จดทะเบียน “ฟิตเนส” พุ่ง ยอดครึ่งปี’62 เฉียด 500 ราย

คอลัมน์ ดาต้าภูธร

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานข้อมูลในช่วงกลางปี 2562 ว่า ปัจจุบันธุรกิจสถานออกกำลังกาย อันได้แก่ ศูนย์ฟิตเนส บริการแอโรบิก ศูนย์โยคะ และสปอร์ตคลับ ที่มีการจดทะเบียนทั่วประเทศ นอกเขตกรุงเทพฯมีจำนวนอยู่ราว 476 ราย โดยภาคใต้มีจำนวนมากที่สุดที่จำนวน 174 ราย หรือ 36.5% รองลงมาคือ ภาคกลาง 113 ราย หรือ 23.7% ภาคตะวันออก 72 ราย หรือ 15.1% ภาคเหนือ 62 ราย หรือ 13% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38 ราย หรือ 7.9% ภาคตะวันตก 17 ราย หรือ 3.5% และหากแบ่งตามทุนจดทะเบียนพบว่า ภาคกลางมีปริมาณสูงสุดที่ 1,680.50 ล้านบาท รองลงมาคือ ภาคใต้ 532.44 ล้านบาท ต่อมาคือภาคตะวันออก 412.10 ล้านบาท ภาคเหนือ 162.55 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 67.83 ล้านบาท และน้อยสุดคือภาคตะวันตก 36.10 ล้านบาท มียอดรวมทุกภาค 2,894.52 ล้านบาท

ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ภูเก็ต จำนวน 82 ราย ชลบุรี จำนวน 54 ราย เชียงใหม่ จำนวน 37 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น มีกำลังซื้อสูง และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการคมนาคมสนับสนุนการใช้บริการของกลุ่มผู้บริโภค

ทั้งนี้ เมื่อดูยอดรวมธุรกิจฟิตเนสทั้งประเทศ (รวมกรุงเทพฯ) พบว่ามียอดรวม 816 ราย เป็นเงินทุนจดทะเบียน 8,350.66 ล้านบาท โดยในปี 2562 เฉพาะช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม พบว่ามีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 70 ราย หรือคิดเป็น 20.69% จากช่วงเดียวกันในปี 2561 ที่มีการจดทะเบียนอยู่ที่ 58 ราย ทว่า เป็นเงินทุนจดทะเบียน 133 ล้านบาท หรือลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ 12.5%

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ในช่วงปี 2562 มีการลงทุนของชาวต่างชาติในนิติบุคคลไทย เพิ่มจากปี 2561 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 27.9% หรือจาก 934.28 ล้านบาท เป็น 1,194.96 ล้านบาท และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาข้อมูลในระยะ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่มีอยู่ 560.15 ล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 895.1 ล้านบาทในปี 2560 และ 1,080.39 ล้านบาทในปี 2561 คาดว่าเป็นผลจากการร่วมทุนและการนำแบรนด์ฟิตเนสต่างชาติมาเปิดสาขาในประเทศไทย

โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้อธิบายข้อมูลชุดดังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการออกกำลังกายได้รับความนิยมมากขึ้น ตามแนวโน้มและกระแสการดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังเพิ่มการบริการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ฟิตเนสขนาดเล็กที่มีผู้ฝึกสอนส่วนตัว ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงไปจนถึงศูนย์ออกกำลังกายเฉพาะด้าน ได้แก่ ปั่นจักรยานในร่ม โยคะ มวยไทย เพื่อการออกกำลังกาย เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบกับสถิติการจัดงานวิ่งในประเทศไทยช่วงปี 2557-2560 พบว่าความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจากปี 2557 ที่จำนวน 472 งาน และปี 2558 ที่จำนวน 492 งาน กลายเป็น 708 งานในปี 2558 และ 832 งานในปี 2560