สุดเขต นราธิปภัทร No Waste มะพร้าวคว้าที่ 1 YEC

สัมภาษณ์

นับเป็นหนึ่งในนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่พลิกธุรกิจส่งออก “มะพร้าวน้ำหอม” มาต่อยอดสู่ธุรกิจรักษ์โลกได้อย่างสวยงาม สำหรับ “สุดเขต นราธิปภัทร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Organ Thai จำกัด และสมาชิก YEC หอการค้าจังหวัดนนทบุรี ล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันระดับประเทศในโครงการประกวด YEC Pitching ปี 4 ซึ่งจัดขึ้นในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่จังหวัดลำปาง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ

แรงบันดาลใจของจุดเริ่มต้น

สุดเขตเล่าว่า เริ่มแรกที่สนใจทำธุรกิจส่งออกน้ำมะพร้าว เกิดแรงบันดาลใจจากการที่เป็นคนชอบดื่มน้ำมะพร้าว ตอนเรียนปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกว่า หาน้ำมะพร้าวแท้ 100% ดื่มยากมาก จนไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ไปเจอกับน้ำมะพร้าวยี่ห้อหนึ่ง ลองชิมแล้วรู้สึกว่าอร่อย จึงได้รู้ว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมที่นำเข้ามาจากประเทศไทย

พอเรียนจบกลับมาเริ่มหาข้อมูลและได้ไปพบสวนมะพร้าวน้ำหอมเกรดส่งออกที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้จัดตั้งบริษัท Organ Thai จำกัด เพื่อส่งออกน้ำมะพร้าวมาครบ 1 ปีแล้ว โดยน้ำมะพร้าวของบริษัท มีจุดเด่นอยู่ 3 อย่างคือ เป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้ 100% ผลิตแบบออร์แกนิก และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (healthy drink)

ในปริมาณ 1 ขวด ใช้น้ำมะพร้าวถึง 2 ลูก ราคาขาย 1.5 ดอลลาร์/ขวด ส่งออกไปต่างประเทศ 30,000 ขวด/ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท เท่ากับใช้มะพร้าว 60,000 ลูก

Advertisment

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาเห็นเกษตรกรต้องจ้างคนมากำจัดเปลือก กะลาหรือไม่กองเปลือกทิ้งไว้เต็มไปหมด จึงคิดนำส่วนที่เหลือทั้งเนื้อ กะลา กาบมะพร้าว นำไปทำอะไรได้อีก แทนที่จะเหลือทิ้ง (waste) จึงทำให้เกิดโครงการ No Waste Con-cept ในการนำของเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าและทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) กลับสู่เกษตรกร

Advertisment

ต่อยอดของเหลือทิ้งสู่เงินแสน

มะพร้าว 1 ลูก แยกเป็นสินค้าหลักน้ำมะพร้าว ที่เหลือเนื้อมะพร้าวส่งร้านเบเกอรี่ ส่วนกะลานำไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งทำเป็นถ่านกะลาอัดแท่งขายได้ราคา 50 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ให้ความรู้เกษตรกรนำกะลาไปผลิตเป็นของที่ระลึก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 3 เท่าตัว

ส่วนเปลือกของมะพร้าวและกาบมะพร้าว สามารถนำไปแปรรูปตามการใช้งานได้หลายประเภท อาทิ สับหยาบใส่ต้นไม้ได้ประมาณ 15 บาท/กก. มะพร้าวสับละเอียด (cocoa powder) ขายได้ 25 บาท/กก.และนำไปต่อยอดให้ไส้เดือนย่อยออกมาเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน อยู่ที่ 40บาท/กก.

