“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ยอดพุ่งทั่วโลก เงินเฟ้อบีบคนหันพึ่งประทังชีวิต

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
คอลัมน์ Market Move

ดีมานด์บะหมี่สำเร็จรูปกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถิติการเติบโตต่อเนื่อง 7 ปี และปี 2565 ที่ผ่านมามีการบริโภคทั่วโลกรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านชามแล้ว หลังสภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อพุ่งสูงบีบให้ผู้บริโภคในหลายประเทศทั้งในเอเชียและสหรัฐต้องหันพึ่งอาหารราคาประหยัดนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

นิกเคอิ เอเชีย รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ประเมินจากยอดการส่งสินค้าใน 53 ประเทศทั่วโลก โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ดีมานด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกแตะ 1.21 แสนล้านชาม เติบโต 2.6% จากปี 2564 และเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 7

สำหรับตลาดที่มีดีมานด์สูงติดท็อป 5 นั้น นำโดยจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมฮ่องกง) ด้วยดีมานด์มากกว่า 4 หมื่นล้านชาม ตามด้วยอินโดนีเซีย, อินเดีย, เวียดนามและญี่ปุ่น ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 6 และไทยอยู่ในอันดับ 9 ขณะเดียวกันยังเกิดภาพการเติบโตสูงต่อเนื่องในเม็กซิโกซึ่งดีมานด์เพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลัก 2 ปีติดต่อกัน โดยปี 2565 เติบโต 11% หลังจากปี 2564 เติบโต 17.2%

การเติบโตนี้คาดว่าเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในหลายประเทศ บีบให้ผู้บริโภคต้องหันมาเลือกทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีราคาสบายกระเป๋ากว่าแทน

ส่วนการเติบโตในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งช่วงปี’63 การล็อกดาวน์และความไม่มั่นใจในสถานการณ์การระบาดทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น 9.5% ก่อนจะลดลงเป็นเติบโต 1.4% ในปี’64 ที่การระบาดเริ่มคลี่คลาย และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี’65 จากสภาพค่าครองชีพพุ่งสูง

ด้าน นิชชิน ฟู้ด หนึ่งในผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรายใหญ่ อธิบายถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนี้ว่า เงินเฟ้อทำให้ตอนนี้ แม้แต่ผู้บริโภคระดับชนชั้นกลางที่ปกติไม่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังต้องหันมาเพิ่มบะหมี่กึ่งฯเข้าไปในมื้ออาหารแล้ว

อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสการเติบโตนี้ยังมีบางตลาดที่ดีมานด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลดลงด้วยเช่นกัน อย่างตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งตลาดหดตัว 1.4% เมื่อปี 2564 ก่อนจะดีดกลับในปี 2565 ด้วยการเติบโต 3.4%

แม้ดีมานด์จะลดลงบ้าง แต่ในภาพรวมความนิยมและคุ้นเคยกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐอเมริกายังมีแนวโน้มที่ดี เมื่อคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมอาหารที่สหรัฐและเม็กซิโกไม่มีอาหารสไตล์เส้น-ซุปอย่างบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวมาก่อน ต่างกับฝั่งเอเชียซึ่งผู้บริโภคคุ้นเคยกับอาหารประเภทนี้อยู่แล้ว

โดยไม่ว่าจะนิชชิน ฟู้ด หรือโทโย ซุยซัน ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่อีกราย ต่างมีกำไรในปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้น ด้วยรายได้จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ทั้ง 2 บริษัทต่างประกาศแผนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐอเมริกาภายในปี 2568 เพื่อรองรับดีมานด์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

นอกจากแผนการรุกเข้าไปตั้งฐานการผลิตถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว โทโย ซุยซัน ยังย้ำว่า หลังจากนี้บริษัทจะเพิ่มความหลากหลายของรสชาติสินค้าให้มากยิ่งขึ้นอีก เพื่อรองรับฐานผู้บริโภคที่ขยายตัว

ทั้งนี้แม้การเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเกิดขึ้นเพราะค่าครองชีพพุ่งสูง แต่ตัวราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโต สะท้อนจากช่วง 2 ปีนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่ต่างขึ้นราคาที่ขายในญี่ปุ่นไปกันแล้ว 2 ครั้ง คือขึ้นราคา 10% เมื่อปี 2565 และปรับขึ้นอีกครั้งในระดับ 10% เมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นี้ หลังต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น

แต่การขึ้นราคา 10% สองครั้งต่อเนื่องในช่วง 2 ปีนี้กลับทำให้ยอดขายเชิงปริมาณลดลงเพียงเล็กน้อยในระดับไม่มีนัยสำคัญเท่านั้น

ขณะเดียวกันบรรดาผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังปรับกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตน ด้วยการใส่จุดแข็งด้านอื่น ๆ เข้าไป เช่น เพิ่มสารอาหาร และใช้วัตถุดิบที่คุณภาพดีขึ้นอีกด้วย