“ชิเซโด้-โคเซ่” บุกโรงแรม ต่อยอดท่องเที่ยว-สปริงบอร์ดบุก ตปท.

โรงแรม
ภาพจาก : unsplash
คอลัมน์ : Market Move

ชิเซโด้และโคเซ่ 2 แบรนด์ความงามสัญชาติญี่ปุ่น งัดกลยุทธ์รูปแบบใหม่ที่จะช่วยต่อยอดกระแสนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่กำลังหลั่งไหลเข้ามายังแดนปลาดิบในช่วงหลังโควิดนี้ มาเพิ่มโอกาสการรุกตลาดความงามในต่างประเทศ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าชิเซโด้และโคเซ่ ต่างเปิดตัวไลน์สินค้าและบริการใหม่ ซึ่งไม่ใช่สินค้าสำหรับวางขายในร้านสินค้าความงาม-เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง หรือบริการสำหรับผู้บริโภคทั่วไปในช่องทางค้าปลีก แต่กลับเป็นสินค้าและบริการที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการใช้ในโรงแรมโดยเฉพาะ

โดยโคเซ่เปิดตัวไลน์สินค้าใหม่ในชื่อ “เนเชอร์ แอนด์ โค” (Nature & Co) ที่ประกอบด้วยสินค้าทำความสะอาดร่างกายหลายชนิด อาทิ สบู่, แชมพู, คลีนซิ่งออยล์ และอื่น ๆ ที่พัฒนาและออกแบบมาสำหรับให้บรรดาธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโรงแรมราคาระดับกลางไปใช้เป็นชุดของใช้ในห้องพักของแขก โดยเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2567 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากโรงแรมราคาระดับกลางนั้นเป็นที่พักยอดนิยมของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นโอกาสที่จะนำสินค้าไปให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้งานและสร้างการรับรู้แบรนด์

นอกจากนี้ โคเซ่ยังเปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพิจารณาส่งสินค้าเนเชอร์ แอนด์ โคนี้ไปวางขายในร้านค้าปลอดภาษีในต่างประเทศเป็นเฟสต่อไปอีกด้วย

กลยุทธ์นี้สอดคล้องกับความเห็นของนักการตลาดหลายรายที่ระบุว่า ของใช้ในห้องพักโรงแรมนั้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดชั้นดีสำหรับแบรนด์ในการสร้างการรับรู้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้บริโภคทั่วโลกออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเอาคืนช่วงที่ต้องอยู่บ้านไปไหนไม่ได้ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19

เนื่องจากเป็นสิ่งที่แขกมักจะใช้ค่อนข้างแน่นอน รวมถึงอาจนำติดตัวกลับไปด้วย จึงเป็นโอกาสทดลองใช้สินค้าและสร้างความประทับใจ รวมถึงการจดจำแบรนด์ได้ โดยไม่ต้องพึ่งการแจกตัวทดลองในสถานที่ต่าง ๆ ที่อาจมีความยุ่งยากมากกว่า แต่โอกาสที่ผู้รับจะทดลองใช้นั้นกลับไม่มากนัก

ด้านชิเซโด้ มีความเคลื่อนไหวที่จะจับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นเดียวกัน แต่มาในรูปแบบการเปิดบริการใหม่ โดยเป็นบริการให้คำปรึกษาด้านความงามกับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมกับเริ่มให้บริการในภาษาจีนเป็นภาษาแรก

ในบริการนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านความงามที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้มาให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ อย่างการดูแลผิวและอื่น ๆ แบบตัวต่อตัวผ่านวิดีโอคอล พร้อมเสนอตัวเลือกสินค้าความงามที่หากผู้ใช้บริการต้องการซื้อสามารถรับสินค้าได้ที่ร้านปลอดภาษีภายในสนามบินก่อนเดินทางกลับประเทศ

ชิเซโด้ยืนยันว่า มีแผนขยายบริการให้คำปรึกษาตัวต่อตัวให้ครอบคลุมภาษาอื่นด้วยในอนาคต แต่ขณะนี้ผู้ใช้บริการที่พูดภาษาอื่น จะยังต้องใช้บริการนี้ผ่านระบบแชตด้วยตัวอักษรเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ชิเซโด้อธิบายถึงเหตุผลของบริการให้คำปรึกษาที่เน้นให้บริการกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นการเฉพาะนี้ว่า ช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น แม้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากมาซื้อสินค้าในร้านปลอดภาษีที่สนามบิน แต่หลายรายให้ฟีดแบ็กว่ายังไม่ค่อยพอใจกับคำแนะนำของพนักงาน

ความเคลื่อนไหวของ 2 แบรนด์ความงามนี้เกิดขึ้นหลังจากปี 2566 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยองค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานว่า นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาตั้งแต่เดือนมกราคมในระดับเกือบ 50% ของช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 โดยลำพังเดือนสิงหาคมเดือนเดียวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นมากถึง 2.16 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2565 ถึง 10 เท่า และตัวเลขนี้คิดเป็น 86% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคม 2562 หรือก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในญี่ปุ่นนั้น มีทั้งจากเอเชียและตะวันตก โดยตามข้อมูลเดือนสิงหาคมนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ส่วนนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและแคนาดาต่างเพิ่มขึ้นจนทะลุสถิติช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังไม่มากนัก โดยอยู่ที่เพียง 60% ของช่วงก่อนการระบาดเท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากความขัดแย้งกรณีการปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนแสดงความไม่เห็นด้วยมาอย่างต่อเนื่อง

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น แต่ทั้งชิเซโด้และโคเซ่ ยังเชื่อว่าในระยะยาวจำนวนนักท่องเที่ยวจากแดนมังกรจะเพิ่มขึ้นแน่นอน