จอมศักดิ์ ภูติรัตน์ วาดแผนจันทบุรี Smart Green City in Gardens

สัมภาษณ์

พื้นเพเป็นคนสุราษฎร์ธานี ย้ายมาเป็นคนจันทบุรีได้เกือบ 30 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นคนเผาพลอยขาย ซึ่งไม่เคยร่ำเรียนมา แต่อาศัยครูพักลักจำจากคนจันทบุรี บวกกับการลงมือทำด้วยตัวเองติดต่อกันเป็นปี จนเกิดความช่ำชอง เผาพลอยขายทำรายได้เดือนละหลายแสนบาท ผลิตเท่าไหร่ก็ขายไม่ทัน เพราะยุคนั้นราวปี 2550 เป็นปีทองของตลาดค้าพลอยจันท์

กระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเกิดความรู้สึกเบื่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จึงอยากทำอย่างอื่นที่ทำให้มองเห็นจันทบุรีได้มากขึ้น “จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” วางมือจากการเผาพลอย เริ่มจับงานอื่น นั่นคือเป็นโต้โผจัดงานเทศกาลกินเจของจันทบุรี นับเป็นครั้งแรกของเมืองจันทบูรที่มีงานระดับประเทศเกิดขึ้น แน่นอนว่างานที่เขาเป็นแม่งานนี้ ทำให้จันทบุรีเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ขึ้นทำเนียบเมืองที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือนทันที

หลังจากนั้นชีวิตเริ่มพลิกผัน มีคนเชิญเข้าร่วมเป็นกรรมการหอการค้าจังหวัด จนปีนี้จอมศักดิ์เป็นประธานหอการค้าสมัยที่สองแล้ว

“การทำงานในหอการค้าเป็นองค์กรจิตอาสาและต้องทำด้วยใจ ต้องมีอุดมการณ์ ถ้าใครมาทำเอาเท่ ปักป้ายถ่ายรูปแล้วจบ นั่นไม่ใช่แล้ว เพราะงานในองค์กรนี้เราสามารถคิดและทำให้เศรษฐกิจของส่วนรวมมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเติบโต ผมคิดแล้ว เออ…เราก็อายุมากแล้ว เพราะฉะนั้นจะทำอะไรให้สังคม เราต้องทำให้จริง”

จอมศักดิ์เล่าว่า ตั้งแต่นั่งเก้าอี้ประธานหอการค้าจันทบุรี มีหลายเรื่องที่เกิดจากความร่วมมือของคนในองค์กรและจังหวัด อาทิ จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มและสร้างมูลค่าภาคการผลิตและการค้าผลไม้ของไทย มีมหาวิทยาลัยบูรพาเข้าร่วมด้วย เรื่องของ บจ.ประชารัฐรักสามัคคีจันทบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ได้สร้างโมเดลธุรกิจของตัวเองเป็นแบรนด์ชื่อ “ผลจันท์” พร้อมพัฒนาช่องทางขายหรือเอาต์เลตพรีเมี่ยมในห้างโรบินสัน บิ๊กซี และตามแหล่งท่องเที่ยว

พร้อมสร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาด ๆ ประสบความสำเร็จอย่างครึกโครม คือ โครงการมหานครผลไม้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหน้าผลไม้ของจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยว ให้คนมาเที่ยวจันทบุรีมากขึ้น

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการค้าชายแดน เรามีพื้นที่ติดกับกัมพูชา 800 กิโลเมตร มี 5 ช่องทางที่ผ่านเข้า-ออก คือด่านถาวร 2 ด่าน บ้านแหลมและบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน และด่านชั่วคราวอีก 3 ด่าน บ้านสวนส้ม ซับตารี และบึงชนังล่าง บริเวณนี้ไม่มีการสู้รบเหมือนด้านเขาพระวิหาร และยังใกล้กับเมืองสำคัญของกัมพูชาคือ ไพลิน พระตะบอง และเสียมเรียบ เมืองเหล่านี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสของจันทบุรีที่จะส่งสินค้าผ่านแดนเข้าไป ซึ่งจากตัวเลขปี 2559 (ในระบบ) มูลค่าเพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อยล้านเป็น 30,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีเศรษฐกิจนอกระบบอีก แน่นอนว่าตัวเลขย่อมมากกว่าที่อยู่ในระบบ

