ไวรัสทำผู้เลี้ยงแห่เทขายหมูทิ้ง แม่หมูต่ำสุดในประวัติศาสตร์ 10 บาท/กก.

ฟาร์มหมู “ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-สระบุรี-นครนายก” หนีตายแห่เทขายหมูทิ้งแม่หมูหลังถูกโรคระบาดไวรัสลึกลับโจมตีที่มั่นสุดท้ายผู้เลี้ยงรายกลาง-รายย่อย ทำแม่พันธุ์หมู น้ำหนัก 250-280 กก. ราคาดิ่งต่ำสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเหลือ 10-15 บาทต่อ กก. หมูขุน 25-30-40 บาทต่อ กก. ลูกหมูเหลือ 4 บาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงกว่า 60 บาทต่อ กก. ร้องรัฐเร่งหาเงินชดเชย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอุ้มธุรกิจ 2 แสนล้าน วิกฤตทั้งซัพพลายเชน

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงหมูในพื้นที่รอยต่อภาคกลาง บริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี นครนายก กำลังเผชิญกับโรคระบาดหมูลึกลับ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะบริเวณ อ.บ้านนา จ.นครนายก ซึ่งถือว่าเกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงหมูมากที่สุด เริ่มปรากฏหมูป่วย-ตายต่อเนื่อง จนทำให้เทขายกันไม่ทัน ตอนนี้มีการแย่งเข้าไปซื้อหมูในพื้นที่

“พื้นที่ภาคกลางต่อเนื่องภาคตะวันออกที่ถูกโรคระบาดหมูลึกลับโจมตีตอนนี้ถือเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ยังคงเหลือผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และรายกลางที่รอดมาได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรยึดอาชีพเลี้ยงหมูเป็นหลักใหญ่อันดับต้น ๆ ของภาคตะวันออก โดนโรคระบาดโจมตีไปกว่า 80% แล้ว

จังหวัดอ่างทองถือว่าพอ ๆ กันโดนเข้าเกือบทุกฟาร์ม ทุกคนพยายามสู้กันเต็มที่ทำระบบไบโอซีเคียวอัดยาฆ่าเชื้อค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่เอาไม่อยู่ พอพายุเข้าฝนตกหนักต่อเนื่อง ภาวะอากาศเปลี่ยน ไวรัสระบาดเข้าฟาร์มเร็วมาก”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ผู้เลี้ยงที่มีหมูอยู่ในมือต่างเร่งเทขายทิ้งออกมาจนทำให้แม่พันธุ์สุกรขนาดน้ำหนัก 250 ตัวต่อ กก. ตกเหลือ 10 บาทต่อ กก., ลูกหมูราคา 4 บาท/กก. ส่วนหมูขุนเฉลี่ยขายตามสภาพตั้งแต่ 25-30-40 บาท/กก.

“การเทขายหมูทิ้งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ราคาหมูในภาคตะวันตก ภาคอีสานร่วงลงต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างแม่หมูพันธุ์ที่น้ำหนัก 250-280 กก.ที่ถึงกำหนดขาย จากภาวะปกติราคาเฉลี่ยขายกันที่ 45-50 บาทต่อ กก. วันนี้ได้เห็นราคาร่วงลงมาได้เห็นที่ราคา 15 บาทต่อ กก. หมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม บางแห่งร่วงลงมาเฉลี่ยตั้งแต่ 45-48-50 บาท

ขณะที่ต้นทุนคนเลี้ยงอยู่ที่ 60-67 บาทต่อ กก. เพราะมีต้นทุนทั้งยาฆ่าเชื้อ และราคาอาหารสัตว์ที่ราคาพุ่งขึ้นสูง อย่างข้าวโพดราคาตลาดโลกขาลง แต่ประเทศไทยราคาข้าวโพดพุ่งขึ้นสวนทาง”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การที่ราคาหมูปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว นอกจากการเทขายตัดราคาจากโรคระบาดไวรัสในสุกรแล้ว ภาวะโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การบริโภคเนื้อหมูในตลาดลดลงมาก

หลายจังหวัดที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โรงเรียนปิด ร้านอาหารปิดกิจการไปจำนวนมาก คนบริโภคจับจ่ายใช้สอยกันอย่างประหยัด ทำให้ส่งผลกระทบโดยภาพรวม

“ปัญหาโรคระบาดลึกลับในสุกรไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยง เมื่อไม่มีตัวกินคือหมู ทำให้กระทบคนทำอาหารสัตว์ขาย เกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด ปลายข้าว รำข้าว กระทบถึงโรงสี และชาวนา รวมถึงคนขายยาสัตว์ อุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ที่สำคัญ กระทบไปถึงธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ด้วย

เพราะคนเลี้ยงหมูส่วนใหญ่กู้เงินมาลงทุน ที่พูดกันถึงตัวเลขเกือบ 2 แสนล้านบาท ไม่หนีจากนี้ จะกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) กันหนัก เพราะไม่มีจะจ่าย และโรคระบาดลึกลับนี้ อนาคตผู้เลี้ยงรายกลาง รายย่อย โอกาสจะกลับมาเลี้ยงหมูอีกยาก ต้องใช้เวลาปรับตัว และลงทุนเยอะ จึงอยากให้รัฐบาล โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยผู้เลี้ยงสุกรเช่นเดียวกับภาคบริการและการท่องเที่ยว ในเรื่องการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1-2% มาให้เกษตรกรได้ลงทุนปรับปรุงโรงเรือนที่มีคุณภาพในการป้องกันโรค” แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์แจ้งข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ในจังหวัดชัยนาท มีสุกรจำนวน 177,714 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 1,255 ราย, จังหวัดสิงห์บุรี มีสุกรจำนวน 43,910 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 333 ราย,

จังหวัดอ่างทอง มีสุกรจำนวน 71,005 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 871 ราย, จังหวัดสระบุรี มีสุกรจำนวน 163,765 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 263 ราย และจังหวัดนครนายก มีสุกรจำนวน 277,213 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 182 ราย

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 นายประพัฒน์ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรแห่งชาติ เพื่อขอให้มีนโยบายและแนวทางการฟื้นฟูเยียวยา พร้อมกับปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรในอนาคต

โดยได้เสนอมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที 1.เร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดกับเกษตรกรรายกลาง รายเล็ก รายย่อย ที่ทำลายซากสุกรไปแล้ว รวมถึงขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการชดใช้ราคาสุกรเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร

2.รัฐบาลควรจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย ดำเนินการให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ปรับปรุงโรงเรือน สู่ระบบมาตรฐาน GMP, HACCP

3.ให้นำระบบ zoning และ compartment มาใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์

4.ขึ้นทะเบียนคนกลางรับซื้อสุกร (broker ) ทุกราย ทุกขนาด และออกระเบียบให้มีบทบาทและมีความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่การผลิตสุกร ในฐานะเครือข่ายหนึ่งในการป้องกันโรคระบาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต