ประชารัฐตรังเพาะ “ปลิงขาว” บนบก ปั้นแบรนด์ “พระยาลิบง” ส่งออก

ปริมาณปลิงขาวที่เคยเป็นทรัพยากรประมงสำคัญในพื้นที่จังหวัดสตูล พังงา ระนอง และตรัง สามารถเดินเก็บเพื่อเลี้ยงชีพได้ในพื้นที่ชุ่มน้ำช่วงน้ำลง ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในสภาพวิกฤต

การขยายพันธุ์ของปลิงขาวในพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาตินั้น แม้ว่าปลิงตัวหนึ่งจะมีปริมาณไข่ประมาณ 3-4 ล้านฟอง แต่อัตราการรอดของลูกปลิงขาวที่เกิดขึ้นจากไข่ที่ได้ขนาดลูกปลิงขาว 2-3 เซนติเมตรนั้นมีเพียง 0.01-0.05% เท่านั้น ซึ่งเปรียบเทียบกับอัตราการบริโภคปลิงขาวทั้งในประเทศและต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะปี 2560 มียอดขายตลาดในประเทศและต่างประเทศประมาณ 100,000 ตัน/ปี

ในอดีตประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกปลิงขาวประมาณ 4,800 เมตริกตัน ในปี พ.ศ. 2511 และปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 จับได้เพียง 303 เมตริกตัน และในปี 2559 จับได้เพียง 3 เมตริกตันเท่านั้น ราคารับซื้อปลิงขาวตากแห้งหน้าฟาร์มมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 2,500 บาท/กก. แต่ถ้าส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ จีน เกาหลี ฮ่องกง และไต้หวัน ราคาสูงขึ้นประมาณ 6,000-8,000 บาท/กก. เนื่องจากความเชื่อที่ว่าสามารถรักษาโรคบางชนิดและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ สอดคล้องกับผลวิจัยที่ระบุว่า มีสารบางอย่างมีประสิทธิภาพเป็นยาช่วยรักษาโรคมะเร็ง บรรเทาอาการเสื่อมของข้อกระดูกในผู้สูงวัย

นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ กรรมการผู้จัดการ (MD) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรังฯ มีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมระบบการเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์และการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาว ในฟาร์มบนบกแบบครบวงจรในระบบปิด โดยกระตุ้นให้เกิดการวางไข่ 5 วิธี ได้แก่ กระตุ้นด้วยความร้อน การใช้ความกดดันน้ำ การใช้วิธีทำให้แห้ง การกระตุ้นด้วยเซลล์สืบพันธุ์ และการกระตุ้นโดยใช้อาหาร โดยควบคุมปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการวางไข่ และการเลี้ยงปลิงวัยอ่อน คือ ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง อาหาร และวัฏจักรของดวงจันทร์ ซึ่งปลิงขาวจะวางไข่ในช่วงพระอาทิตย์ตกดินและช่วงกลางคืน ในช่วงข้างขึ้นหรือพระจันทร์เต็มดวงซึ่งมีน้ำขึ้นน้ำลงระดับสูง การเลี้ยงระบบนี้จะเพิ่มอัตรารอดจากไข่ถึงลูกปลิงขนาด 2-3 เซนติเมตร ประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอด 0.01-0.05% ในแหล่งธรรมชาติ และสามารถผลิตได้ตลอดปี

“สำหรับการดำเนินงานมีกิจกรรมร่วมกับ Top Aqua Asia ที่จังหวัดภูเก็ต คือ กิจกรรมการพัฒนาระบบอนุบาลลูกปลิงวัยอ่อน ในระบบปิดน้ำหมุนเวียน กิจกรรมการผลิตลูกปลิงขาววัยอ่อนขนาด 0.5-1.0 กรัม ในฟาร์มบนบกด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อม การกระตุ้นด้วยความร้อน การกระตุ้นด้วยเซลล์สืบพันธุ์ โดยใช้ water pressure และวิธี dry treatment การกระตุ้นด้วยอาหาร และผลิตปลิงขาวขนาดเต็มวัย 300-500 กรัม ในฟาร์มบนบก”

สำหรับกิจกรรมที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ประกอบด้วย การพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงปลิงทะเลในพื้นที่ชุ่มน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม การผลิตปลิงขาวขนาด 300-500 กรัม โครงการกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่หมู่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง หรือพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อใช้เลี้ยงปลิงขาวในคอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร จำนวน 3 คอก โดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อเลี้ยงปลิงขาวขนาด 0.05-1.0 กรัม ให้ได้ขนาด 300-500 กรัม โดยใช้ลูกพันธุ์ปลิงขาวที่ได้จากการเพาะฟักในฟาร์มบนบก

