ปลุกเมืองการแพทย์เชียงใหม่-ลำพูน 5 รพ.เอกชน แข่งเดือด

หอการค้าเชียงใหม่-ลำพูน ผนึกกำลังดันเมืองแฝดสุขภาพ (medical-wellness hub) แบรนดิ้งพื้นที่เมืองแห่งการแพทย์และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ วาดแผนที่เส้นทางซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง เป็นเส้นทางแห่งการรักษาพยาบาลภาคเหนือ ด้าน 5 โรงพยาบาลเอกชนโหมลงทุนลำพูน 3 แห่ง ปักหมุดเส้นทางซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มของธุรกิจในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือในอนาคต ธุรกิจที่เติบโตและขยายตัวเด่นชัดมากคือธุรกิจโรงพยาบาล และการรักษาสุขภาพ ซึ่งเชียงใหม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ชัดเจนในการเป็น medical hub & wellness city

ซึ่งเชียงใหม่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์รวมของการสร้างนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ มีบริการของโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายด้าน ขณะเดียวกัน เชียงใหม่ยังเป็นเมืองสุขภาวะ (wellness city) ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ด้วยศักยภาพของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นของภาครัฐจำนวน 22 แห่ง ภาคเอกชน 15 แห่ง ศูนย์บริการผู้สูงอายุ 4 แห่ง

Advertisment

มีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ จำนวนราว 3,500 คน สถานบริการสุขภาพ อาทิ สปา 48 แห่ง ร้านนวด 648 แห่ง บุคลากรมากกว่า 5,000 คนคาดว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19

และขณะนี้ได้มีการลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลำพูน บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ก็จะทำให้พื้นที่ 2 จังหวัดสามารถเชื่อมต่อการเป็นเมืองแฝดทางการแพทย์ของภาคเหนือได้

นายวโรดมกล่าวว่า ในปี 2564 มีการก่อสร้างโรงพยาบาลในเครือราม บนพื้นที่ 12 ไร่ บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง มูลค่าการลงทุนราว 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดได้ปี 2565 รวมถึงจะมีการเปิดให้บริการโรงพยาบาลลานนา 3 (ในเครือราม) ขนาด 300 เตียง ลงทุนราว 1,000 ล้านบาท

ด้านนายสุนัย จันทร์สว่าง รองประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน กล่าวว่าในปี 2564 ในจังหวัดลำพูนจะมีโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่จะเปิดขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลหริภุญชัย รามเป็นตึกสูง 8 ชั้น ขนาด 180 เตียง บนพื้นที่ 25 ไร่ ใกล้อาคารเดิม

Advertisment

คาดว่าจะเปิดบริการได้ปี 2564 2.โรงพยาบาลเชียงใหม่ ใกล้หมอ เป็นโรงพยาบาลขนาด 114 เตียง และ 3.โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน 2 ในกลุ่มพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์(พริ้นซ์) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 ทั้งนี้ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มประกันสังคมที่มีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

และกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น หากมีการลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังมีกลุ่มทุนสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่

ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดลำพูนเชื่อมกับถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง จะเป็นเส้นทางที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากที่สุดเกือบ 10 แห่ง รวมกับจังหวัดลำพูน ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือรามแห่งใหม่ โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ โรงพยาบาลเทพปัญญา โรงพยาบาลลานนา โรงพยาบาลเชียงใหม่ฮอสพิทอล

อย่างไรก็ตาม หอการค้าจังหวัดลำพูนจะได้นำเสนอการผลักดันเชิงนโยบายต่อที่ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัด และภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ อันจะทำให้มีงบประมาณ รวมถึงแผนงานที่บูรณาการระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนต่อไปในอนาคต

นพ.วรพันธ์ อุณจักร ผู้บริหารในเครือรามภาคเหนือ บริษัท เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่ม CMR มีแผนขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนอย่างต่อเนื่อง ตามมติคณะกรรมการบริษัท

เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสขยายการลงทุนโรงพยาบาลใหม่ออกมาในโซนตะวันออกของเมืองเชื่อมต่อจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นโซนที่มีการขยายตัวของชุมชน-ที่อยู่อาศัย ที่จะสามารถรองรับและถ่ายเทคนไข้จากโรงพยาบาลเชียงใหม่รามในเมืองเชียงใหม่

โดยโรงพยาบาลหริภุญชัย ราม จังหวัดลำพูน ซึ่งเดิมรองรับการรักษาพยาบาลคนไข้ประกันสังคมในพื้นที่จังหวัดลำพูนจำนวนกว่า 50,000 คน มีจำนวนเตียงราว 300 เตียง ล่าสุดทางกลุ่มได้ขยายการลงทุนสร้างตึกใหม่ด้วยงบฯลงทุนกว่า 800 ล้านบาท

เป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียงซึ่งจะทำให้จำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 600 เตียง เมื่อรวมกับของเดิม ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 90% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวกลางปี 2564

สำหรับโรงพยาบาลหริภุญชัย ราม เมื่อเปิดบริการในส่วนของตึกใหม่อย่างเต็มระบบกลางปี 2564 นี้ จะเป็นโรงพยาบาลที่มีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่นอกเหนือจากรองรับคนไข้ประกันสังคมแล้วจะรองรับคนไข้ทั่วไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

การที่บริษัทขยายไปลงทุนที่จังหวัดลำพูนเนื่องจากยังเป็นเมืองที่มีโอกาสการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่อนาคตจะมีการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสการลงทุนให้บริการทางการแพทย์และรักษาพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องเตรียมรองรับ

นพ.วรพันธ์กล่าวต่อว่า จังหวัดลำพูนถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทางเศรษฐกิจ เป็นฐานที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และมีกำลังซื้อสูงมากของคนในพื้นที่

ซึ่งการที่มีหลายกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนสร้างโรงพยาบาลเอกชนในลำพูนอาจทำให้เกิดการแข่งขัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะไม่ทำให้เกิดการผูกขาดในการรักษาพยาบาล ทว่า จะส่งผลดีต่อคนในพื้นที่ที่มีทางเลือกในการรักษาพยาบาล และมีระบบการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ขณะที่เชียงใหม่และลำพูนก็ถือว่าเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ชิดกันมาก

ด้วยระยะการเดินทางไม่ถึง 30 กิโลเมตร ดังนั้น การที่ทั้ง 2 เมืองมีระบบการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงก็จะสามารถถ่ายเทคนไข้ระหว่างกันได้

ขณะเดียวกัน กลุ่มโรงพยาบาลเชียงใหม่ ใกล้หมอก็เป็นอีกกลุ่มทุนหนึ่งที่ได้ขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดลำพูน “โรงพยาบาลลำพูน ใกล้หมอ” ขนาด 114 เตียง และ “ศูนย์สุขภาพเวลเนส ลำพูนใกล้หมอ”

โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์และสุขภาพครบวงจร เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาและให้บริการประชาชนในเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนเป็นหลัก

โดยการบริการภายในจะประกอบไปด้วยการบริการทางการแพทย์ กุมารเวช สูตินรีเวช อายุรกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทั่วไป ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ อุบัติเหตุฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์รวมเลเซอร์ความงามครบวงจร คลินิกทันตกรรม แพทย์ทางเลือกผสมผสานไทย จีน สปา และนวดบำบัดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากประมวลโรงพยาบาลที่มีทำเลตั้งบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดลำพูนจะเป็นเส้นทางที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากที่สุดในภาคเหนือเกือบ 10 แห่ง รวมกับจังหวัดลำพูน

ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือราม (โรงพยาบาลรามคำแหง เชียงใหม่) โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ โรงพยาบาลเทพปัญญา โรงพยาบาลลานนา 1, 2 และ 3 โรงพยาบาลเชียงใหม่ฮอสพิทอล เป็นต้น และส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของบริษัท เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ CMR ซึ่งมีอัตราการเติบโตและมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวในปี 2563 ที่ผ่านมา