ลาว คุมเข้มรถข้ามแดน ต้องมีใบรับรองไร้โควิด รพ. รัฐ-เข้าได้ 3 วัน

ส่งออกน้ำมันสะดุด! ลาวคุมเข้มรถข้ามแดนต้องมีใบรับรองไร้โควิดของรพ.รัฐ-ใช้ได้ 3 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 เม.ย. 64) ที่ด่านศุลกากรหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย ผู้ประกอบการชิปปิ้งในจังหวัดหนองคาย ได้ร่วมประชุมกับ พ.ต.อ.ณรัชต์พล เลิศรัชตะปภัสร์ นายด่านศุลกากรหนองคาย และเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรหนองคาย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากทางการ สปป.ลาว เพิ่มความเข้มงวดรถขนส่งสินค้าที่จะข้ามไปส่งสินค้าใน สปป.ลาว หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน สปป.ลาว โดยกำหนดให้รถขนส่งสินค้าที่จะเข้าไปส่งสินค้าใน สปป.ลาว ต้องมีใบรับรองการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR และต้องตรวจจากโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ส่งผลให้รถสินค้าโดยเฉพาะรถน้ำมันไม่สามารถข้ามไปสินค้าได้ ต้องจอดรอจนเต็มลานจอดรถภายในด่านศุลกากรหนองคาย รวมไปถึงริมถนนที่จะเข้าด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย 

จนกระทั่งช่วงบ่ายทางการ สปป.ลาว ได้ผ่อนผันให้รถขนส่งสินค้าที่จะข้ามไปส่งสินค้าที่คลังสินค้าเมืองหาดทรายฟอง ข้ามไปส่งสินค้าได้ โดยใช้การตรวจอุณหภูมิร่างกาย แต่ห้ามคนขับรถลงจากรถขณะขนสินค้าลงจากรถ ส่วนรถที่เข้าส่งสินค้าด้านในไม่ได้รับการผ่อนผัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุกน้ำมัน

นายประเสริฐ วังโส ผู้ประกอบการชิปปิ้งไทย กล่าวว่า เข้าใจทางการ สปป.ลาว ที่ได้ออกมาตรการเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ แต่เนื่องจากเห็นว่าการใช้ใบรับรองการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR และต้องตรวจจากโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เนื่องจากแต่ละวันจะมีรถขนส่งสินค้าที่จะข้ามไปส่งสินค้าที่ สปป.ลาว วันละ 400 – 500 คัน โดยเฉพาะในวันจันทร์และวันศุกร์ การที่จะให้คนขับรถขนส่งสินค้าไปตรวจที่โรงพยาบาลของรัฐพร้อมกัน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ทั้งจะเกิดการแออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลตรวจก็ต้องรอประมาณ 24 ชั่วโมง ค่าตรวจก็แพงครั้งละ 2,550 บาท ใช้รับรองการเข้าไปใน สปป.ลาว ได้เพียง 72 ชั่วโมงหรือเพียง 3 วันเท่านั้น ในขณะที่ไทยใช้รับรองได้ 7 วัน จึงอยากให้ทางการลาวผ่อนผันเป็นการใช้ใบรับรองการตรวจแบบ Rapid test และตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนได้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ และลดความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐ ที่ขณะนี้ก็รับมือกับโควิด-19 เช่นกัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย จัดรถหรือหน่วยตรวจเคลื่อนที่มาเก็บตัวอย่างที่ด่านฯแล้วนำไปตรวจในห้องแล๊บก็ได้ และขอให้ใบรับรองผลการตรวจใช้ได้ 7 วันเท่าของไทย เพราะการเข้าไปส่งสินค้าใน สปป.ลาว บางครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วันจึงต้องเผื่อหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าไว้ด้วย 

ส่วนรถขนส่งสินค้าที่ไปส่งที่คลังสินค้าท่านาแล้ง ที่อยู่ใกล้ ๆ กับด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพลาว-ไทย (ฝั่ง สปป.ลาว) จุดนี้น่าจะผ่อนผันให้ใช้การตรวจอุณหภูมิคนขับและไม่ให้คนขับลงจากรถขณะขนส่งสินค้า ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนรถขนส่งสินค้าที่ต้องไปส่งตามคลังสินค้าที่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์หรือไกลกว่านั้น พวกตนก็พร้อมปฏิบัติตาม และที่สำคัญค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นต้นทุนของสินค้า ที่ชาวลาวจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน

ผู้ประกอบการชิปปิ้งของไทย กล่าวต่อไปว่า อีกมาตรการหนึ่งที่อยากให้ทางการ สปป.ลาวผ่อนผัน คือรถขนส่งสินค้าที่จะเข้าไปส่งสินค้าด้านในนครหลวงเวียงจันทน์หรือไกลกว่านั้น เมื่อกำหนดข้ามไปถึงฝั่ง สปป.ลาว ให้เปลี่ยนเป็นหัวลากของ สปป.ลาว นั้น พวกตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากระบบอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย ที่สำคัญคนขับรถแต่ละคนก็จะมีความชำนาญในการขับรถที่ตนใช้ประจำ และไม่อยากให้คนอื่นมาขับรถของตนด้วย และที่สำคัญมาตรการที่ทางการ สปป.ลาว ออกมา อยากให้มีเป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชัดเจน ไม่ใช่ใช้วิธีการแจ้งผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว และให้ใช้เป็นมาตรการเดียวกันทุกด่าน เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้มีการปรับตัวให้สามารถปฏิบัติตามได้ 

ทางด้านนายพิทูร ศรีอินทร์งาม นักวิชาการศุลกากรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า หลังได้ทราบปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการชิปปิ้ง จากมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของทางการ สปป.ลาว ที่ทำให้มีปัญหาในการข้ามไปขนส่งสินค้า ใน สปป.ลาว ก็ได้มีการประชุมร่วมกัน และได้ให้ผู้ประกอบการเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเอง จากนั้นก็ได้รวบรวมให้นายด่านศุลกากรหนองคาย นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป.