“มาม่า” ควัก 2 พันล้าน ขึ้นโรงงานใหม่-เพิ่มดีกรีบุกต่างประเทศ

พันธ์ พะเนียงเวทย์
พันธ์ พะเนียงเวทย์

“มาม่า” ลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี ทุ่ม 2,000 ล้าน สร้างโรงงานใหม่-ขยายกำลังการผลิต เร่งเพิ่มสัดส่วนตลาดต่างประเทศ ประกาศกลับไปบุกจีนอีกรอบ เล็งลุยอินเดีย-แอฟริกา มั่นใจสิ้นปีกวาดรายได้ 25,000 ล้าน

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เปิดเผยว่า จากการผลิตมาม่าที่มีหลากหลายรสชาติและมีรูปแบบที่หลากหลาย และการขยายตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มในโรงงานหลายแห่ง โดยได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตมีแผนจะสร้างโรงงานใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการทำตลาดที่มากขึ้นในอนาคต

ล่าสุดจะสร้างโรงงานใหม่อีก 1 แห่ง ภายใต้งบฯ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องจักร 1,600 ล้านบาท และที่ดิน-การก่อสร้าง 400 ล้านบาท เป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี อาจจะอยู่ในพื้นที่แถบ EEC อาทิ ชลบุรี ระยอง หรืออาจจะเป็นพื้นที่แถบแม่น้ำโขง อาทิ มุกดาหาร หนองคาย ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 30% จากเดิมมีกำลังการผลิต 450,000 ซองต่อวัน เป็น 600,000 ซองต่อวัน

จากปัจจุบันที่มีโรงงานผลิต 8 แห่ง เป็นในประเทศ 4 แห่ง โดย 3 แห่ง เป็นโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ ได้แก่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 1 แห่ง ลำพูน 1 แห่ง ระยอง 1 แห่ง และโรงงานผลิตเส้นขาว ที่ราชบุรี 1 แห่ง และโรงงานผลิตในต่างประเทศอีก 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี

รุกตลาดต่างประเทศ

ส่วนในต่างประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการย้ายโรงงานจากย่างกุ้งไปที่โรงงานแห่งใหม่ที่มัณฑะเลย์ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต รวมทั้งมีแผนจะขยายตลาดเพิ่มขึ้นในยุโรปและอเมริกา รวมถึงตลาดใหม่ที่น่าจับตา ได้แก่ อินเดีย และแอฟริกา โดยในแอฟริกานั้นเป็นการไปร่วมมือกับผู้ผลิตบะหมี่ในเคนยา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และศึกษาตลาด ในระยะยาวอาจจะมีผลิตภัณฑ์มาม่าเข้าไปทำตลาด

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเข้าไปทำตลาดเชิงรุกในประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง และจะขยายช่องทางใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคจีนนิยมอาหารไทยมักจะซื้อเป็นของฝากมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกผลิตภัณฑ์มาม่าไปแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก

สำหรับกลยุทธ์สำคัญจากนี้ไปจะยังคงมุ่งต่อยอดสู่ Future Food โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และมีแผนจะสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้เห็นมาม่าในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น Mama Station หรือร้านอาหารมาม่าในห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะได้เห็นมากขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

สำหรับผลประกอบการคาดว่าปี 2566 นี้ จะมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 4% หรือมีรายได้ประมาณ 23,000-25,000 ล้านบาท และมีกำไร 3,500 ล้านบาท โดยในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตอยู่ที่ 5-7% ปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดแบ่งเป็นในประเทศ 70% ต่างประเทศ 30% ในอนาคตตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 40-50%