นอกจากนี้นำกาบมะพร้าวไปอัดเป็น “กระถางต้นไม้รักษ์โลก”ให้เกษตรกรใช้แทนถุงพลาสติกเพาะชำต้นกล้า และฝังลงดินได้เลย โดยกระถางรักษ์โลกมีอายุการใช้งาน 6 เดือน จะย่อยสลายไปเป็นปุ๋ย ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

มะพร้าว 1 ลูก สามารถอัดเป็นกระถางได้ 3 ใบ ต้นทุนการผลิต 22 บาท/ชิ้น หากคำนวณใน 1 รอบที่ผลิตน้ำมะพร้าว ใช้มะพร้าวทั้งหมด 60,000 ลูก หากคูณ 3 เข้าไป จะได้กาบมะพร้าวมาผลิตกระถาง180,000 กระถาง แบ่งกระถางครึ่งหนึ่ง 90,000 ชิ้นกลับไปให้เกษตรกรใช้เพาะปลูกต้น ส่วนที่เหลืออีก 90,000 ชิ้น ขายส่ง โดยต้นทุนการผลิตชิ้นละ 22 บาท ราคาขายส่ง 25 บาท/ชิ้น บริษัทนำไปขายปลีก 30 บาท/ชิ้น เท่ากับเกษตรกรมีรายได้ 3 บาทต่อชิ้น หรือเท่ากับ 90,000 ชิ้นคูณ 3 บาท ได้ประมาณ 270,000 บาท กลายเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนกลับสู่เกษตรกร

วอนรัฐช่วยเปิดตลาดส่งออก

สุดเขตบอกว่า บริษัทเพิ่งเริ่มส่งออกน้ำมะพร้าวไปตลาดประเทศดูไบ (UAE) เพียงประเทศเดียว โดยมีบริษัทเอเย่นต์ผู้นำเข้านำสินค้าไปกระจายต่ออีกทอดหนึ่ง ขณะเดียวกันพร้อมแสวงหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยบริษัท SMEs อย่างเราในการหาช่องทางขยายตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันทางบริษัทพยายามคิดแปรรูปต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากผลพลอยได้จากลูกมะพร้าวที่เหลือ โดยล่าสุดได้คิดผลิตภัณฑ์ “ชุดเพาะปลูกรักษ์โลก” ขึ้นมา สำหรับตลาดคนเมืองที่นิยมอาศัยอยู่ตามคอนโดมิเนียม เพื่อใช้เป็นชุดของขวัญในช่วงปีใหม่ โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วทั้งหมดจับมาใส่กล่อง ประกอบด้วยวัสดุเพาะปลูกที่มาจากการย่อยสลายจากมะพร้าว ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ได้จากการย่อยจากกาบมะพร้าว เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวจากเกษตรกร กระถางมะพร้าวรักษ์โลก จากการต่อยอด waste กาบมะพร้าว กล่องใส่ลายไทย เพื่อให้คนต่างชาติเห็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านกล่องตัวนี้ และยังสามารถนำกล่องไปใส่ของต่อได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2563 ทางบริษัทจะมีการทำ healthy drink และ super food drink ซึ่งเป็นออร์แกนิกและตอบโจทย์ในปัจจุบัน

คว้าที่ 1 YEC Pitching ปี 4

ทั้งหมดนี้คือที่มาของรางวัลที่ได้รับ จากโครงการประกวด YEC Pitching ปี 4 ของทางหอการค้าไทยที่ได้กำหนด concept ตรงกับโปรเจ็กต์ของบริษัท เลยส่งโครงการเข้าประกวด ทั้งในเรื่องของการใช้ waste ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำมาต่อยอด จนกระทั่งหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ทุกด้านครบทั้งที่เป็นสิ่งพื้นฐานที่คนมองข้าม แต่กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ กลับสู่ชุมชนและเกษตรกรอย่างยั่งยืนจริง ๆ จึงทำให้คณะกรรมการเห็นตรงจุดนี้และคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอบครอง

อย่างไรก็ตาม สุดเขตบอกทิ้งท้ายว่า จากภาพรวมสถิติการส่งออกมะพร้าวของประเทศไทยทั้งระบบเติบโตขึ้นทุกปี เห็นได้จากตัวเลขปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,347 ล้านบาท ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 2,008 ล้านบาท และปี 2561 เพิ่มเป็น 2,108 ล้านบาท หากสามารถนำผลพลอยได้ที่เหลือทิ้งจากการส่งออก กลับมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกลับสู่เกษตรกรได้มหาศาลทีเดียว ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุน