นาข้าวหมื่นไร่ ปราจีนฯ น้ำเค็มรุกหนัก จี้รัฐปล่อยน้ำจืดเขื่อนห้วยสโมง-นฤบดินฯ

ข้าว

ชาวนาเดือดร้อนหนักน้ำเค็มหนุนรุกแม่น้ำปราจีนบุรี-นครนายกหนัก วอนกรมชลประทานปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนห้วยสโมงหรือนฤบดินทรจินดาผลักดัน ก่อนข้าวที่กำลังออกรวงเฉียด 10,000 ไร่ยืนต้นตาย

วันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาวะน้ำเค็มจากปากอ่าวไทยหนุนสูงขึ้นมาตามแม่น้ำบางปะกง ผ่านขึ้นมาสูงถึงพื้นที่แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก ก่อนรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง ใน ต.บางแตน ,ต.บางเตย และ ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ระดับค่าความเค็มสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถนำน้ำในแม่น้ำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และอุปโภค – บริโภคได้

โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนา ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 15,000 ไร่ ในพื้นที่ต.หัวไทร, ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทราเขตติดต่อกับ ต.บางแตน ,ต.บางเตย และ ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ข้าวอยู่ระหว่างข้าวท้อง –ออกรวงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจืดอย่างหนัก หากไม่ได้รับน้ำจืดต้นข้าวจะยืนต้นตายเมล็ดลีบเล็ก

ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกษตรกรชาวนาจึงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องทุกข์กับนายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้ประสานกับกรมชลประทานปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนห้วยสโมงหรือ นฤบดินทรจินดา วันละ 3 ล้าน ลบ.ม. นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดผู้ว่าฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตาม ประเมินผลการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดปราจีนบุรี และเสนอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำระดับอำเภอ ผู้นำระดับท้องถิ่น ผู้แทนเกษตรกร บูรณาการร่วมกันตรวจติดตาม ประเมินผล เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการ การแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วน ในการบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทาน ตลอดจน ประสานการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครอบคลุม

โดยวันนี้ (31ม.ค.64) คณะทำงานชลประทานได้นัดตัวแทนผู้ใช้น้ำ เพื่อตรวจติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก โดยการลงพื้นที่ติดตาม ประเมินผล การปล่อยน้ำจากเขื่อนห้วยสโมง หรือนฤบดินทรจินดา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ.บ้านสร้าง ณ ท่าน้ำวัดบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยวัดค่าระดับความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี พบระดับความเค็มสูงกว่า 7.7 มก./ล.

แสดงให้เห็นว่าน้ำจืดที่ปล่อยลงมา แรงดันน้ำ ยังไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้จึงประชุมเบื้องต้น ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ กรมชลประทานทำการระดมเครื่องมือ อาทิ เครื่องจักรกลหนัก ,เครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานเพื่อเตรียมสูบน้ำ หากปริมาณน้ำจืดสามารถผลักดันน้ำเค็มได้ นำเข้าสู่ประตูระบายน้ำ พร้อมจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายเกษตรกรนาข้าวรดน้ำนาข้าว ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่ให้นาข้าวยินต้นตาย

นายจำนงค์ ธรรมสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นอกเขตชลประทาน จุดบรรจบแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก น้ำเค็มรุกแม่น้ำปราจีนบุรีไปกว่า 8 กม. แม่น้ำนครนายก 20 กม. พื้นที่ประมาณ 5,600ไร่ กรมชลประทาน จะนำรถน้ำ นำน้ำจืดไปบรรเทาช่วยเหลือ ในเบื้องต้นป้องกันข้าวยืนต้นตาย

ด้าน นายวิสูตร สว่างอุระ เกษตรอำเภอบ้านสร้าง กล่าวว่า ในส่วน อ.บ้านสร้าง ประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนนาข้าวประสบปัญหา 3 ตำบล ต.บางแตน พื้นที่ 1,800ไร่ , ต.บางเตย พื้นที่ กว่า 3,000ไร่ และ ต.บางยาง พื้นที่กว่า 4,000ไร่ รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 9,000 ไร่ เศษได้ประสานกรมชลประทาน จ.ปราจีนบุรี ให้การช่วยเหลือต่อไป

ขณะที่ นายจำรูญ สวยดี คณะกรรมการลุ่มน้ำปราจีนบุรี กล่าวว่า ได้นัดหมายว่าน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนฤบดินทรจินดาวันละ 2.5 ล้าน ลบ.ม.มาตามแม่น้ำปราจีนบุรี ปรากฏว่าค่าความเค็มไม่ลด แรงดันน้ำที่ปล่อยสู้แรงดันน้ำเค็มไม่ได้ ทางที่ดีที่จะเหลือชาวนาข้าวให้แก้ไขโดยใช้รถน้ำ จากหน่วยงานต่าง ๆ มารดน้ำในนาข้าวเพื่อช่วยเกษตรกรชาวนาข้าวเป็นเบื้องต้น กรมชลฯจะนำเครื่องจักรกลหนักลงมาช่วยเพื่อสูบน้ำมาช่วยอีกทางหนึ่ง

ด้าน นายประยูร ยินยง ชาวนา หมู่ 4 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า นาข้าวส่วนใหญ่ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง เหลือระยะเวลาอีก 45 วันจะเก็บเกี่ยว น้ำจืดแห้งมาครึ่งเดือนแล้ว ข้าวกำลังจะแห้งตาย ได้แก้ปัญหาโดยนำน้ำตามบ่อที่บ้านดูด มารดในนาข้าว แต่ไม่เพียงพอ อยากให้รัฐบาลบิ๊กตู่ ชดเชยนาข้าวที่เสียหาย รวม 18 ไร่ ทำข้าวพันธุ์ MG.อายุยาว ระยะ 4 เดือนกว่า

“ขอให้กรมชลประทานปล่อยน้ำจืดมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนาภายในอาทิตย์นี้ หากเกินกำหนด ต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง –ออกรวง จะแห้งยินต้นตาย ไม่ทันการ”นายประยูรกล่าว

ด้านนางสาว ระชวย ศาลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลบางแตน กล่าวว่า ชาวนาข้าวหมู่ 4 กว่า 800ไร่ ข้าวกำลังตั้งท้อง –ออกรวง กำลังขาดน้ำ หากไม่ได้น้ำจืดจะแห้งยืนต้นตายเสียหายแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีการทำสวนเกษตรผสมผสาน ก็ไม่มีน้ำจืดพอเพียงเช่นกัน โดยในหมู่บ้านรับน้ำจากแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีนบุรี ก่อนรวมกันเป็นปากน้ำแม่น้ำบางปะกง

ขณะที่ นางเฉลียว แสงเนตร ชาวนา หมู่ 4 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัญหาที่ชาวนาพบมาตลอดหลายปี คือขาดน้ำจืด จึงอยากขอให้กรมชลฯปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนนฤบดินทรจินดา มาช่วยเหลือสักระยะให้ต้นข้างรอดตาย เพราะเป็นการลงทุนครั้งสุดท้ายของชาวนา

นางสุภาพร ทองเอม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.บางยางยาง อ.บ้านสร้าง พร้อมลูกบ้าน กล่าวว่า ปัญหาน้ำเค็มหนุนกระทบพื้นที่ เนื่องจากติดแม่น้ำนครนายก และ แม่น้ำปราจีนบุรีก่อนบรรจบกันเป็นปากน้ำบางบางปะกง ที่ ต.บางแตน ถ้าทางการไม่ส่งน้ำมาช่วย จะประสบปัญหานาข้าวพื้นที่กว่า 900 ไร่เศษขาดแคลนน้ำ เพราะน้ำในแม่น้ำทั้ง 2 สายเค็มใช้ประโยชน์ไม่ได้ ขอให้เขื่อนนฤบดินทรจินดาปล่อยน้ำมาช่วยผลักดันน้ำเค็มมาที่แยกบางแตน อ.บ้านสร้างจะช่วยได้

“แม้ชาวบ้าน จะมีการขุดสระขนาดเล็กไว้ตามบ้าน ตามนาข้าวพื้น 1 -2 ไร่ หรือ ตามแหล่งน้ำสาธารณะ แต่สระน้ำจืดดังกล่าวก็ไม่เพียงพอ”นางสุภาพร กล่าว