“ธนจิรา” บุกอาหาร-เครื่องดื่ม ทุ่มงบปั้น “มารีเมกโกะคาเฟ่”

ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล

“มารีเมกโกะ” แตกไลน์ธุรกิจ เปิดร้านอาหาร-เครื่องดื่ม “มารีเมกโกะ คาเฟ่” พร้อมเดินหน้าขยายสาขาขนาดเล็ก กางแผนบุกตลาดเอเชียแปซิฟิก-เอเชียตะวันตกเฉียงใต้

นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่าย แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น “มารีเมกโกะ” (Marimekko) จากฟินแลนด์ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ทำตลาด มารีเมกโกะมา 8 ปี ล่าสุดได้มีการต่อยอดแบรนด์จากการเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่นไปสู่ไลฟ์สไตล์อาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการเปิดตัว มารีเมกโกะ คาเฟ่ (Marimekko Kafe’) ที่ ดิ เอ็ม โพเรียม ชั้น 1 บนพื้นที่กว่า 200 ตร.ม. จากปีที่ผ่านมาได้เปิดในชื่อ Marimekko Pop Up Cafe’ ที่เซ็นทรัล เอมบาสซี่ เพื่อทดลองโมเดล

สำหรับ มารีเมกโกะ คาเฟ่ ที่เปิดมีทั้งโซนคาเฟ่ ที่มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และขนมหวาน รวมทั้งมีโซนสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ รวมอยู่ในที่เดียว นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับ มารีเมกโกะ ป็อป อัพ คาเฟ่ มาเป็น มารีเมกโกะ คาเฟ่ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของมารีเมกโกะในตลาดประเทศไทยคือ การหากลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยังเป็น nonuser ให้เป็น user เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยังมีผู้บริโภคที่มองว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาสูง หรือมีความเข้าใจผิดว่าเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น เราจึงพยายามสื่อสารและพัฒนาคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และเลือกใช้สินค้าของแบรนด์มากยิ่งขึ้น และจากความหลากหลายของประเภทสินค้า (category) จึงทำให้ผู้บริโภคยังเกิดความสับสนว่า มารีเมกโกะเป็นแบรนด์แฟชั่น หรือแบรนด์ของใช้ในบ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วมารีเมกโกะเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่ครอบคลุมทุกบริบทในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า กระเป๋า หรือจาน ชาม แต่เป็นแบรนด์ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ มารีเมกโกะ นอกเหนือจากการเชื่อมโยงการมีประสบการณ์ร่วมแล้ว บริษัทยังมองการขยายสาขาในรูปแบบ store format ขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 60 ตร.ม. ที่คัดสรรสินค้าที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายในโลเกชั่นต่าง ๆ อย่างเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

Advertisment

ปลายปี 2566 นี้มีแผนจะเปิดสาขาไซซ์เล็กเพิ่มอีก 1 สาขา ที่ เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ จากปัจุบันมี 13 สาขา อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์, สยามดิสคัฟเวอรี่, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัล บางนา, เซ็นทรัล ชิดลม และดิเอ็มโพเรียม เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีการขยายการรับรู้ของแบรนด์ออกไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มีประสบการณ์ร่วมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการมองแผนการขยายแบรนด์มารีเมกโกะ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งเอเชีย-แปซิฟิก และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ด้วยการนำโมเดล มารีเมกโกะ คาเฟ่ ไปเปิด

ปัจจุบัน มารีเมกโกะ มียอดขายหลักจากกลุ่มสินค้า ready-to-wear คิดเป็น 49% รองลงมาคือสินค้ากลุ่ม bags & accessories 30% และกลุ่ม home collection 20% ต่างจาก มารีเมกโกะ ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่ยอดขายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ากลุ่ม home collection

พร้อมกันนี้ นายธนพงษ์ยังกล่าวถึงภาพรวมของ ธนจิรา กรุ๊ป ในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า มีการเติบโตที่สูงขึ้น จากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น รวมทั้งมีการเปิดประเทศ ทำให้ธุรกิจกลับมามีรายได้มากขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จาก แพนดอร่า ประมาณ 51% มารีเมกโกะ 21% และแบรนด์อื่น ๆ ประมาณ 28% และปลายปีนี้มีแผนจะนำแฟรนไชส์ที่เป็นร้านอาหาร Fine-Dining ที่เป็นแบรนด์พรีเมี่ยมเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอด้วย