ญี่ปุ่นชอบกิน “มาม่า-ยำยำ” โอกาสทองส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทย

ยำยำ
คอลัมน์ : Market Move

แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของ โมโมฟุคุ อันโดะเมื่อปี 2501 ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลกมานานกว่า 60 ปี

แต่ในช่วงปี 2020-2023 นี้ชาวญี่ปุ่นกำลังติดใจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทยและเวียดนาม จนทำให้ตัวเลขมูลค่าการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศในเอเชียไปยังญี่ปุ่นเติบโตขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560

นิกเคอิ เอเชีย รายงานถึงเทรนด์นี้ว่า ความนิยมบะหมี่สำเร็จรูปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เริ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการห้ามเดินทางข้ามประเทศทำให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นไม่สามารถไปท่องเที่ยวและทานอาหารในประเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายยอดนิยม

ข้อจำกัดนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนหันมากินอาหารที่มีรสชาติท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ และสามารถปรุงเองที่บ้านได้ง่ายภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากไทยและเวียดนามให้หายคิดถึงแทน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศในภูมิภาคเอเชียคิดเป็นมูลค่าถึง 8.6 พันล้านเยน (ประมาณ 2.12 พันล้านบาท) ตัวเลขนี้สูงเป็น 3.1 เท่าของมูลค่านำเข้าในปี 2560

นอกจากตัวเลขการนำเข้าแล้ว ความนิยมนี้ยังสะท้อนชัดเจนในร้านค้าย่าน ชิน-โอคุโบะ ของกรุงโตเกียวซึ่งเป็นแหล่งรวมอาหารนำเข้าจากภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพื้นที่หน้าร้านสำหรับวางสินค้าเด่นขายดีนั้นเต็มไปด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าที่มีฉลากภาษาไทย เวียดนาม ฯลฯ หลากหลายรสชาติ

ทั้งนี้ แม้การนำเข้าส่วนใหญ่ถึง 80% จะยังเป็นแบรนด์เกาหลีใต้อย่าง นงชิม (Nongshim) รสเผ็ด แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการนำเข้าจากเวียดนามโตก้าวกระโดดกว่า 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2560 เป็น 500 ล้านเยน (ประมาณ 123 ล้านบาท) เช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้าจากไทยที่โตเท่าตัวเป็น 510 ล้านเยน (ประมาณ 126 ล้านบาท)

กระแสความนิยมนี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสาขาในต่างประเทศและผลิตสินค้าป้อนตลาดท้องถิ่นเริ่มส่งสินค้ากลับเข้ามายังประเทศญี่ปุ่นเพื่อรับดีมานด์ ตัวอย่างเช่น เอซคุก (Acecook) บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของเวียดนามด้วยส่วนแบ่งตลาด 40% หลังรุกเข้าไปปักฐานตั้งแต่ปี 2536

โดยเอซคุกเริ่มนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ Hao Hao ที่ผลิตและขายในเวียดนาม กลับเข้ามาขายในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2018 ด้วยเป้าในช่วงแรกที่จะรับดีมานด์ชาวเวียดนามในญี่ปุ่น แต่ปรากฏว่าชาวญี่ปุ่นเริ่มสนใจซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์นี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปี 2565 ยอดขาย Hao Hao ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวแล้ว

ตัวแทนของแบรนด์ Hao Hao ระบุว่า ตอนนี้ดีมานด์สินค้าอาหารสไตล์เอเชียแท้ ๆ กำลังมาแรงกว่าอาหารสไตล์เอเชียที่ปรับให้เข้ากับลิ้นของคนญี่ปุ่น ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้บริษัทจะเริ่มนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ Mi Lau รสไทยฮอตพอตมาเพิ่มด้วย

ด้านรายใหญ่อย่าง นิชชิน ฟู้ดส์ นั้น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัดสินใจนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำจากประเทศไทยเข้ามาเปิดตัวในญี่ปุ่น โดยวางขายแบบจำกัดจำนวน ซึ่งบริษัทระบุว่าได้ไอเดียมาจากสินค้าแบรนด์ไทยที่วางขายในร้านสินค้านำเข้าและร้านค้าออนไลน์ในญี่ปุ่น

เป็นไปในทิศทางเดียวกับอายิโนะโมะโต๊ะ ที่นำสินค้าจากพอร์ตโฟลิโอในไทย เช่น ยำยำรสต้มยำกุ้งเข้าไปวางขายในญี่ปุ่นแบบจำกัดเวลา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และกำลังพิจารณาแผนการนำมาวางขายในญี่ปุ่นแบบถาวร

ทั้งนี้ ช่วงการระบาดของโควิด-19 ดีมานด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลกประเมินว่า ปี 2565 มีจำนวนการบริโภคถึง 1.21 แสนล้านเสิร์ฟ เติบโต 2.6% จากปี 2564