อนาคตเชียงใหม่ในมุม “ชัชชาติ” ก้าวทันดิจิทัล-เพิ่มProductivityอย่าหยุดหายใจ ดูแลสุขภาพให้ดี

การสัมมนา “เชียงใหม่ 2018 …จุดเปลี่ยน ประตูสู่โอกาส” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง” โดยมีเนื้อหาและมุมมองเกี่ยวกับเชียงใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อนาคตรถอีวี-เทรนด์รักสุขภาพ

“ชัชชาติ” กล่าวถึงประเด็นแรก คือ เรื่องอนาคต โดยได้อ้างอิงคำพูดของ William Gibson นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่า “อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว เพียงแต่มันยังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึง” ซึ่งในกรุงเทพฯ เราเห็นรถไฟฟ้าเทสลาออกมาวิ่งแล้ว และอนาคตเราก็ไม่สามารถหนีพ้นรถ EV (Electric Vehicle) และขณะนี้เชียงใหม่เป็นเมืองนำร่องรถตุ๊กตุ๊ก EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า มีจำนวน 4 คัน ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย อนาคตอาจจะมีถึง 450 คัน

อีกด้านหนึ่ง คนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ตัวอย่าง เช่น งานสมัครวิ่งมาราธอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีหน้า เพียงชั่วโมงเดียวมีคนสมัครกว่า 4 พันคน ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์การดูแลสุขภาพจะมีตลาดที่กว้างมากขึ้น รวมถึงอาหารสุขภาพก็จะมีความต้องการมากขึ้น เห็นได้จาก

ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เชียงใหม่ มีผักที่วางขายแบ่งออกเป็น 5 สี คือ อินทรีย์ ปลอดสารพิษ ปลอดภัย ไฮโดรโปนิกส์ และผักทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าเชียงใหม่จะเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ

ออโตเมติก-ออนไลน์เปลี่ยนโลก

ขณะเดียวกัน อนาคตระบบ automation จะเข้ามาใช้แทนคนมากขึ้น เห็นได้จากจุดเช็กอินของสายการบินบางสายเริ่มใช้คอมพิวเตอร์แทนคน หรือร้านค้ามีการใช้การจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR code) มากขึ้น ทั้ง AliPay WeChatPay โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ในอนาคตร้านค้าที่ไม่รับการจ่ายเงินวิธีนี้ก็อาจจะเสียลูกค้าไป

สำหรับช่องทางการขายสินค้าทางออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจการส่งของ หรือดีลิเวอรี่ที่จะเติบโตขึ้นตามมา ขณะที่เมื่อมองประเด็นนี้ในเชียงใหม่ สังเกตได้จากป้ายโฆษณาบริเวณข้างถนน ที่ว่างเปล่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะการโฆษณาทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ คนรุ่นใหม่กินข้าวแกงริมทางน้อยลง แต่ไปกินข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อมากขึ้น เพียงแค่อุ่นไมโครเวฟ ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าเราคิดตาม เราจะคาดการณ์อนาคตได้


เชียงใหม่ปรับให้ทันเทคโนโลยี

นายชัชชาติกล่าวถึงประเด็นที่สอง คือ เรื่อง “เทคโนโลยี” ซึ่งเทคโนโลยีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่ 4 ด้าน คือ Moore”s law, cloud computing, big data และ platform ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ข้อสังเกตของ Gordon Moore ผู้ก่อตั้ง Intel ได้กล่าวไว้ในปี 1965 ว่า “ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม โดยจะเพิ่มเป็นเท่าตัวประมาณทุก ๆ สองปี” ซึ่งหมายความว่าพลังในการคำนวณ หรือความจุของคอมพิวเตอร์ชิปที่เราใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป

ในช่วงแรก ๆ อัตราการเพิ่มจะยังไม่มาก เช่น 2 ไป 4 ไป 8 เท่า แต่พอเวลาผ่านไป การยกกำลังสองจะเพิ่มเร็วขึ้น ถ้าเราคำนวณจากปี 1970 ถึงปัจจุบัน พลังในการคำนวณของคอมพิวเตอร์ชิปเพิ่มขึ้นมาแล้ว 8 ล้านเท่า และจะเป็น 16 ล้านเท่าในอีก 2 ปี เพิ่มเป็น 32 ล้านเท่าใน 4 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ รวดเร็ว เพราะเรามีพลังในการคำนวณและมีความจุข้อมูลเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง

