เปิดโรดแมปเศรษฐกิจเอกชน ชง 17 แผน 5 ภาค สู่ ครม. ส.ค. นี้

การแก้ปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัด ส่วนหนึ่งต้องสะท้อนมาจากคนในพื้นที่ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับที่ผ่าน ๆ มา จัดทำโดยภาครัฐ โดยภาคเอกชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ดังนั้น วันนี้ภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยในระดับภูมิภาค จึงได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนาม MOU ร่วมกับ กกร.ชุดใหญ่ จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566-2570 ขึ้น

โดยล้อกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนภาค แผนกลุ่มจังหวัด และแผนจังหวัดของภาครัฐ รวมถึงแผนพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และวันนี้แผนเฟสแรกเดินมาใกล้ถึงบทสรุปแล้ว

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ5ภาค

ภาคกลางชงนิคม R&D

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการภูมิภาค กกร. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ทางคณะกรรมการร่วมจะจัดให้มีการวิพากษ์ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566-2570 ก่อนที่จะสรุปแผนในขั้นตอนสุดท้ายภายในเดือนสิงหาคมนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นโรดแมปแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจของภาคเอกชน จะมีโครงการที่เป็นแผนปฏิบัติการเร่งรัด (quick win) กำกับไปด้วย ซึ่งต้องร่วมกันผลักดันขอสนับสนุนงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด

ธวัชชัย เศรษฐจินดา

ตอนนี้เริ่มเดินเฟสแรกจะทำนำร่องทั้งหมด 17 แผน ประกอบด้วย เป็นแผนระดับภาค 5 แผน 6 กลุ่มจังหวัด และแผนระดับจังหวัดจะมีการนำร่องจังหวัดเป้าหมาย 6 จังหวัด โดยภาคเหนือ เสนอมา 2 จังหวัด จ.ลำปางและตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลือก จ.อุดรธานี, ภาคตะวันออกเลือก จ.จันทบุรี, ภาคกลางเลือก จ.ลพบุรี และภาคใต้เลือก จ.กระบี่ ส่วนจังหวัดที่เหลืออยู่จะทำให้เสร็จภายใน 2 ปี

ยกตัวอย่าง ภาคกลาง มีมิติการพัฒนาที่หลากหลาย เพราะมีความแตกต่างในพื้นที่ เน้น 3 โครงการ ได้แก่ 1.เรื่องเกษตรเพิ่มมูลค่า เสนอจัดตั้งนิคมวิจัยและพัฒนา เรียกว่า “Food Valley” ในจังหวัดปทุมธานี 2.การเป็น “ศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ของประเทศ” และ 3.ทำเรื่องท่องเที่ยวมูลค่าสูงจะเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)

รายงานข่าวจากภาคกลางเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคกลางได้เสนอแนวทางการพัฒนาภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนากรุงเทพฯเป็นมหานครทันสมัยควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจทวาย-ภาคกลาง-อีอีซี

ภาคเหนือชง NEC-EWEC

นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ร่วมระดมวิพากษ์แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566-2570 โดยมิติการพัฒนามี 4 ด้าน ได้แก่

จักริน วังวิวัฒน์

1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐาน BCG ของภาคเหนือ (Northern BCG Economy) อาทิ การยกระดับโครงการ Northern Thailand Food Valley และ Cosmetic Valley เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

2.การส่งเสริมการค้า การลงทุน ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมดิจิทัล พัฒนาภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคเหนือ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness)

4.การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงโครงข่ายในและต่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ และนครสวรรค์-แม่สอด รวมถึงศูนย์กลางท่าเรือบกภาคเหนือ (dry port) และโครงการมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งไปด่านชายแดน

ประเด็นสำคัญที่จังหวัดในภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างต้องการผลักดันโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า แผนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ต้องดูการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจังหวัดภาคเหนือตอนล่างต้องผลักดันแผนพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยการพัฒนาระบบโครงข่ายโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการสร้างมอเตอร์เวย์ ซึ่งมีแผนแม่บทการพัฒนาอยู่แล้ว ที่ต้องเร่งรัดให้เกิดเร็วขึ้น เพื่อผลักดันสินค้าในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน จนถึงอินเดียได้

ภาคอีสานชงเศรษฐกิจอนาคต

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภาคอีสานมีประเด็นสำคัญคือ การยกระดับภาคการเกษตร ภาคบริการ ประเด็นแรกที่ต้องทำคือ 1.การใช้โอกาสทางการค้าไปสู่จีนและยุโรป 2.เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต้องทำให้เร็วขึ้นเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หากช้าไปทำเลหรือศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป 3.ต้องมีแผนระยะสั้น ระยะยาวในพื้นที่ตัวเอง ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย

“ต้องยอมรับว่าบางแผนงานถูกเขียนไว้นานมาก และไม่ถูกหยิบมาใช้จนล้าหลัง มุมมองของหอการค้าแต่ละแผนต้องไปล้อกับบริบทของการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลายองค์ประกอบ เช่น ปรับจากมุ่งสู่นานาชาติ มาสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ถือเป็นจุดศูนย์กลาง ทั้งเศรษฐกิจ การเกษตร การค้าการลงทุน ปรับรายละเอียดกรอบแนวทางให้ล้อกับหัวใจหลักของการพัฒนาให้ได้”

ทั้งนี้ ภาคอีสานยังต้องทบทวนหลายประเด็นที่ยังไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด แต่เบื้องต้นไฮไลต์คือธีมท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะสามารถเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของคนได้

รายงานข่าวจากภาคอีสานระบุว่า ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ให้ความสำคัญกับการพัฒนา 3G ได้แก่ Green พัฒนาเกษตรปลอดภัย Growth โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ Gate ใช้โอกาสจากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ

โดยกรอบแนวทางการพัฒนาคือ 1.พัฒนาภาคเกษตรต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เช่น เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทุ่งกุลาร้องไห้ 2.บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอเพื่อรองรับการพัฒนา 3.พัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นไปสู่มาตรฐานสากล 4.พัฒนาเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษและเมืองชายแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาค (NeEC-Bioeconomy) 5.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้ได้มาตรฐาน 6.ยกระดับคุณภาพชีวิตแก้ปัญหาความยากจนให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น

ตะวันออกชงเป็น EEC ทั้งภาค

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะมีแผนภูมิภาค แต่แผนต่าง ๆ ไม่ได้ลงถึงโครงการ ดังนั้น แผนที่ภาคเอกชนจัดทำขึ้นจะมีโครงการต่าง ๆ ที่มีรายละเอียด

ปรัชญา สมะลาภา

ยกตัวอย่าง จังหวัดจันทบุรี จะทำเรื่องของมหานครอัญมณี ซึ่งเดิมทีก็มีการทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความก้าวหน้า รวมถึงมหานครผลไม้ ที่มีการทำต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี ซึ่งสร้างรายได้จากผลไม้ขึ้นมา 4-5 เท่าตัว ถือว่าประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ แผนกลุ่มจังหวัดอื่น ๆ จะเน้นเรื่องเกษตรและอาหาร สมุนไพร ผลไม้ รวมถึงเรื่องการค้าชายแดน ซึ่งเวลาพูดถึงจะเน้นการค้าชายแดนที่เป็นรายย่อย จึงอยากให้มีการอำนวยความสะดวกให้สามารถค้าขายได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน เป้าหมายของภาคตะวันออกคือ การกระจายรายได้ จากภาคที่มีรายได้สูงไปสู่ภาคที่มีรายได้น้อย ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ปรึกษากำลังดู โดยเฉพาะเรื่องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตร ได้ศึกษาเบื้องต้นเรื่องยางพาราเพราะเป็นพืชที่สามารถทำคาร์บอนเครดิตได้มาก เกษตรกรสวนยางพาราสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

รายงานข่าวจากภาคตะวันออกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับโครงการที่ภาคตะวันออกเสนอประกอบด้วย โครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งหลักให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองในอนาคต อาทิ 1.การพัฒนาการผลิตและการค้าผลไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การแปรรูป และการจัดจําหน่าย

2.การยกระดับสินค้าเกษตรด้วยอุตสาหกรรมการแปรรูป ด้วยสารสกัด สารออกฤทธิ์ พัฒนามาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 3.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวชายทะเล (เส้นถนนเฉลิมบูรพาชลทิต) จากจังหวัดชลบุรี เส้นทางเลียบชายทะเลสู่จังหวัดตราด เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายแดน สร้างฐานการกระจายรายได้ และการสร้างงานให้แก่ท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว

ส่วนโครงการใหม่ ได้แก่ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้มีการจัดการองค์กรอัจฉริยะ (Smart Industrial Service Organization) มุ่งเป้าในการกําจัดคาร์บอน ใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท 2.การยกระดับการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรชีวภาพที่เป็นฐานของเศรษฐกิจ BCG ใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท

ภาคใต้ชูค้าลงทุนเชื่อมชายแดน

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภาคใต้ อว.ส่วนหน้าที่ทำแผน คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับกลุ่มจังหวัดอันดามัน เน้นไปทางด้านการท่องเที่ยว เกษตร การค้าชายแดน การทำท่าเรือสำราญ รวมทั้งโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วย (AWC-Andaman Wellness Economic Corridor) ใน 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง และสตูล

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ

รายงานข่าวจากภาคใต้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการพัฒนามีดังนี้

1.พัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวและบริการ และธุรกิจต่อเนื่องด้านการท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวและบริการที่มีมาตรฐานและมีมูลค่าสูง เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและระบบบริการพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ยกระดับมาตรฐานบริการการท่องเที่ยวและส่งเสริมธุรกิจ พัฒนากิจกรรมและบริการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายและสร้างสรรค์

2.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนและด่านชายแดนให้เอื้อต่อการค้า การลงทุน โดยมีแนวทางการพัฒนา เช่น พัฒนาพื้นที่บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้มีความพร้อมสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้า และการผ่านแดนบริเวณด่านชายแดนให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนมาตรการจูงใจให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการค้า การลงทุนในพื้นที่

3.พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) มีแนวทางทั้งพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย-ฝั่งอันดามัน-ประเทศแถบเอเชียใต้ พัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยและอันดามันตามแนวประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-ระนอง-เมียนมา ควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ เป็นต้น