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงในฟาร์มบนบกโดยใช้ลูกปลิงวัยอ่อนขนาด 1.5-2.5 เซนติเมตร หนัก 0.5-1.0 กรัม เพื่อผลิตปลิงขนาด 300-500 กรัม สู่ตลาดโดยใช้ลูกพันธุ์ปลิงขาว ที่ได้จากการเพาะฟักในฟาร์มบนบก และใช้อาหารปลิงขาวที่โครงการพัฒนาขึ้น

“ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการเลี้ยงปลิงขาวในฟาร์มบก และคอกในทะเล จะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะลิบง มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากการขายปลิงทะเล ที่มีความมั่นคง จนนำไปสู่การทำให้เศรษฐกิจฐานรากของท้องถิ่นดีขึ้น ถือเป็นอาชีพทางเลือก ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกื้อกูลต่อวิถีประมง เป็นการคืนปลิงทะเลสู่ทะเลชุมชน ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง” นายลือพงษ์กล่าว

นายลือพงษ์กล่าวต่อไปว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสรุปต้นทุนการผลิตลูกปลิงจากฟาร์มจะมีอัตราการรอดเฉลี่ย 50% ของระบบเลี้ยง ต้นทุนการผลิตลูกพันธุ์ปลิงขาววัยอ่อนขนาด 1.5-2.5 เซนติเมตร 0.5-1.0 กรัม ตัวละ 0.60 บาท (หกสิบสตางค์) ราคาจำหน่ายลูกพันธุ์ปลิงขาวจากฟาร์มขนาด 1.5-2.5 เซนติเมตร ตัวละ 2 บาท ขุนลูกปลิงเพื่อจำหน่ายแบบรมควัน ต้นทุนการผลิต 800 บาท/กิโลกรัม ประกอบด้วยระยะเวลาเลี้ยง 8 เดือนให้ได้ขนาด 300-500 กรัม/ตัว ซึ่งเป็นขนาดปลิงเต็มวัย จะมีรายได้จากการขายลูกพันธุ์ขนาด 1.5-2.5 เซนติเมตร จำนวน 200,000 ตัว/เดือน ตัวละ 2 บาท รายได้ต่อเดือนประมาณ 400,000 บาท รายได้จากปลิงขาวรมควันขนาด 20-30 ตัว/กิโลกรัม 520.8 กิโลกรัม/8 เดือน กิโลกรัมละ 2,500 บาท รายได้ประมาณ 1,250,000 บาท/8 เดือน

“ภายในปี 2562-2567 บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดมีนโยบายและแผนที่จะฟื้นฟูทรัพยากรปลิงขาวในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังให้คืนสภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการกำหนดเขตทะเลชุมชนเพื่อให้เป็นเขตอนุรักษ์ และเพื่อฟื้นฟูประชากรปลิงขาว โดยนำลูกปลิงขาวขนาด 1.5-2.5 เซนติเมตร ขนาด 0.50-1.0 กรัม ปล่อยคืนสู่ทะเลภายใต้การดูแลของชุมชนประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ การเลี้ยงปลิงขาว Sea Farming ในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเกาะลิบง ทำการผลิตลูกปลิงในฟาร์มบนบกเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมข้างต้น พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปปลิงรมควัน ที่ผลิตได้ให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภายใต้แบรนด์พระยาลิบง” นายลือพงษ์กล่าว

นายลือพงษ์กล่าวต่อไปว่า การทำโครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ โดยต่อยอดด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาชาวบ้านเกาะลิบง ในการทำปลิงทะเลรมควัน นำปลิงทะเลมาบีบไส้ออกแล้วนำไปต้มจนสุก นำกลับไปตากลมจนแห้งแล้วฝังทรายไว้ 1 คืน ขูดผิวด้วยไม้ไผ่แล้วล้างให้สะอาด นำไปรมควันจนแห้งสนิท จนสามารถจำหน่ายต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรังฯได้นำเสนอโครงสร้างการแปรรูปอาหารบรรจุเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัดตรัง (คสป.ตรัง) เพื่อบรรจุเข้าแผนพัฒนาจังหวัดตรังงบประมาณปี 2563 และได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรังรับไปจัดทำโครงการและออกแบบโรงงานแปรรูป