ต้องปรับตัว-หาความรู้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจาก Moore”s law ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้อาจจะมีบางคนที่ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทัน ดังนั้น คำถามที่ตัวเรา ธุรกิจ หรือแม้แต่ประเทศ ต้องคอยถามตัวเองอยู่เสมอ คือ “Are you still relevant ?” “คุณยังมีความหมายอยู่ไหม” เนื่องจากโลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจที่เรามีมันยังมีความหมายหรือความสำคัญในสภาวะปัจจุบันหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องปรับตัว หาความรู้เพิ่ม

ชัชชาติกล่าวว่า เทคโนโลยีที่สำคัญอีกประการคือ cloud computing ในอดีตเราใช้คอมพิวเตอร์แบบ stand alone หรือเครื่องใครเครื่องมัน คอมพิวเตอร์มีซอฟต์แวร์ หน่วยความจำ ฮาร์ดไดรฟ์ของใครของมัน แบ่งกันไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สะดวกในการแบ่งปันข้อมูล แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ต เราสามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน สามารถเอาทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ โปรแกรม หน่วยความจำที่เก็บข้อมูลไปไว้บน cloud และแต่ละคนสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรนี้บน cloud ได้

ดังนั้น cloud computing ก็คือการที่เราใช้ทรัพยากรทางดิจิทัลที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่บนอุปกรณ์ของเรา ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ใช้อยู่ประจำโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว เช่น e-Mail เพราะข้อมูลไม่ได้ถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ของเรา แต่ถูกเก็บไว้บน cloud

ทั้งนี้ cloud computing มีผลกับเชียงใหม่ เพราะทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานด้านดิจิทัล เพราะอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ขณะนี้เชียงใหม่มีบริษัท ProSoft ที่ทำด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีพนักงาน 137 คน ขณะที่สำนักงานที่กรุงเทพฯเหลือ 48 คน ทำไอทีวัลเลย์ที่เชียงใหม่ การให้บริการต่าง ๆ กับลูกค้าในกรุงเทพฯ สามารถทำผ่านอินเทอร์เน็ต และ cloud computing ได้อย่างสะดวก พนักงานก็มีความสุข อยู่ที่เชียงใหม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี อากาศดี

แนะรับมือ big data

เทคโนโลยีอีกอย่างคือ “big data” หรือการที่ข้อมูลต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน กลายมาเป็นข้อมูลดิจิทัลเกือบหมดแล้ว แต่ก่อนโลกเก็บข้อมูลในระบบแอนะล็อก เช่น หนังสือ เทป แผ่นเสียง ในปี 1986 มีข้อมูลในโลกที่เป็นดิจิทัลเพียง 1% แต่พอมาถึงปี 2013 ข้อมูล 98% ของโลกอยู่ในรูปแบบดิจิทัล หรือที่เราเรียกว่า big data ซึ่ง big data มีลักษณะที่สำคัญ 4 ด้าน คือ มีขนาดใหญ่ มีหลายรูปแบบ มีความเร็ว และมีความไม่แน่นอน ที่สำคัญเมื่อใช้ร่วมกับอินเทอร์เน็ตแล้ว มีลักษณะที่สำคัญคือ การส่งข้อมูลเกือบฟรี การทำ copy ข้อมูลแทบไม่มีต้นทุน การส่งข้อมูลทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีผลต่อเชียงใหม่ในอนาคตเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ในภาคการผลิต การขายสินค้าต่าง ๆ ต้องมีระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค ซึ่งต้องมีต้นทุนและใช้เวลาในการดำเนินการ ดังนั้นระยะทางเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อต้นทุนมาก เราจึงเห็นอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ของไทย ไปอยู่แถวอีสเทิร์นซีบอร์ด ส่วนหนึ่งเพราะต้องการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพราะอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง

แต่ในยุคดิจิทัล การส่งข้อมูลดิจิทัลแบบ big data นั้นเป็นการส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งระยะทางไม่มีความหมาย ถ้าพื้นที่นั้นเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เชียงใหม่ไม่ได้เสียเปรียบกรุงเทพฯ หรือที่ไหนในโลก

“ในการส่ง digital content ผมได้ไปคุยกับผู้ก่อตั้งบริษัท CGSCAPE ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิต digital content ในรูปแบบของ computer graphics และมีเดียต่าง ๆ อยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ก็มีสำนักงานอยู่ที่เชียงใหม่ และผลิตผลงานส่งไปยังลูกค้าที่กรุงเทพฯ และอีกหลาย ๆ แห่งทั่วโลกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต”

เทคโนโลยีตัวสุดท้าย คือ “platform” หรือระบบตลาดทางอินเทอร์เน็ต อดีตเราทำธุรกิจแบบท่อ คือมีการออกแบบ ผลิตสินค้า และขาย เป็นคล้าย ๆ กับท่อ มีคนควบคุมการเข้าออก แต่ระบบ platform คือระบบที่มีผู้ซื้อ ผู้ขายจำนวนมาก เข้ามาซื้อขายผ่าน platform ทำให้สามารถขยายธุรกิจได้เป็นอย่างมาก โดย platform มีลักษณะสำคัญที่ดีกว่าระบบธุรกิจเดิม คือไม่มีผู้ควบคุมการเข้าออก สามารถขยายได้เร็ว ผู้ซื้อผู้ขายเข้ามาใช้บริการได้ง่าย และมีระบบรับฟังความคิดเห็น (feedback) ที่รวดเร็ว

การมี platform จะช่วยให้ผู้ขายรายเล็ก ๆ ซึ่งเดิมไม่มีช่องทางขาย เนื่องจากไม่ได้มีความต้องการมากพอที่จะไปวางขายสินค้าในร้านต่าง ๆ ได้ สามารถเสนอขายสินค้าผ่าน platform ซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ AirBnB ซึ่งเป็น platform ด้านที่พักอาศัย ให้คนที่มีห้องเช่า สามารถเอาห้องเช่ามาใส่บน platform ให้คนทั่วโลกเห็น เช่น ห้องเช่าเล็ก ๆ ในเมืองเชียงใหม่ที่แต่ก่อนไม่รู้จะไปโฆษณาที่ไหน มาปรากฏอยู่บน AirBnB ที่มีคนเห็นทั่วโลก มีคนมาพักและเขียนคำชมมากมาย อันนี้คือพลังของ platform ที่จะช่วยผู้ผลิต ผู้ให้บริการรายย่อยมีที่ยืนมากขึ้น

เทคโนโลยีช่วยสร้างงาน-โอกาส

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เมื่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ สุดท้ายจะทำให้คนตกงาน มีงานน้อยลงไหม โดยส่วนตัวเห็นกลับกันว่า เทคโนโลยีจะช่วยสร้างงาน สร้างโอกาสมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพียงแต่งานจะเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ไป งานที่ทำซ้ำ ๆ จะถูกทดแทนด้วยระบบ automation งานที่คนทำจะเป็นงานที่หลากหลายและเป็นการเพิ่มมูลค่า ดังนั้นแรงงานในอนาคตต้องมีการเตรียมปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป

“การเตรียมตัวสำหรับอนาคตนั้น ผมชอบที่ Ray Dalio ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater บริหารเงินลงทุนขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของอเมริกา เขาได้สรุปหลักการที่จะมีความสำเร็จและความมั่นคงทางการเงินไว้สามข้อง่าย ๆ คือ อย่าให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ อย่าให้รายได้เพิ่มเร็วกว่าประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้ดีที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (productivity)”

อย่าหยุดหายใจ ดูแลสุขภาพให้ดี

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเตรียมตัวสำหรับอนาคต คือ ต้องพยายามเพิ่ม productivity ของเรา ของบริษัท ของประเทศให้ดีที่สุด และก็คิดว่า Thailand 4.0 หรือเชียงใหม่ 4.0 ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้คน และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน สำคัญที่สุด คือ อย่าหยุดหายใจ ดูแลสุขภาพให้ดี ให้แข็งแรง เป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มประสิทธิภาพ ถ้าเราตาย ประสิทธิภาพเราเป็นศูนย์ ถ้าเราป่วยยิ่งติดลบ เพราะมีแต่ input ไม่มี out-put