ดังนั้นหากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม และรัฐบาลสนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบตาพุด-จันทบุรี-ตราด โครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสุขุมวิท ทางหลวงหมายเลข 317 ช่วงจันทบุรี-สระแก้ว ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ก็จะเพิ่มมูลค่าค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนได้มากขึ้น เฉลี่ย 25-30% ต่อปี สามารถยกระดับเป็นแสนล้านได้

จอมศักดิ์ยังมองว่าเส้นทางที่กล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมตั้งแต่อินเดีย-ทวาย (เมียนมา)-กาญจนบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด-จันทบุรี-กัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม ยิ่งเพิ่มโอกาสการค้าขายให้มากขึ้นไปอีก

อีกหนึ่งแผนที่ภูมิใจนำเสนอ คือ “แผนยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมอัญมณีเชื่อมไทย-กัมพูชา-เวียดนาม” ซึ่งตั้งแต่โบราณมาเป็นเส้นทางค้าพลอยจากเวียดนามสู่จันทบุรี จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุน เพราะปัจจุบันเหมืองพลอยรัตนชาติในไพลินก็ยังทำอยู่ โดยให้มีการปรับปรุงถนน เส้นทางคมนาคม และระบบการเข้า-ออกด่าน

“ผมได้เสนอแผนนี้ไปยังหอการค้าแห่งประเทศไทย และผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังไปแล้ว มองว่าเป็นโอกาสที่จะต้องฉวยไว้”

จอมศักดิ์กล่าวว่า ยังได้คิดแผนต่อยอดจากโครงการมหานครผลไม้ หลังจากนายกรัฐมนตรีเดินทางมาด้วยตัวเอง เรียกว่า “บันไดทอง 3 ขั้น” ที่จะสร้างโอกาสและกระจายรายได้ ต่อยอดจีดีพีของจังหวัด คือ บันไดขั้นที่ 1 มหานครผลไม้ ได้ทำไปแล้วและบรรลุเป้าหมายแสนล้านบาทภายใน 3 ปี บันไดขั้นที่ 2 เป็นแผน 5 ปี เมื่อรัฐบาลประกาศเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะต่อเชื่อมเป็น อีอีซี+จันทบุรี+ตราด เน้นการแปรรูปผลไม้และอาหารทะเล รวมทั้งมีการพัฒนาอัญมณีเป็นเครื่องประดับระดับโลก ซึ่งมีเป้ารายได้แสนล้านบาทภายใน 5 ปีต่อจากนี้

บันไดขั้นที่ 3 สร้างจันทบุรีให้เป็น “Smart Green City in Gardens” หรือเมืองในสวน เพราะเมื่อรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ทั้งรถไฟความเร็วสูง ขยายท่าเรือจุกเสม็ด แหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา จะเป็นโอกาสของจันทบุรีที่สามารถเดินทางระหว่างพื้นที่ภายในชั่วโมงเดียว ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวราว 30 ล้านคนในอีอีซี สามารถมาท่องเที่ยวที่จันทบุรีได้มากขึ้น

โดยเมืองในสวนนี้ถอดแบบมาจากสิงคโปร์ แต่จันทบุรีเหนือกว่าตรงที่ไม่ใช่สวนธรรมดา แต่เป็นสวนผลไม้กินได้ คนจะมาพักมาเที่ยวกันอย่างมีความสุข

“ไม่ต้องเอางบฯมาลงเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เพียงแค่รัฐบาลหันมามองเราและส่งเสริม เพราะเรามีของดีอยู่แล้ว ฉะนั้นอยากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมเรา เชื่อแน่ว่าเป้าหมายรายได้ 1.1 ล้านล้านบาทที่ตั้งไว้จะบรรลุแน่นอน” จอมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย