รถไฟฟ้าสายสีเหลือง จุดพลุ “โฮมคาเฟ่”

โฮมคาเฟ่

ทันทีที่ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” “ลาดพร้าว-สำโรง” เปิดทดลองให้นั่งฟรีและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 23 สถานี กับระยะทาง 30.4 กิโลเมตร ปรากฏว่า กระแสตอบรับดีมาก มีประชาชนทุกเพศทุกวัยขานรับรถไฟฟ้าสายใหม่อย่างคึกคัก

พร้อมรีวิวโครงการอย่างสนุกสนาน แถมตั้งชื่อเล่นโปรเจ็กต์นี้ว่า “น้องเก๊กฮวย” ตามชื่อและสีของโบกี้ ซึ่งเป็นสีเหลืองสวยงาม ดูละมุนเหมือนขนาดโครงการที่เป็นรถไฟฟ้าสายรอง หรือระบบรางเดี่ยวแบบยกระดับ

ทั้งมีการแชร์ “วิวสวย ๆ” ในโลกโซเชียล ทำให้สายสีเหลือง ยิ่งดึงดูดใจให้ผู้คนอยากมาลองนั่งโดยสารสักครั้ง

จากการลงพื้นที่สำรวจของ “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า หลังสายสีเหลืองเปิดให้บริการ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะรถไฟฟ้าสายนี้พาดผ่านถนนสายสำคัญ ที่มีการจราจรติดหนัก จึงกลายเป็น “ทางเลือก” ของการเดินทางย่านถนนลาดพร้าว บางกะปิ แยกลำสาลี ศรีนครินทร์ สำโรง ฯลฯ

จากที่นั่งรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง มาขึ้นรถไฟฟ้าแทน เท่ากับการคมนาคมการโดยสารเริ่มเปลี่ยนทิศทาง

เช่นเดียวกับกระแส One Day Trip ที่มีการเช็กอินในย่านทำเลนี้ ส่งผลให้สถานที่กินดื่มเที่ยวเกิดความคึกคัก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบค้นหาร้านลับ หรือร้านที่มีแคแร็กเตอร์ เพื่อการรีวิวตามเทรนด์นิยม

 

โฮมคาเฟ่

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เหมือนการจุดพลุ ทำให้เกิดร้านกาแฟ หรือคาเฟ่เก๋ ๆ มากขึ้น นอกเหนือจากร้านกาแฟแบรนด์ดังในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมันอย่างสตาร์บัคส์ อะเมซอน เป็นต้น

เช่น ร้าน Blanc Cafe & Eatery คาเฟ่สีขาว สไตล์มินิมอล มีดีไซน์ที่โดดเด่นสะดุดตา ที่เป็นทั้ง Cafe & Coworking Space พร้อมเมนูโฮมเมด ซึ่งตั้งอยู่ในซอยศรีนครินทร์ 5 ที่สายสีเหลืองพาดผ่าน ไม่ต้องไปไกลถึงฝรั่งเศสก็สัมผัสกลิ่นอายความเลิศหรูได้ เหมือนอยู่กลางเมืองโปรวองซ์ ในย่านศรีนครินทร์

คอนเซ็ปต์ของร้าน ทางเจ้าของตั้งใจจัดให้เป็น “มุมพักผ่อนหย่อนใจ” แบบสบาย ๆ ภายใต้โครงสร้างตึกสีขาว ตรงตามชื่อ Blanc ที่เป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า สีขาว มาตกแต่งในแนว contemporary ผสมผสานกับความเรียบง่าย แต่ดูเท่ เก๋ในตัว

โฮมคาเฟ่

เมนูแนะนำคือ Blanc Orange Americano อเมริกาโนน้ำส้มที่ทางร้านเลือกใช้เมล็ดกาแฟไทยที่ให้กลิ่นหอม ส่วนใครที่ไม่ดื่มกาแฟ ทางร้านแนะนำให้สั่งโอริโอ้ปั่น ที่มีเนื้อสัมผัสให้เคี้ยวเล่นได้เพลิน ๆ

อีกร้านชื่อเก๋มาก “กาแฟมีวนา” ที่วางคอนเซ็ปต์สไตล์รักษ์โลก…เติบโตใต้เงาป่า อุดมคุณค่าด้วยเกษตรอินทรีย์ สาขาแฟล็กชิปสโตร์ อยู่ซอยศรีนครินทร์ 57 ร้านเปิดทุกวัน 07.30-17.30 น. ส่วนสาขาบ้านสาทร อยู่ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 เปิดทุกวัน 07.00-17.00 น.

MiVana Coffee เป็นคาเฟ่สัญชาติไทยที่เปิดโลกกาแฟไทยให้นักท่องเที่ยวรู้จัก ภายใต้บรรยากาศใต้เงาต้นไม้ใหญ่ที่ตกแต่งร้านด้วยวัสดุธรรมชาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้านกลางป่า ที่นี่มีเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงจุดหมายปลายทางของกาแฟอราบิก้าที่ปลูกด้วยวิถีออร์แกนิก ปลอดสารเคมีตลอดขั้นตอน และเก็บเกี่ยวด้วยมือทีละผล ท่ามกลางต้นไม้ในป่าใหญ่ (Organic Shade-Grown Forest Coffee) จนได้เมล็ดกาแฟที่ผ่านการเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ป่ากว่า 4,600 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย ด้วยการดูแลของพี่น้องเกษตรกรกาแฟในพื้นที่กว่า 270 ครอบครัว

กาแฟคุณภาพดี ที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของรสชาติ แต่รวมถึงความปลอดภัยทั้งกับคนดื่มและธรรมชาติ ด้วยความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน

อานิสงส์ของสายสีเหลือง ทำให้คาเฟ่รักษ์โลกร้านนี้มีแขกใหม่ ๆ มาเยือนเพิ่มขึ้นทุกวัน

มาถึงร้านที่ให้ความรู้สึกแบบโฮมมี่มาก ๆ คือ Reikoo Coffee อ่านว่า “เรโกะ คอฟฟี่” คาเฟ่ลับ สไตล์เจแปนเลิฟเวอร์ที่ใครมาแล้วจะตกหลุมรัก

เพราะการก่อสร้างและตกแต่งเหมือนยกบ้านญี่ปุ่นมาไว้ที่นี่ที่ย่านเทพารักษ์ เป็นการเอาใจหนุ่มสาวและครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่อยากมาเที่ยวเล่น นั่งพักผ่อน พร้อมถ่ายรูปท่าเก๋ ๆ เป็นที่ระลึก

ภคพล พงศ์นิธิศ วัย 28 ปี เจ้าของร้าน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร้านเพิ่งเปิดได้ 6 เดือน เป็นการสร้างใหม่บนที่ดินของเพื่อน เป็นคนชอบญี่ปุ่นทั้งดีไซน์และวัฒนธรรม จึงสร้างสรรค์ให้ที่นี่รวมหมดทุกอย่างที่ทุกคนชอบ

“ไม่ได้ตั้งใจรับสายสีเหลืองแต่เมื่อรถไฟฟ้าเปิดใช้ก็มีลูกค้ามาเดินเที่ยวแล้วรีวิว เลยบอกปากต่อปากว่าเป็นร้านลับ”

ซึ่งโฮมคาเฟ่เป็นร้านที่คนทำ ต้องตั้งใจทำ คนมาก็ต้องตั้งใจมา เพราะร้านเป็นแบบยูนีค ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว

ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พอมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็เป็นการขยายพื้นที่ให้คนเข้าถึงมากขึ้น โอกาสธุรกิจก็มากขึ้น

เช่น บริเวณลาดพร้าว 71 และโชคชัย 4 เดิมมีคาเฟ่มากอยู่แล้วก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก ผู้ประกอบการน่าจะแฮปปี้กับการมีรถไฟฟ้าสายใหม่ ทำให้ทำเลเจริญขึ้นและตอบโจทย์เรื่องปัญหาที่จอดรถด้วย

“ถ้าคาเฟ่รวมถึงร้านขายอาหารและกาแฟ ย่านลาดพร้าว-โชคชัยน่าจะมีเฉียดพันร้าน ถ้านับรวมในคอมมูนิตี้มอลด้วย” นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวและว่า

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ร้านกาแฟจะผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่คำถามคือคนดื่มกาแฟมากขึ้นตามด้วยหรือไม่ แม้ความสะดวกสบายในการเดินทางไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่ความยากคือต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายชอบซื้อชอบกินอะไร ต้องรู้อีกว่า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าคือคนกลุ่มไหนและชอบอะไร

“ในโลกที่ทุกอย่างสะดวกมากๆ ผู้ประกอบการอาจต้องปรับตัวให้ทัน คนที่เร็วกว่าจะชนะเสมอ”

ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะเช่าพื้นที่เปิดร้านกาแฟ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าของที่เดิมไม่อยากขาย เพราะที่ทำเลทองมีแต่ราคาขึ้น ดูคอนโดฯ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ผู้ประกอบการจะตกแต่งร้านในสไตล์มินิมอล โฮมมี่ หรือฉีกเป็นลอฟต์แบบอลังการ เพื่อให้ถ่ายรูป ทำไลฟ์สเปซ ภายใต้พื้นที่มีจำกัด

อย่างไรก็ตาม “ณัฏฐ์รดา” ชี้ว่า วัฏจักรของร้านกาแฟในย่านนี้คือ 5 ปี ถ้าไม่ใช่ย้ายสาขาไปที่อื่นก็คือเลิกกิจการไปเลย ใครที่อยู่ได้นานกว่านี้ถือว่าไม่ธรรมดา

ปัจจุบันกลุ่มคนเที่ยวคาเฟ่เป็นวัยมหาวิทยาลัย เด็กจบใหม่ ถึงอายุประมาณ 45 ปี เกินกว่านี้ก็ไม่มาแล้ว ยิ่งโซนนี้ยิ่งไม่ค่อยมา

กลุ่มคนที่เที่ยวคาเฟ่เป็นคนใช้เงินและยินดีจ่าย ที่อายุมากหน่อยอาจไม่ค่อยยอมจ่ายเพื่อกินกาแฟราคาแก้วละ 100-200 บาท กลับกันเด็กมหาวิทยาลัยและเด็กจบใหม่กล้าที่จะจ่าย

เพราะกาแฟไม่ใช่เเค่เครื่องดื่ม ปัจจุบันคนไม่ได้ดื่มกาแฟเพื่อตื่น แต่ดื่มเพื่อสุนทรีย์

เราดื่มเพื่อความสำราญ เพราะรสชาติส่วนหนึ่ง คนที่ไปด้วย และบรรยากาศร้าน เป็นการซื้อความสุข แต่ละคนจะเลือกมู้ดแอนด์โทนต่างกันไปและไม่ซ้ำกัน