นอกจากสุขภาพแล้ว เราต้องอย่าหยุดหาความรู้ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เราต้องหาความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ต้องเป็นคนอยากรู้อยากเห็น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องมีความรู้เป็นรูปตัว T คือรู้ลึกในบางเรื่อง และรู้กว้างในหลาย ๆ เรื่องทั้งด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจ และเห็นภาพรวมได้ดีขึ้น

การเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของธุรกิจนั้น ต้องเริ่มจากการเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ดี เลือกคนที่เหมาะ ก่อนเลือกเทคโนโลยี มีความเข้าใจเทคโนโลยี อย่าใช้เทคโนโลยีเพียงเพราะกลัวตกรถ นอกจากนี้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ business model ซึ่งสำคัญกว่าเทคโนโลยี เราต้องเลือกเทคโนโลยีที่มาสนับสนุน business model

“ยกตัวอย่าง ธุรกิจที่เปลี่ยนชีวิตของคนเชียงใหม่อันหนึ่ง คือ สายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เลย แต่ประสบความสำเร็จ เพราะ business model”

ต้องดึงคนเก่งมาอยู่เชียงใหม่

สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้น ตนเคยถามตัวเองว่า การเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นกับอะไร ขึ้นกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ การดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แต่จริง ๆ แล้วคิดว่า หัวใจของเชียงใหม่ในอนาคตนั้น เหมือนที่ Edward Glaeser เขียนไว้ในหนังสือ “Triumph of the City” ที่เขาศึกษาความสำเร็จของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก และสรุปว่า เมืองที่จะพัฒนาได้ จะต้องสามารถดึงดูดคนเก่ง มีความสามารถ และช่วยให้เขาทำงานร่วมกันได้ ไม่มีเมืองไหนที่จะประสบความสำเร็จได้ถ้าเมืองนั้นขาดทรัพยากรบุคคลที่ดี

อนาคตของเชียงใหม่ ต้องดึงคนเก่งของเชียงใหม่ให้อยู่กับเชียงใหม่ และดึงคนเก่ง ๆ มาจากทั่วโลก ในหลาย ๆ สาขาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านสังคม ศิลปะ สิ่งแวดล้อมเข้ามา

“ผมได้มีโอกาสพบคนเก่ง ๆ ของเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่รู้สึกได้เลยว่า นี่คืออนาคตของเชียงใหม่ หลายคนไม่ใช่คนที่เกิดที่เชียงใหม่ แต่รักเชียงใหม่ และเลือกที่จะมาใช้ชีวิตที่นี่”

อนาคตเชียงใหม่ที่จะสร้างทรัพยากรบุคคลที่แข็งแกร่งได้นั้น เชียงใหม่ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้อยากให้เชียงใหม่เป็นกรุงเทพฯแห่งที่สอง ไม่อยากให้คลองแม่ข่าของเชียงใหม่เป็นคลองที่มีแต่น้ำเน่าเสีย เหมือนคลองบางแห่งในกรุงเทพฯ สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาเชียงใหม่ คือ เราจะก้าวไปด้วยกัน อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง เชียงใหม่ในอนาคต ต้องมีทั้งสมาร์ทฟาร์มมิ่ง หัตถกรรมท้องถิ่น ธุรกิจด้านไอที ดิจิทัล

“สิ่งที่วัดความก้าวหน้าของเชียงใหม่ในอนาคต อาจจะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง หรือสนามบินใหม่ แต่เราอาจจะต้องวัดด้วยคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองแม่ข่า คุณภาพของน้ำในคลองแม่ข่า ถ้าเราสามารถพัฒนาเมือง โดยพัฒนาสิ่งแวดล้อม และคนในทุกภาคส่วน ให้ก้าวไปด้วยกันอย่างเหมาะสม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน อันนั้นน่าจะเป็นความสำเร็จในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง” นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้าย