“ลอรีอัล” ระดม 500 ไอเท็มขึ้นแท่นความงาม

“ลอรีอัล” เติมพอร์ตความงาม ส่ง 2 แบรนด์ใหม่เขย่าตลาด 1.6 แสนล้าน รับช่องว่างลักเซอรี่เมกอัพ-เวชสำอางแมส พร้อมระดมสินค้ากว่า 500 รายการปลุกยอดต่อเนื่องทั้งปี ก่อนเพิ่มน้ำหนักลงทุนดิจิทัล 27% เร่งสื่อสารเจาะคนรุ่นใหม่ ขยายอีบูติคออนไลน์ เพิ่มกิมมิกดึงลูกค้าหน้าร้าน หวังเร่งการเติบโตรอบด้าน รับเป้าเติบโตกว่าตลาดเท่าตัว

นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องสำอาง อาทิ ลอรีอัล ปารีส, การ์นิเย่, เมย์เบลลีน นิวยอร์ก, ลังโคม, ไบโอเธิร์ม, คีลส์, ชู อูเอมูระ ฯลฯ กล่าวว่า เพื่อรับกับศักยภาพของตลาดความงามในไทยที่มีมูลค่ากว่า 1.68 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7-8% ต่อเนื่องทุกปี และตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครันยิ่งขึ้น

ปีนี้บริษัทได้นำแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาด 2 แบรนด์ ได้แก่ จิออร์จิโอ อาร์มานี บิวตี้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเคาน์เตอร์แบรนด์ มีจุดเด่นด้านเมกอัพ และเซราวี ในกลุ่มเวชสำอาง มีจุดเด่นที่ราคาเข้าถึงง่าย เสริมทัพกับพอร์ตโฟลิโอที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 22 แบรนด์ ครอบคลุมทั้งกลุ่มแมส ไปจนถึงลักเซอรี่ เพื่อสร้างการเติบโตตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

ผ่านกลยุทธ์หลักของลอรีอัลคือ การยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาด รูปแบบร้าน หรือสินค้าที่ผู้บริโภคมีความต้องการ ซึ่งปีนี้จะนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาสร้างความคึกคักให้กับตลาด และกระตุ้นกำลังซื้อตลอดทั้งปีมากกว่า 500 รายการ ทั้งกลุ่มสกินแคร์ อาทิ การ์นิเย่ ลังโคม ลาโรช-โพเซย์ คีลส์ ฯลฯ กลุ่มเมกอัพ อาทิ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก, นิกซ์ โปรเฟสชั่นแนล เออเบิน ดีเคย์ ฯลฯ และเส้นผม อาทิ ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และเคราสตาส ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยทั่วโลก 18 แห่ง

ตลอดจนการให้น้ำหนักกับช่องทางดิจิทัลโดยเพิ่มงบฯจากปีที่ผ่านมา 23% ทั้งด้านของการสื่อสารในออนไลน์ ในโซเชียลมีเดีย ยูทูบ บล็อกเกอร์ต่าง ๆ และช่องทางการจำหน่ายในอีคอมเมิร์ซ เช่น การเปิดอีบูติค หรือร้านค้าออนไลน์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น ปัจจุบันเน้นในกลุ่มเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ เช่น ลังโคม, วาย เอสแอล โบเต้ และไบโอเธิร์ม ซึ่งมีแผนจะขยายไปในแบรนด์อื่น ๆ ของกลุ่มดังกล่าวด้วย ควบคู่กับการขยายไปในช่องทางมาร์เก็ตเพลซร่วมกับคู่ค้า เช่น คอนวี่ โอรามิ ลาซาด้า เซ็นทรัลออนไลน์ เซโฟร่า เป็นต้น

Advertisment

“อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมายอดขายของอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตขึ้นถึง 97% ซึ่งลอรีอัลมีความต้องการพัฒนาช่องทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ ควบคู่ไปกับหน้าร้านเพื่อตอบโจทย์การช็อปของลูกค้าอย่างไร้รอยต่อ”

เช่น การเปิดร้านแฟลกชิปสโตร์ของแบรนด์นิกซ์ (NYX) ในปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นร้านที่มีสินค้าครบทุกแคทิกอรี่แล้ว ยังมีการตกแต่งร้านที่รับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าปัจจุบัน โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความน่าสนใจ เช่น เซลฟีบาร์, ดิจิทัล ซีอาร์เอ็ม วอล ดิจิทัลสกรีนที่สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้า แนะนำผลิตภัณฑ์ และโปรโมชั่น, มาสเตอร์คลาสรูม สำหรับการสอนแต่งหน้าเทคนิคต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนารูปแบบร้านในปีนี้ก็จะเน้นการนำดิจิทัลเข้าไปในสโตร์ปกติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางนาตาลีระบุว่า ตลาดความงามของไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีการเติบโตสูงแม้ว่าเศรษฐกิจภาพรวมจะเติบโตหรือไม่ก็ตาม เพราะคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องการดูแลตัวเองมากขึ้น ต้องการดูดีอยู่ตลอดเพื่อแชร์รูปภาพของตัวเองลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และเปิดรับกับการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ ตามกระแสโลกออนไลน์ เป็นโอกาสให้แบรนด์ใหม่เดินหน้าเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งโลคอลและอินเตอร์แบรนด์ รวมถึงปัจจัยของประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุมีเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างมีกำลังซื้อ ทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดูแลผิว และผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

สำหรับเป้าหมายของลอรีอัลในปีนี้ ต้องการเติบโตมากกว่าตลาดเท่าตัว และเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในเซ็กเมนต์ต่าง ๆ มากขึ้น จากปัจจุบันที่กลุ่มสกินแคร์ ภายใต้แบรนด์การ์นิเย่ มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในตลาดแมส และกลุ่มเมกอัพ มีแบรนด์เมย์เบลลีนเป็นอันดับ 1 ในช่องทางโมเดิร์นเทรด เพื่อทำให้ภาพรวมของบริษัทเป็นแบรนด์ความงามอันดับ 1 โดยเร็วที่สุด จากปัจจุบันเป็นอันดับ 2 ในขณะที่ถ้าวัดจากผลประกอบการของบริษัทความงามทั่วโลกแล้ว ลอรีอัลถือเป็นเบอร์ 1 ด้วยยอดขายกว่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา รองลงมาคือยูนิลีเวอร์ ด้วยยอดขาย 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisment