ภูเก็ต ประชุมธุรกิจประมงเร่งหาผู้ไปสมุทรสาคร คุมเข้มเมียนมา 6 หมื่นคนในอุตฯก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.63 ศรชล.จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ประชุมผู้ประกอบการเรือประมง ผู้ประกอบการค้ากุ้งเพื่อวางมาตรการร่วมกันในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยมีนาวาเอกธรรมวรรต มาลัยสุขรินทร์ รองผู้อำนวยการศรชล.จังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมฯ มีหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัด อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นาวาเอกธรรมวรรต มาลัยสุขรินทร์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ในสถานการณ์เร่งด่วน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่ง นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ศรชล.จังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหามาตรการป้องกัน การขนส่งสัตว์น้ำไปที่ตลาดในจังหวัดสมุทรสาครไม่ให้เกิดการปนเปื้อนมากับผู้ที่ไปติดต่อ

“จากการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมรายงานว่า เดิม จังหวัดภูเก็ตผู้ประกอบการส่วนใหญ่ส่งสินค้าไปที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร แต่ ในปัจจุบันมีเพียงส่วนหนึ่งที่นำสินค้าสัตว์น้ำไปส่ง ไม่ได้เกี่ยวกับตลาดกลางกุ้ง แต่อยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งที่ประชุมฯโดยหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ การหาแนวทางมาตรการร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นที่จังหวัดสมุทรสาคร

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้เรือประมงต้องแจ้งออกจากภูเก็ตเท่านั้นจึงจะแจ้งเข้าภูเก็ตได้ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อครั้งต่อไป ขอให้นำมาตรการนี้มาใช้อีกครั้งจากที่เคยใช้มาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ในการควบคุมเรือประมงที่เข้าและออกจังหวัดภูเก็ตตามมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19” นาวาเอกธรรมวรรต กล่าว

Advertisment

ทางด้าน นายสันติ นันตสุวรรณ จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 มีทุกประเภทกิจการที่ประกอบกิจการในจังหวัดภูเก็ต

โดยเฉพาะกิจการที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่อาจจะมีการลักลอบเข้ามาใหม่ กรณีที่เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายแต่อาจจะหายไปนานและอาจจะกลับเข้ามาใหม่ขอให้รีบดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวนโรค

สำหรับข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 60,000คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 58,000คน อยู่ในกิจการก่อสร้างจำนวนมากที่สุด ส่วน ข้อมูลนายจ้างทั้งหมดประมาณ 10,000ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทก่อสร้าง

ทางด้าน นายสมยศ วงศ์บุณยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางมาตรการป้องกันคือกลัวเหตุจะเกิดแล้วมาแก้ไขลำบากจึงต้องการป้องกันไว้ก่อน จะสามารถSAVE PHUKET และกิจการทุกอย่าง

Advertisment

“ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์โควิด-19 ระบาด ในภาคประมงไม่เจอผู้ติดเชื้อ แต่เมื่อเข้ามาระบาดรอบใหม่ในประเทศไทยมาจากแรงงานต่างด้าวจึงมีความเป็นห่วงต้องหามาตรการป้องกันซึ่ง ทางผู้ว่าฯได้เรียกประชุมหารือกันจึงเชิญผู้ประกอบการเรือประมงและที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน เพราะว่า ทุกคนมีความเป็นห่วงมาก ตอนนี้ ยังไม่มีอะไร แต่ต้องป้องกันไม่ให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น”

สำหรับผู้ที่ไปจังหวัดสมุทรสาคร คือ คนไทย ที่ไปส่งสินค้าสัตว์น้ำที่จังหวัดสมุทรสาคร ไปที่ตลาดทะเลไทย ไม่ได้ไปแพกุ้ง แต่เมื่อจังหวัดสมุทรสาครเกิดการระบาด ต้องนำคนที่ไปจังหวัดสมุทรสาครมารับการตรวจ หากตรวจไม่พบเชื้อโควิด ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าพบติดเชื้อต้องรักษากัน คือตอนนี้ให้รายงานว่ามีคนไปจำนวนกี่คน ตั้งแต่ วันที่ 1-20 ธ.ค.63 ต้องมารายงานกับสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ทางสมาคมฯได้แจ้งผู้ประกอบการแล้วอยู่ระหว่างการประสานงานดำเนินการ” นายสมยศ กล่าว

ทางด้าน นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติ ทางสำนักงานฯจะดูแลชีวอนามัยของลูกจ้างการทำงานให้ปลอดภัยและ มีประสิทธิภาพที่ดี แต่ เมื่อมีสถานการณ์โรคโควิด-19ระบาดได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตในการประสานงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือของผู้ประกอบการ ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ถึง ผู้ประกอบการขอให้ความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต ต่อไป