์อาเซียน” ที่ประเทศไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของอาเซียนในอนาคต โดย 4 ศูนย์อาเซียน ได้แก่

  • ศูนย์คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ของอาเซียนในประเทศไทย
  • ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม
  • ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน
  • ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม

สำหรับ “14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ” ของการประชุมประกอบด้วย เอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 (ASEAN Summit) จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1.1 เอกสารเพื่อการรับรอง (For Adoption) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region) และ (2) แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2562 (ASEAN Leaders’ Statement on the ASEAN Cultural Year 2019)

1.2 เอกสารเพื่อทราบ (For Notation) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) กรอบปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) (2) ถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม (ASEAN Labour Minister’s Statement on the Future of Work: Embracing Technology for Inclusive and Sustainable Growth) และ (3) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อการประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 108 (ASEAN Labour Ministers’ Joint Statement on Green Initiative to the 108th International Labour Conference)

ขณะที่เอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 จำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ 2.1 เอกสารเพื่อการรับรอง (For Adoption) จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย (1) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 25th COP to the UNFCCC)

(2) ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบในอาเซียน (Declaration on the Protection of Children against All forms of Online Child Exploitation and Abuse in ASEAN)

(3) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน (ASEAN Declaration on the Rights of Children on the Move) (4) ปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยังยืน (Bangkok Declaration to Advance Partnership on Education for Sustainability)

และ (5) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน (Joint Statement on Reaffirmation of Commitment to Advancing the Rights of the Child in ASEAN)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เป็นประเด็นสำคัญที่คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เป็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในระดับภูมิภาค โดยมองว่าหมอกควันพิษไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบโดดเดี่ยว แต่มีความเกี่ยวพันกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเวทีการประชุมครั้งนี้เห็นว่าจะต้องจัดทำพิธีสาร (Protocol) ที่เป็นความตกลงระหว่างประเทศในการแก้ปัญหา โดยจำเป็นต้องดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ-เอกชน และภาครัฐ ที่ต้องช่วยกันวางแผน (Plan of Action) ซึ่งการแก้ปัญหาอาจไม่บรรลุในระยะสั้นๆ แต่ต้องเป็นแผนที่จะสามารถแก้ปัญหาในระยะยาว (long-term)