“ธีรยุทธ พิทักษ์สิทธิ์” ส่องศก.เมืองเพชร ศักยภาพสูงมาก “ท่องเที่ยว-อุตฯส่งออก”

สัมภาษณ์

เมืองเพชรบุรีนับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการแปรรูปที่สำคัญคู่ขนานไปกับภาคการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดรอยัลโคสต์ และยังเป็นประตูสู่ภาคใต้ เรียกได้ว่าศักยภาพไม่ธรรมดาแน่นอน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ธีรยุทธ พิทักษ์สิทธิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีคนล่าสุด อีกทั้งยังรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทอีซูซุอึ้งง่วนไต๋ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุเก่าแก่กว่าครึ่งศตวรรษของเพชรบุรี

ศก.ฟื้นตัวจากภายนอก

“ธีรยุทธ” ฉายภาพเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบุรีในปี 2560 ว่า มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีจะโตขึ้นประมาณ 3.2% ใกล้เคียงกับระดับประเทศ ซึ่งภาคบริการเติบโตขึ้น 3% ขณะที่ภาคเกษตรเติบโตเพียง 1.5% แม้พืชผลทางการเกษตรในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว แต่ราคาก็ไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผลไม้ มะนาว เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ 61,259 ล้านบาท จำนวนประชากร 477,000 คน รายได้ต่อหัวเฉลี่ย 128,000 บาท/ปี

ส่วนภาคอุตสาหกรรมเติบโตมากที่สุด 3.7% มาจากแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนโตขึ้นประมาณ 4.8% เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งสังเกตได้จากการใช้ไฟฟ้าของโรงงานในจังหวัดเพชรบุรีที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5% ฉะนั้นแสดงว่าออร์เดอร์

การผลิตเพิ่มขึ้น เพราะโรงงานในเพชรบุรีส่วนใหญ่ไม่ใช่การผลิตสินค้าเพื่อขายเพียงแค่ในจังหวัด แต่เป็นฐานการผลิตเพื่อขายทั่วประเทศและส่งออก เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารทะเล อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์

ขณะที่ปีนี้ยอดการส่งออกดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวจากภายนอก แต่ไม่ได้เพิ่มถึงในระดับที่เกิดการขยายตัวหรือการลงทุนใหม่ เป็นเพียงการเพิ่มกำลังการผลิตเท่านั้น

“โดยภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่การส่งออกก็มีอุปสรรคค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจ เอสเอ็มอี ด้านภาคบริการมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่การใช้จ่ายในภาคเอกชนเติบโตเพียง 2.9%”

โตบน-ล่างยังอ่อนแอ

ธีรยุทธ มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตอนนี้ ตัวเลขดีแต่คนยังไม่รู้สึกดี เพราะโตบน แต่ล่างยังอ่อนแอ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ลงทุนต่อเนื่อง มีการเทกโอเวอร์กิจการ หรือออกไปลงทุนต่างประเทศ เรายังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองประเทศยังสูง แต่ข้างล่าง เช่น เอสเอ็มอี ยังอ่อนแอ เกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังลำบาก ภาคประชาชนมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรีมีอัตราการว่างงานเพียง 0.84% มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 767 โรงงาน มูลค่าการจดทะเบียน 52,000 ล้านบาท เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 200 กว่าแห่ง แต่เจ้าของไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มทุนที่มาลงทุนในเพชรบุรีมากกว่า และในจังหวัดมีประชากรวัยแรงงาน 280,000 คน ซึ่งอยู่ในภาคเกษตรมากที่สุด 31% การค้าขาย 27% การผลิต 18.5% โรงแรม ร้านอาหาร 16% ที่เหลือจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เพชรบุรีก็ประสบปัญหาในเรื่องของแรงงานพอสมควร เนื่องจากการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวค่อนข้างมีผลกระทบ ซึ่งแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งกลับประเทศไปแล้วไม่กลับมาอีก ซึ่งจะเกิดปัญหาในระยะยาวเมื่อโรงงานต้องการขยายกำลังการผลิต

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวลงทุนในเรื่องของออโตเมชั่นและโรโบติกให้มากขึ้น เพราะพึ่งพิงแรงงานไม่ได้ ส่วนโรงงานที่เป็น labor intensive ใช้คนเป็นจำนวนมากนั้น ถ้าไม่ลงทุนด้านเทคโนโลยีในระยะยาวต้องย้ายฐานการผลิต เพราะต้นทุนสูงและขาดแคลนคนงานด้วย

ด้านภาคการส่งออกของจังหวัดเพชรบุรี มีระบบการขนส่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ สะดวกและง่ายต่อการกระจายสินค้า โดยปกติอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะส่งออกไปยุโรป สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อมีการกีดกันทางการค้าก็เริ่มมีการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มากขึ้น ฉะนั้น 4-5 ปีที่ผ่านมาในภาคส่งออกจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

รอรับอานิสงส์เปิดด่านสิงขร

ส่วนโอกาสและแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจที่น่าจับตามองคือ การเปิดด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยล่าสุดได้มีการร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลสรุปว่าจะมีการสร้างถนนเชื่อมกันระหว่างด่านสิงขรกับเมืองมะริดให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อให้การขนส่งทะลุถึงกัน เพราะปัจจุบันรถบรรทุกวิ่งไปถึงแค่เมืองมูด่อง แล้วต้องย้ายของขึ้นรถบรรทุกเล็กไปต่อ หากทำสำเร็จจะเกิดผลดีเป็นอย่างมากในกลุ่มจังหวัด “เพชรสมุทรคีรี” (เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์) เพราะเมืองมะริดเป็นแหล่งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์มาก ขณะเดียวกันก็มีความต้องการสินค้าต่าง ๆ จากประเทศไทยเช่นกัน

หากเปิดด่านสิงขรได้ รถยนต์สามารถวิ่งเข้าไปยังเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายได้โดยตรง แล้ววิ่งต่อไปยังสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพื่อไปยังโรงงานแปรรูปอาหาร ก่อนจะเข้าสู่กรุงเทพฯกระจายต่อไปได้ และยังเป็นผลดีกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกด้วย

มุ่งสู่ท่องเที่ยวรอยัลโคสต์

นอกจากนี้ จังหวัดเพชรบุรียังมียุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็น “เมืองน่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยว” เพราะศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงมาก แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ในอนาคตจะมีโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนกว่า 63,000 ล้านบาท เริ่มจากแยกบางใหญ่เชื่อมไปยังอำเภอท่ายางต่อไปถึงชะอำ โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และทำให้เพชรบุรีเป็นประตูสู่ภาคใต้

ขณะที่เพชรบุรียังเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด “รอยัลโคสต์” (Royal Cost) หรือเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ประกอบไปด้วยเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง โดยจะร่วมมือกันยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นอินเตอร์มากขึ้น ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งปีนี้มีคนเข้ามาท่องเที่ยวดูงานโครงการพระราชดำริจำนวนมาก ทั้งที่แหลมผักเบี้ย โครงการชั่งหัวมัน และโครงการหุบกะพง

ส่วนตลาดต่างประเทศ ตอนนี้ประเทศอินเดียก็นิยมเดินทางเข้ามาจัดงานแต่งงานเป็นแนวเวดดิ้ง เดสติเนชั่น และยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียที่มีกำลังซื้อสูงนิยมมาเที่ยวแบบครอบครัว ถือเป็นโอกาสทางการท่องเที่ยวและบริการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องคิดต่อยอดการบริการให้ครบวงจร

ทั้งหมดคือภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการพัฒนาของจังหวัดเพชรบุรี เมืองที่มีของดีมากมายแต่ต้องเร่งเจียระไน